เนื่องจากปัญหา/สถานการณ์การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดงที่ยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคเอกชนต่างก็หันไปพึ่งพาการขนส่งสินค้าด้วยเครื่องบินมากขึ้น โดยโฆษกหญิงของ Lufthansa Cargo เปิดเผยว่า “ปัจจุบันปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเส้นทางระหว่างเอเชีย – ยุโรป นอกจากนี้ ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา Lufthansa ได้ให้บริการจัดส่งชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างมาก” ล่าสุดบริษัท Stellantis ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Opel ได้ตัดสินใจขนส่งชิ้นส่วนรถยนต์ทางอากาศเป็นการชั่วคราว ในขณะที่ บริษัท Volkswagen เองก็เริ่มจัดส่งชิ้นส่วนรถยนต์จำนวนมากทางอากาศเช่นกัน เพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานของบริษัทฯ ไม่ให้ขาดตอน ด้านอุตสาหกรรมเคมีก็พบว่า การขนส่งทางอากาศเป็นอีกหนึ่งวิธีในการแก้ปัญหาการขนส่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยโฆษกของบริษัท Evonik ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเคมีภัณฑ์พิเศษเปิดเผยว่า “บริษัทฯ กำลังพิจารณาที่จะใช้บริการการขนส่งทางอากาศเพื่อลดปัญหาการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานเช่นกัน” โดยจะพิจารณาเส้นทางบินเป็นรายกรณีไป สำหรับกลุ่มกบฏฮูตีที่มีที่มั่นในเยเมนได้ออกมาโจมตีเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่เดินทางผ่านทะเลแดงเป็นระยเวลาหลายสัปดาห์ติดต่อกัน ขณะนี้สหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้ออกมาประกาศตอบโต้และมุ่งเป้าที่จะโจมตีทางทหารในฐานที่มั่นของกบฏฮูตีคืน ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้บริษัทขนส่งอย่าง Hapag-Lloyd ระงับการเดินเรือผ่านช่องแคบบาบุลมันดับ (Bab al-Mandab) และคลองสุเอซในทันที ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญที่สุดของโลก แต่เรือต่าง ๆ กลับต้องหันหัวเรือไปผ่านทวีปแอฟริกาหรือแหลมกู๊ดโฮปแทน ซึ่งแน่นอนว่า การเดินทางในเส้นทางนี้จะต้องใช้เวลานานกว่ามากและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
จากรายงานรายสัปดาห์ของบริษัทผู้ให้บริการข้อมูล World ACD ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางอากาศได้แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2024 ปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางอากาศระหว่างเส้นทางจากเอเชียแปซิฟิกไปยังยุโรปเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปลายเดือนธันวาคม 2023 ซึ่งนี่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งสินค้า จากเดิมที่ใช้การขนส่งทางทะเลเป็นหลัก ไปใช้การขนส่งทางอากาศแทนในบางส่วน เพราะปัญหาวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเลแดง ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่าต้นทุนค่าขนส่งของบริษัทต่าง ๆ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจากข้อมูลจาก Freigthos ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการรับจองพื้นที่ในการขนส่งสินค้า ทำให้ทราบว่า กล่องขนาดกลางน้ำหนักไม่เกิน 2,000 ปอนด์ หรือ 907 กิโลกรัม เมื่อจัดส่งทางเรือจากจีนไปยังสหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 เหรียญสหรัฐฯ โดยประมาณ แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้การขนส่งทางอากาศแทน ที่น้ำหนักเดียวกันจะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ 8,000 เหรียญสหรัฐฯ แทน ซึ่งมากกว่าการขนส่งทางเรือถึง 5 เท่า อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้จะต้องนำมาพิจารณารวมเป็นต้นทุนในการผลิตด้วย ตัวอย่างเช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลของบริษัท Wakeo คาดว่า อาจมีการหยุดสายการผลิตขึ้นได้ เนื่องจากปัญหาการจัดส่งชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 20,000 ยูโร/นาที สิ่งนี้เองเป็นเหตุผลว่า ทำไมบางบริษัทจึงพร้อมที่จะใช้กลยุทธ์ในการขนส่งทางอากาศเพื่อป้องกันปัญหาการหยุดการผลิตนั้นเอง แต่ก็ยังมีข่าวดีสำหรับคนบริหารจัดการชิ้นส่วนในบริษัท เพราะในเวลานี้ราคาค่าขนส่งทางอากาศยังไม่เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นก็ตาม จากข้อมูลของ World ACD ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม 2024 ลูกค้าต้องชำระ 2.34 เหรียญสหรัฐฯ /1 กิโลกรัม ซึ่งน้อยกว่า ที่สายการบินเรียกเก็บในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2024 ที่เรียกเก็บที่ 2.37 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งราคาที่ลดลงในช่วงเปลี่ยนปีนี้ เป็นเรื่องปกติสำหรับการขนส่งทางอากาศเพราะการค้าขายในช่วงคริสต์มาสสิ้นสุดลง ซึ่งนี้ก็เป็นปัจจัยหลักอีกหนึ่งประการที่ทำให้วิกฤตการณ์ในทะเลแดงยังไม่ทำให้ราคาค่าขนส่งทางอากาศสูงขึ้น เนื่องจากในเวลานี้สายการบินต่าง ๆ ทั่วโลกยังมีความสามารถในการขนส่งมากกว่าที่จำเป็นอยู่ ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมประเมินว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ขนส่งสินค้าทางอากาศสูงกว่าที่ตลาดต้องการประมาณ 25% แม้ว่าจะมีการย้ายมาใช้บริการบรรทุกสินค้าทางอากาศแบบด่วนในบางเส้นทางก็มีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อราคาเท่านั้น เพราะมีพื้นที่เพียงพอและมีการการแข่งขันที่ดุเดือดนั่นเอง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา หากความขัดแย้งในทะเลแดงยังยืดเยื้อต่อไป นักวิเคราะห์จาก Bernstein Research คาดว่า ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าค่าระวางเรือน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก
เมื่อเรือขนส่งสินค้าจำเป็นต้องเลือกใช้เส้นทางผ่านแหลมกู๊ดโฮปซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานขึ้น จึงทำให้ค่าธรรมเนียมในการค่าขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้น 2 ถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2023 ซึ่งทำให้เสียเปรียบด้านการแข่งขัน ในเวลาเดียวกันความจุส่วนเกินในการขนส่งทางอากาศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (Iata – International Air Transport Association) คาดว่า ตลอดทั้งปีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น 5% โดยประมาณ นอกจากนี้หลังจากที่จีนกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง และการฟื้นตัวของการจราจรทางอากาศระหว่างประเทศน่าจะสามารถบรรทุกสินค้าด้วยเครื่องบินพาณิชย์เพิ่มมากขึ้นไปอีก ซึ่งในกรณีดังกล่าวน่าจะสร้างแรงกดดันให้ราคาค่าขนส่งสินค้าถูกลง ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วการขนส่งทางอากาศครึ่งหนึ่งเกิดจากการขนส่งสินค้าด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) และอีกครึ่งหนึ่งขนส่งผ่านเครื่องบินทางพาณิชย์ เมื่อดูแล้วเป็นไปได้ที่จะมีการเดินทางผ่านเครื่องบินพาณิชย์เพิ่มขึ้น นักวิเคราะห์ของ Iata ได้สันนิษฐานว่า ในปี 2024 ราคาค่าขนส่งทางอากาศมีแนวโน้มที่จะลดลง และอาจจะลดลงมากถึง 20% ด้านนาย Bruce Chan จากวาณิชธนกิจ Stifel คาดว่า ราคาค่าขนส่งทางอากาศน่าจะยังคงลดลงต่อไปเรื่อย ๆ แม้ว่าจะประเมิณน้อยกว่าของ Iata ก็ตาม ในเวลานี้มีพื้นที่ขนส่งเพียงพอในการขนส่งทางอากาศ จึงทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบลอจิสติกส์ของบริษัทต่าง ๆ สามารถตัดสินใจในแต่ละสัปดาห์ได้ว่า จะใช้บริการการขนส่งทางอากาศหรือไม่ กลุ่มโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ อย่างบริษัท Bolloré Logistics ซึ่งมีฐานสำคัญในฝรั่งเศส หรือบริษัท DHL ของเยอรมนีต่างก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ลูกค้าบางรายเองก็ตัดสินใจเปลี่ยนการขนส่งทางทะเลมาเป็นการขนส่งทางอากาศมากขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนขึ้น และในช่วงกลางเดือนมกราคม – ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2024 บริษัท Bolloré ได้ตัดสินใจเพิ่มความจุของการขนส่งทางอากาศของบริษัทฯ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทั้ง Bolloré และ DH ก็ยังไม่สามารถพูดได้ว่า แนวโน้มการใช้งานการขนส่งทางอากาศจะปรับตัวแบบยั่งยืนหรือไม่ ผู้จัดการฝ่ายขนส่งสินค้าทางอากาศกล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีความผันผวนมาก เพราะนอกจากความขัดแย้งในทะเลแดงแล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อความต้องการสินค้าจากจีนอีกด้วย ผู้เชี่ยวชาญของ Iata ชี้ให้เห็นว่า บริษัท Shein และ Temu ผู้ค้าปลีกออนไลน์ของจีนที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก็เริ่มจัดหาสินค้าให้กับลูกค้าทางตะวันตกโดยตรงมากขึ้น ซึ่งบ่อยครั้งใช้การขนส่งทางอากาศในการจัดส่งสินค้า นอกจากนี้ในช่วงเทศการตรุษจีนทุกอย่างในจีนจะหยุดชะงักไปถึง 15 วัน โดยประมาณ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการขนส่งทางอากาศก็ไม่น่าจะขยายตัวเทียบเท่ากับช่วงวิกฤติการณ์โควิด-19 ในเวลานั้นห่วงโซ่อุปทานในหลายอุตสาหกรรมเสียหายอย่างหนัก สิ่งนี้เองทำให้เกิดความต้องการการขนส่งทางอากาศสูงในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ระหว่างปี 2019 – 2022 ค่าขนส่งทางอากาศมีราคาสูงขึ้นเกือบ 100% เปอร์เซ็นต์ โดยวันนี้สถานการณ์แตกต่างกับในอดีต ล่าสุดบริษัท Tesla และ Volvo ประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวเนื่องจากปัญหาบริเวณทะเลแดง ผู้จัดการบริษัทรถยนต์ชาวเยอรมันกล่าวว่า ในปัจจุบันโรงงาน Tesla ในเยอรมนีได้ปรับตัวเข้ากับรอบการส่งมอบเรือที่ขยายออกไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ เริ่มมีการยังมีผลิตชิ้นส่วนจำนวนมากเพิ่มขึ้นใน EU เพื่ดลดความเสี่ยงจากผู้ผลิตในจีนอีกด้วย
จาก Handelsblatt 12 กุมภาพันธ์ 2567