📰 ข่าวเด่นประจำเดือนธันวาคม 2566 โดย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest 

Cover Photo by Bastian Riccardi on Unsplash

 

รายงาน “Romanians New Media Adoption” ของเอเจนซี่ด้านการสื่อสารการตลาด และการตลาดดิจิทัล Spark Foundry ในเครือของเอเจนซี่โฆษณานานาชาติ Publicis Groupe ได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สื่อดิจิทัลจากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 810 คน ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ในประเทศโรมาเนีย  แบ่งตามช่วงอายุได้เป็นกลุ่มอายุช่วง Baby Boomers (อายุมากกว่า 55 ปี), Gen X (อายุระหว่าง 45-55 ปี), Gen Y/Millennial (อายุระหว่าง 25-44 ปี) และ Gen Z (อายุระหว่าง 18-24 ปี) ด้วยวิธีการ Computer-assisted Web Interview (การสัมภาษณ์โดยการส่งเว็บลิงค์ให้ผู้ตอบตอบผ่านลิงค์นั้นและส่งข้อมูลกลับมา) ระหว่างวันที่ 4-11 ตุลาคม 2566 พบว่า

 

  • ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเมืองใหญ่ 68%นิยมดูคอนเทนต์ประเภทรูปภาพและวิดีโอบนแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์ก
  • ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเมืองใหญ่ 87% มีสมาร์ททีวีในที่พักอย่างน้อยหนึ่งเครื่อง
  • แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมสูงสุดในโรมาเนีย ได้แก่ Facebook (91%) Instagram (59%) และ TikTok (47%) ตามลำดับ
  • เหตุผลหลักในการใช้โซเชียลมีเดียของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในโรมาเนีย คือเพื่อติดต่อสื่อสารกับเพื่อนและสมาชิกครอบครัว (61%) เพื่อผ่อนคลาย หาความบันเทิง (57%) และเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของแบรนด์สินค้า/บริการโปรด (28%) ตามลำดับ
  • กลุ่มอายุมากกว่า 45 ปี นิยมใช้โซเชียลมีเดียเพื่อฆ่าเวลา เข้ากลุ่มสังคมใหม่ ติดตาม Influencer และติดตามข่าวหรือประเด็นสังคมที่สนใจ
  • กลุ่มอายุระหว่าง 45-55 ปี นิยมใช้โซเชียลมีเดียเพื่อติดต่อสื่อสารกับเพื่อนและสมาชิกครอบครัวเป็นหลัก
  • กลุ่มอายุ 35-55 ปี ใช้ติดตามข่าวสารและกิจกรรมของแบรนด์สินค้า/บริการที่สนใจ
  • ส่วนกลุ่มอายุ 18-24 ปี ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อความบันเทิง ติดตามกระแสใหม่ๆ รวมทั้ง การแชร์รูปภาพหรือวิดีโอ

 

แพลตฟอร์มออนไลน์เริ่มมีแรงกระตุ้นการซื้อขายจากชาวโรมาเนีย
รูปภาพที่ 1: ความนิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ
ที่มาของข้อมูล: Publicis Group Romania

 

แพลตฟอร์มออนไลน์เริ่มมีแรงกระตุ้นการซื้อขายจากชาวโรมาเนีย

รูปภาพที่ 2: แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมสูงสุดในโรมาเนีย และแบ่งตามช่วงอายุ
ที่มาของข้อมูล: Publicis Group Romania


ประเภทเนื้อหา (Contents) ที่ชาวโรมาเนียให้ความสนใจ

เนื้อหาประเภท Instagram Story และ Podcast (รายการเสียงที่เผยแพร่ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์คล้ายการจัดรายการวิทยุ) กำลังเป็นที่นิยมในโรมาเนียมากขึ้น โดยกลุ่มคนที่มีอายุน้อยมีแนวโน้มจะเปิดรับ Dynamic and Interactive Content เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น Instagram Story ได้รับความนิยมเป็นพิเศษในหมู่คนอายุ 18-34 ปี เป็นต้น นอกจากนี้ วิดีโอหรืออินโฟกราฟิกแบบ 360 องศา ที่สามารถคลิก หมุนโทรศัพท์/แท็บเล็ท หรือลากหน้าจอเพื่อรับชมให้ครบทิศ สร้างประสบการณ์แบบ Immersive กำลังได้รับความสนใจจากทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์อายุน้อย 18-24 ปี และอายุ 45-55 ปี จากผลสำรวจดังกล่าว พบว่า ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปี จะใช้รูปแบบ Instagram Story มากเป็นพิเศษ และร่วมกิจกรรมสำรวจความคิดเห็นและตอบคำถามใน Instagram Story ของแบรนด์หรืออินฟลูเอนเซอร์คนโปรด

