The Association of American Feed Control Officials (AAFCO) องค์กรอิสระที่ทำงานศึกษาวิจัยวัตถุดิบที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตอาหารสำหรับมนุษย์และสัตว์ ชี้แนะและให้คำแนะนำภาครัฐบาลสหรัฐฯและนานาชาติในการจัดทำกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้ประกาศยินยอมให้ใช้โปรตีนที่ได้จากหนอนนกที่รีดไขมันออกแล้ว (defatted mealworm proteins) ในการผลิตอาหารสัตว์เพื่อการค้าได้แล้ว ภายหลังจากที่ได้ใช้เวลา 2 ปีศึกษาวิจัยและประเมินหนอนนก ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคม 2023 US Food and Drug Administration (USFDA) ได้แสดงความคิดเห็นไปในทางที่ดีในเรื่องที่เกี่ยวกับหนอนนกด้วยเช่นกัน ทำให้การประกาศของ AAFCO มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
บริษัทแรกที่จะใช้โปรตีนหนอนนกที่รีดไขมันออกแล้วในการผลิตอาหารสุนัขคือบริษัท Ynsect ของฝรั่งเศส ทำธุรกิจผลิตอาหารมูลค่าสูงสำหรับมนุษย์และสัตว์ภายใต้แบรนด์ spryng บริษัทฯได้ตั้งชื่อโปรตีนจากหนอนนกว่า “Protein70” ทั้งนี้ บริษัทฯ ใช้เวลาศึกษาทดลองส่วนผสมดังกล่าวนาน 6 เดือน ก่อนที่จะนำมาใช้เป็นเป็นส่วนผสมในอาหารสุนัขในระดับไม่เกินร้อยละ30 บริษัทฯระบุว่า นอกจากจะเป็นโปรตีนที่ให้คุณค่าอาหารแล้ว โปรตีนจากหนอนนกยังเป็นทางเลือกอื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้โปรตีนจากหนอนนกเปิดโอกาสให้บริษัทฯขยายตลาดในสหรัฐฯได้มากยิ่งขึ้น
The American Veterinary Medical Association (AVMA) ระบุว่า 4 ใน 10 หรือร้อยละ 48 ของครัวเรือนสหรัฐฯเลี้ยงสุนัข คิดเป็นจำนวนสุนัขในสหรัฐฯรวมทั้งสิ้นมากกว่า 65 ล้านตัว The American Pet Products Association (APPA) ระบุว่า ในปี 2022 ตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงสหรัฐฯมีมูลค่าประมาณ 136 พันล้านเหรียญฯ ในจำนวนนี้ 42 พันล้านเหรียญฯเป็นตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง และบริษัทวิจัยตลาด TechNavio รายงานว่า ตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงสหรัฐฯมีการเติบโตต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5 ต่อปี
ที่มา: FeedNavigator: “Ynsect eyes US pet nutrition market as it gets the nod to commercialize mealworm proteins in dog food”, By Jane Byrne, January 25, 0224
ข้อมูลเพิ่มเติม และข้อคิดเห็น สคต ลอสแอนเจลิส
ประเทศไทยเป็นแหล่งอุปทานนำเข้าอาหารสุนัขและอาหารแมวอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ มีมูลค่านำเข้าสหรัฐฯขยายตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2018 มูลค่านำเข้าในปี 2023 แสดงแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับมูลค่านำเข้าโดยรวมของสหรัฐฯที่ลดลง คาดว่าเป็นผลกระทบมาจากสภาวะเศรษฐกิจเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ข้อสังเกตคือ มูลค่านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกแสดงการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง คาดว่าเป็นผลมาจากนโยบายการแสวงหาอุปทานสินค้าของสหรัฐฯที่หันมาให้ความสำคัญกับแหล่งอุปทาน near shoring เพื่อใช้ผลประโยชน์จากสิทธิพิเศษด้านภาษีนำเข้าที่ได้รับจากการเป็นประเทศสมาชิกสนธิสัญญา USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement)