ผู้ย้ายถิ่นฐานได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในช่วงการฟื้นฟูจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 และมีความสำคัญต่ออนาคตของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ความท้าทายของสหรัฐฯ คือ การบริหารจัดการผู้ย้ายถิ่นฐานที่เข้ามาประเทศในด้านต่างๆ

 

เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแรงและมั่นคงกว่าที่นักวิชาการหลายคนคาดการณ์ เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากผู้ย้ายถิ่นฐานที่เข้ามาในสหรัฐฯ การเปิดรับสมัครวีซ่าใหม่ในปี 2564 – 2565 ได้ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แรงงานต่างชาติเข้ามาเติมเต็มช่องว่างของตลาดแรงงานสหรัฐฯ หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากนี้ ผู้ย้ายถิ่นฐานได้เข้ามาทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระยะยาวที่มีสาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลง และการเกษียณอายุงานของแรงงานสูงอายุ

 

จำนวนคนเข้าเมืองสหรัฐฯ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ได้อยู่ในระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2560 และสัดส่วนของแรงงานต่างชาติอยู่ที่ร้อยละ 18.6 ของตลาดแรงงานทั้งหมดในสหรัฐฯ สำนักงานงบประมาณแห่งสภาคองเกรส (Congressional Budget Office) คาดการณ์ว่าใน 10 ปีข้างหน้าผู้ย้ายถิ่นฐานจะช่วยรักษาตลาดแรงงาน และความสมดุลของผู้หางานและอัตราการว่างงาน ซึ่งมีความสำคัญต่อการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ค่าจ้างและราคาสินค้า

 

ค วามไม่มั่นคงระหว่างประเทศ วิกฤติเศรษฐกิจ สงคราม และภัยธรรมชาติได้ทำให้มีผู้อพยพเดินทางเข้ามาในสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งช่วยปิดช่องว่างของความต้องการแรงงานของสหรัฐฯ และเพิ่มตัวเลือกให้แก่ผู้รับสมัครงาน อย่างไรก็ดี ปัจจัยต่างๆ ทำให้สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับความไม่สงบทางการเมือง อุปสรรคด้านการขนส่งสินค้า และการบริหารจัดการเกี่ยวกับผู้ย้ายถิ่นฐานที่เพิ่มมากขึ้น

 

การลงพื้นที่ในรัฐเท็กซัสของประธานาธิบดีไบเดนและอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้แข่งขันสมัครประธานาธิบดีได้แสดงให้เห็นความตึงเครียดทางการเมือง โดยนายไบเดนได้กล่าวถึงความพยายามในการแก้ไขความวุ่นวายของการข้ามพรมแดน ส่วนนายทรัมป์ได้ให้คำมั่นว่าจะไม่ให้มีการข้ามพรมแดนเหมือนกับการบริหารราชการของประธานาธิบดีไบเดน

 

ตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ 2565 มีผู้ลี้ภัยเข้ามาในสหรัฐฯ กว่า 116,000 คน พร้อมได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง และสิทธิในการทำงานในสหรัฐฯ ได้ทันที ซึ่งผู้ลี้ภัยกว่าแสนคนจากประเทศยูเครนและประเทศอัฟกานิสถานก็ได้รับสิทธิดังกล่าวเช่นเดียวกัน

 

อย่างไรก็ดี มีผู้อพยพมากกว่า 5.5 ล้านคนที่ถูกจับกุมในพื้นที่ชายแดนจากเขตพรมแดน สนามบิน และท่าเรือ และไม่ใช่ว่าผู้อพยพทุกคนจะได้อยู่ในสหรัฐฯ แต่ส่วนใหญ่จะได้รับเงินช่วยเหลือจำนวนเล็กน้อยจากรัฐบาล นอกจากนี้ ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยได้เผชิญกับความล่าช้าในการได้รับอนุญาตให้ทำงานในสหรัฐฯ ได้อย่างถูกกฎหมาย และนโยบายการส่งผู้อพยพโดยรถบัสไปยังเมืองต่างๆ ของผู้ว่าการรัฐทางใต้ก็ได้ทำให้เมืองนั้นๆ มีความยากลำบากในการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว

 

นาย Steve Snyder ซึ่งเป็นตัวแทนบริษัท Plumbers and Steamfitters Local 157 และประธานสภาเทศบาลเมือง Lafayette รัฐอินเดียนา กล่าวว่าสภาพแรงงานต้องการแรงงานใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน นาย Snyder จึงพร้อมที่จะต้อนรับผู้ย้ายถิ่นฐานเข้าสู่ชุมชน ถึงแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงสำหรับภาครัฐแต่มันเป็นสิ่งที่จำเป็นของชุมชน

 

ผู้ย้ายถิ่นฐานในสหรัฐฯ

 