 

แพลตฟอร์มออนไลน์เริ่มมีแรงกระตุ้นการซื้อขายจากชาวโรมาเนีย

รูปภาพที่ 3: ประเภทคอนเทนต์ (Content) บนโซเชียลมีเดียที่ชาวโรมาเนียชื่นชอบ
ที่มาของข้อมูล: Publicis Group Romania

 

ในเดือนตุลาคม 2566 ผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคมีการรับรู้ถึงแบรนด์ (Brand Awareness) มากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566 ผ่านการทำแคมเปญบนแพลตฟอร์ม TikTok โดยแคมเปญที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นแคมเปญของแบรนด์สินค้าในหมวดความงามและแฟชั่น ดนตรี และไลฟ์สไตล์/ความบันเทิง

 

แพลตฟอร์มออนไลน์เริ่มมีแรงกระตุ้นการซื้อขายจากชาวโรมาเนีย

รูปภาพที่ 4: ความคิดเห็นของชาวโรมาเนียในการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในการช็อปปิ้งออนไลน์
ที่มาของข้อมูล: Publicis Group Romania

 

 

พฤติกรรมการใช้แพลตฟอร์มสำหรับไลฟ์สตรีมของชาวโรมาเนีย

ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในโรมาเนียส่วนใหญ่ กล่าวว่าจุดเด่นของแพลตฟอร์มเสียง เช่น Spotify, SoundCloud หรือ Apple Music เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ที่ไม่เหมือนกับรับชมภาพเคลื่อนไหว แม้ว่าจะคล้ายกับการฟังวิทยุในสมัยก่อน แต่ก็มีเทคโนโลยีที่ทำให้น่าสนใจมากกว่าเดิม สำหรับแพลตฟอร์มยอดนิยมในการไลฟ์สตรีมของชาวโรมาเนีย ได้แก่ YouTube, Facebook, TikTok และ Instagram ส่วนการใช้ Zoom, Twitch และหน้าเว็บเพจของผู้จัดงานโดยตรงในการไลฟ์สตรีม ได้รับความนิยมน้อยลง

 

การเล่นเกมและการใช้สมาร์ททีวีของชาวโรมาเนีย

การเล่นเกมบนโซเชียลมีเดียกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะวิดีโอเกมที่เปิดให้เล่นฟรี แม้ว่าอาจจะต้องซื้อบริการเสริมเพิ่มบางส่วน ผู้บริโภคก็ยังชื่นชอบมากขึ้น โดยเฉพาะการเล่นเกมใน smartphone กลุ่มอายุที่นิยมเล่นเกมมากที่สุด คือคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 18 ถึง 24 ปี โดยนิยมเล่นเกมออนไลน์กับเพื่อน และสมัครบริการเล่นเกมแบบเหมาจ่ายรายเดือน (Game subscription) ซึ่งกำลังเป็นโมเดลของการให้บริการวิดีโอเกมในรูปแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก อาทิเช่น XBOX LIVE และ PlayStation
Plus เป็นต้น โดยปัจจุบัน ผู้บริโภคโดยเฉพาะวัยรุ่นเล่นเกมตามกระแสนิยมในสังคม โดยเฉพาะการเลือกเล่นตามอินฟลูเอนเซอร์ที่ตนเองชื่นชมแนะนำ

 

สำหรับการเลือกใช้สำหรับดูทีวี พบว่า 87% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวโรมาเนียในเขตเมือง มีสมาร์ททีวีอยู่ที่บ้าน โดยในจำนวนนี้ 34% ใช้สมาร์ททีวีไว้ดูโทรทัศน์ออนไลน์โดยเฉพาะ โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเมือง 41% รับชมเฉพาะภาพยนตร์และรายการทีวีออนไลน์บนสมาร์ททีวีผ่านบริการแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่ง เช่น Netflix, HBO และ Voyo เป็นต้น ในขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตราว 18% รับชมเฉพาะรายการออนไลน์แบบไม่ต้องสมัครสมาชิก อาทิ YouTube เป็นต้น