นาย Anuj Gupta ผู้บริหารขององค์กรไม่แสวงหากำไร Welcoming Center ในเมืองฟิลาเดเฟียได้พยายามลดผลกระทบจากการลดลงของประชากรชาวอเมริกันโดยการดึงดูดผู้ย้ายถิ่นฐานให้เข้ามาในสหรัฐฯ มากขึ้น นาย Gupta ให้ความเห็นว่าผู้ย้ายถิ่นฐานจะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเมืองที่กำลังหดตัว การลดลงของประชากรเป็นปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2567 นี้และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และนายจ้างที่ต้องการแรงงาน

 

ฝ่ายบริหารของรัฐบาลไบเดนได้บริหารจัดการผู้อพยพให้เข้าสู่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยการขยายสถานะการคุ้มครองชั่วคราวให้กับชาวเวเนซุเอลาที่เข้ามาให้สหรัฐฯ ก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ซึ่งครอบคลุมถึงชาวเวเนซุเอลาถึง 472,000 คน นอกจากนี้ ยังมีการขยายระยะเวลาในการขอเข้ามาในสหรัฐฯ ชั่วคราว (Humanitarian Parole) สำหรับผู้อพยพที่มาจากประเทศที่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น เช่น ประเทศคิวบา ประเทศเฮติ ประเทศนิการากัว เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วการขอ Humanitarian Parole จะมีระยะเวลากำหนด 2 ปีและจะต้องมีผู้สนับสนุนทางการเงินในสหรัฐฯ ด้วย ผู้อพยพประเภทดังกล่าวมีสิทธิได้รับใบอนุญาตในการทำงานได้ทันที แต่จะต้องใช้เวลาในการดำเนินการ โดยกระบวนการขอลี้ภัยได้เปิดโอกาสให้ผู้ขอลี้ภัยสามารถทำงานอย่างถูกกฎหมายได้ แต่จะต้องรอการพิจารณาอย่างน้อย 6 เดือนหลังจากการยื่นขอลี้ภัย โดยในปี 2565 พบว่าระยะเวลาเฉลี่ยในการพิจารณาการขอลี้ภัยอยู่ที่ 9 เดือน

 

รัฐบาลระดับรัฐ และระดับท้องถิ่นในรัฐนิวยอร์กและรัฐอิลลินอยส์ได้เร่งมืออย่างเต็มที่ในการจัดการเรื่องเอกสารตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 โดยหน่วยงานต่างๆ ได้จัดการประมวลเอกสารจำนวนมากในการพิจารณาการลี้ภัยของผู้อพยพและจัดงานแฟร์สำหรับการหางานอีกด้วย โดยระยะเวลาพิจารณาใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้ลี้ภัยเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 1 เดือนส่งผลให้จำนวนการอนุมัติการทำงานสำหรับผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ หรือผู้ที่ได้รับการคุ้มครองชั่วคราวมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสัญชาติสหรัฐ (U.S. Citizenship and Immigration Services) พบว่าปี 2566 มีผู้ย้ายถิ่นฐานที่ได้กับการพิจารณาอนุญาตให้ทำงานจำนวน 1.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 423,000 คน ในปี 2565

 

ผู้ย้ายถิ่นฐานในสหรัฐฯ

 

ขั้นตอนในการกรอกเอกสารยังเป็นปัญหาสำคัญ จำนวนผู้เดินทางเข้ามาในสหรัฐฯ ยังคงมากกว่าจำนวนคำขออนุญาตทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ย้ายถิ่นฐานที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการกรอกคำขอโดยไม่มีผู้ช่วยด้านกฎหมาย และคำขออนุญาตทำงานมักต้องเสียค่าธรรมเนียมและต้องใช้ที่อยู่สำหรับการส่งเอกสารทางไปรษณีย์

 

องค์กรการกุศลคาทอลิกแห่งนิวยอร์กได้ช่วยเหลือผู้ย้ายถิ่นฐานกว่า 1,000 คนในกระบวนการเอกสารสำหรับการขออนุญาตทำงาน การฝึกฝนอาชีพให้แก่ผู้อพยพ เช่น ตำแหน่งงานพี่เลี้ยงเด็ก เป็นต้น และการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยที่จำเป็นสำหรับงานก่อสร้าง

 

นาย Edgar Alayón อายุ 32 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรการกุศลคาทอลิก เคยเป็นนักบัญชีในประเทศเวเนซุเอลาและโดนไล่ออกเนื่องจากไม่สนับสนุนรัฐบาล นาย Alayón จึงงได้เดินทางเข้ามาในสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 และรัฐเท็กซัสได้เสนอเที่ยวบินฟรีไปยังเมืองนิวยอร์ก ซึ่ง นาย Alayón ได้ยินว่าเมืองนิวยอร์กมีการสนับสนุนให้สถานที่พักพิง อย่างไรก็ดี นาย Alayón ได้ทำงานในงานก่อสร้าง แต่ทำงานได้เพียงไม่กี่วันต่อสัปดาห์ และใบอนุญาตทำงานจะมีอายุถึงเดือนพฤษภาคม 2568 นี้ นาย Alayón จึงมีเป้าหมายที่จะขอรับ Green Card ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกเนรเทศจากสหรัฐฯ และช่วยซื้อเวลาในการหางานเพื่อกลับไปทำอาชีพเดิม นาย Alayón มีความต้องการอย่างมากที่จะได้เป็นพลเมืองของนิวยอร์ก เนื่องจากสหรัฐฯ ให้โอกาสต่างๆ กับเขามากมาย

 

ผู้ย้ายถิ่นฐานในสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ดี เมืองนิวยอร์กไม่ใช่ที่ที่ดีที่สุดสำหรับการหางาน เนื่องจากอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 5.4 ซึ่งมากกว่าอัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยของประเทศอย่างมาก โดยปกติผู้ย้ายถิ่นฐานมักจะทำงานในธุรกิจโรงแรมและธุรกิจร้านอาหาร อย่างไรก็ดี ธุรกิจเหล่านี้ยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด-19 มากนัก จึงทำให้ผู้ย้ายถิ่นฐานต้องไปทำงานรับ-ส่งอาหารมากขึ้น เนื่องจากสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ง่าย อย่างไรก็ดี ธุรกิจรับ-ส่งอาหารก็มีการแข่งขันสูง

 

นโยบายเรื่องการขอใบอนุญาตทำงานได้สร้างความไม่พอใจแก่ผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารหลายล้านคน ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีแนวทางในการให้ทำงานอย่างถูกกฎหมายสำหรับกลุ่มคนดังกล่าว

 

นาย James Parrott ผู้อำนวยการด้านนโยบายเศรษฐกิจและการคลังของ The Center for New York City Affairs ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านนโยบายให้ความเห็นว่า ภาครัฐต้องไม่สร้างความแตกแยกให้กับผู้อพยพกลุ่มต่างๆ นอกจากนี้ ภาครัฐอาจอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้อพยพย้ายไปยังเมืองที่เล็กมากกว่าเมืองใหญ่ๆ ที่รัฐเท็กซัสได้ส่งผู้อพยพไป เนื่องจากเมืองขนาดเล็กมีที่อยู่อาศัยที่เพียงพอมากกว่า ถึงแม้ว่าผู้อพยพจะได้รับตั๋วโดยสารไปยังเมืองต่างๆ ฟรีแต่ก็ไม่แน่นอนว่าจะมีทรัพยากรหรือโอกาสใดรอกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ หรือแม้แต่ผู้ย้ายถิ่นฐานที่ได้งานที่มั่นคงก็ต้องเผชิญกับความล้าช้าในการพิจารณาอนุญาตให้ทำงาน เนื่องจากศาลขอลี้ภัยยังมีเอกสารที่รอการพิจารณาจำนวนมาก ทำให้ศาลต้องใช้เวลาหลายปีในการพิจารณา จึงส่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนแก่ผู้ยื่นคำขอเช่นเดียวกัน

 

นาย Yusuf Ali Sendil นักวิจัยด้านจิตเวชจากประเทศตุรกีได้ถูกไล่ออกเนื่องจากประเด็นทางการเมืองในปี 2560 นาย Sendil ได้รับทุนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดด้วยวีซ่าวิจัยและได้ยื่นขอลี้ภัยในเวลาต่อมา เนื่องจากการพิจารณาคำขอที่ใช้ระยะเวลานาน จึงทำให้ได้ทำงานในตำแหน่งแพทย์ประจำที่โรงพยาบาล Rutgers ล่าช้า และใบอนุญาตทำงานมีระยะเวลาเพียง 2 ปี นาย Sendil จึงได้ยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตแล้ว แม้ว่าใบอนุญาตแรกจะได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว แต่ใบอนุญาตทำงานสำหรับระยะเวลา 5 ปีบางประเภทใช้เวลาพิจารณาถึง 16 เดือน ซึ่งหมายความว่านาย Sendil จะต้องเผชิญกับช่องว่างในระหว่างการพิจารณาอนุญาตทำงาน ทำให้ไม่สามารถทำงานและอาจส่งผลต่อการให้บริการผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้การรักษา จนส่งผลต่อความมั่นคงของอาชีพได้

 

 

ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก

ผู้ย้ายถิ่นฐานได้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างมาก และบรรเทาปัญหาการขาดแรงงานจากการลดลงของประชากรในสหรัฐฯ และแรงงานสูงอายุที่เข้าสู่ช่วงเกษียณมากขึ้น อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของผู้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในสหรัฐฯ ได้ทำให้ภาระงบประมาณของรัฐบาลในการช่วยเหลือกลุ่มคนดังกล่าวสูงขึ้นและเกิดปัญหาความขาดแคลนของสถานที่พักพิง ซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจของเมืองที่มีผู้อพยพกระจุกตัวสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไทยจึงควรติดตามสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการดำเนินงานและแผนกลยุทธ์ธุรกิจให้ทันตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง

 

ข้อมูลอ้างอิง: New York Times

 

thThai