 

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวโรมาเนียในเมืองราว 54% สมัครสมาชิกแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งอย่างน้อยหนึ่งช่องทาง โดย Netflix เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุด รองลงมาคือ HBO Max และ Disney+ ส่วน SkyShowTime และ Voyo ได้รับความนิยมลดลง

 

โดยสรุปแล้ว ผู้บริโภคชาวโรมาเนียใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการค้นหาข้อมูล การติดต่อสื่อสาร และความผ่อนคลาย โดยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสำคัญที่ชาวโรมาเนียนิยมใช้ ได้แก่ Facebook, Instagram และ TikTok Facebook ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 25 ปี ในขณะที่ Instagram และ TikTok ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี เนื้อหาที่ได้รับความนิยมบนโซเชียลมีเดีย ได้แก่ รูปภาพและวิดีโอ ส่วนประเภทคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมบน TikTok คือ คอนเทนต์เกี่ยวกับแบรนด์แฟชั่นและความงาม

 

💭 ข้อคิดเห็นของ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ 💭 

ข้อมูลล่าสุดประจำเดือนธันวาคม 2566 อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของโรมาเนียอยู่ที่ 89.2% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป 27 ประเทศซึ่งอยู่ที่ 91.5% แสดงให้เห็นว่าโรมาเนียมีระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ได้รับการพัฒนามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ชาวโรมาเนียส่วนมากชอบการมีส่วนร่วมกับชุมชน (Engagement) บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยนิยมใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูล ติดต่อกับเพื่อนและสมาชิกครอบครัว โดยในระยะหลังๆ มานี้ การสร้างชุมชนออนไลน์สำหรับผู้ที่สนใจในประเด็นเดียวกัน เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล แนะนำสินค้าใหม่ๆ หรือมีการทำกิจกรรมนอกบ้านร่วมกัน เป็นที่นิยมมากขึ้น ดังนั้น การสร้างการรับรู้ข้อมูลใหม่ๆ ในโรมาเนีย โดยเฉพาะการใช้วิธีการทางโซเชียลมีเดียเป็นการเพิ่มช่องทางการสื่อสารแบบ Interactive และทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ เกิดเป็นชุมชนออนไลน์ที่ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเรื่องทั่วไป หรืออาจเป็นช่องทางสำหรับการเริ่มต้นติดต่อประสานงานสร้างเครือข่าย/ช่องทางการค้าอย่างต่อเนื่อง และหากมีการพูดคุยนำเสนอสินค้าของแต่ละฝ่ายที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันได้ก็อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับการขยายตลาดการค้าจากออนไลน์สู่ออฟไลน์

 

ด้านแพลตฟอร์มที่ชาวโรมาเนียทุกช่วงอายุยังคงนิยมใช้มากอยู่ คือ Facebook ซึ่งมีช่องทางให้ผู้ใช้สามารถนำไปใช้ต่อได้ เช่น การใช้ประโยชน์จากฟังก์ชันการแท็ก และฟีเจอร์ Local Targeting ในการโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ สำหรับการใช้งาน TikTok มักอยู่ในกลุ่มผู้บริโภคอายุน้อย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดที่สร้างสรรค์สอดคล้องกับความสนใจของผู้บริโภควัยรุ่น

 

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญในปัจจุบันที่มีผลต่อการสนใจสินค้าหรือบริการต่างๆ ก็คือ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencers) ซึ่งการสื่อสารของ Influencers มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคตั้งแต่วัยกลางคนลงมาจนถึงวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม Influencers ส่วนใหญ่ที่เป็นที่ชื่นชอบของคนจำนวนมาก มักคิดค่าบริการค่อนข้างสูงต่อการประชาสัมพันธ์ต่อหนึ่งครั้ง ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยต้องการเข้าสู่การค้าในตลาดโรมาเนีย หรือประเทศอื่นๆ ในเขตอาณาของ สคต. ทางสำนักงานฯ แนะนำให้พิจารณาเลือก Influencers ที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ราคาเหมาะสมกับงบประมาณ และมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมสินค้าไทยอย่างแท้จริง

 

ที่มาของข้อมูล

 

มอนเตเนโกรระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรจาก 43 ประเทศทั่วโลก 🐷 เนื่องจากโรค ASF ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกเนื้อสุกรจากไทย

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
ธันวาคม 2566

 

thThai