ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ ILSTC (New International Land and Sea Trade Corridor)

          โครงการ “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ ” หรือ ILSTC (New International Land and Sea Trade Corridor) เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ระดับชาติในการพัฒนาความเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งของจีน โดยได้รับการบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ค.ศ. 2021-2025) เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกับข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมทางภาคเหนือ เส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 ทางตอนใต้ รวมถึงเส้นทางเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี และสามารถเชื่อมต่อกับไทยและอาเซียนทางเรือผ่านท่าเรือชินโจว

          โครงการ ILSTC เน้นให้บริการขนส่งสินค้าที่มีโมเดลการขนส่งรูปแบบ “ทางเรือ + ทางราง” เป็นหลัก กล่าวคือ เมื่อสินค้าถูกจัดส่งถึงกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ชินโจว ฝ่างเฉิงก่าง เป๋ยไห่) เขตฯ กว่างซีจ้วงแล้ว จากนั้นจะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งเป็นทางราง เพื่อกระจายสินค้าไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะหัวเมืองเศรษฐกิจในจีนตะวันตก เช่น นครฉงชิ่ง นครเฉิงตู และสามารถเชื่อมโยงโครงข่าย China-Europe Railway เพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป

          การพัฒนาโครงการ ILSTC ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งจากไทยไปจีน เป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ในการขนส่งสินค้าไทยไปยังจีน หรือไปยุโรปผ่านจีน โดยมีรายละเอียดดังนี้

รูปแบบทางเรือ รูปแบบทางราง
ต้นทาง ปลายทาง ระยะเวลา ต้นทาง ปลายทาง ระยะเวลา
ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือชินโจว 6 วัน ท่าเรือชินโจว นครฉงชิ่ง 2 วัน
ท่าเรือกรุงเทพฯ ท่าเรือชินโจว 5 วัน

          เมื่อสินค้าถูกจัดส่งถึงกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ เขตฯ กว่างซีจ้วงแล้ว จะแยกกระจายสู่เส้นทาง 3 สายหลักไปยังตลาดจีนตะวันตก ดังนี้

  • จากกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ผ่านนครหนานหนิง เขตฯกว่างซีจ้วง และนครกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว ไปจนถึงนครฉงชิ่ง
  • จากกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ผ่านเมืองหลิวโจว เขตฯกว่างซีจ้วง และเมืองหวยหัว มณฑลหูหนาน ไปจนถึงนครฉงชิ่ง
  • จากกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ผ่านเมืองไป่เซ่อ เขตฯกว่างซีจ้วง และเมืองหลูโจว มณฑลเสฉวน ไปจนถึงนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน

          การขนส่งสินค้า “เรือ+ราง” มีเส้นทางการขนส่งครอบคลุมมณฑลในภาคกลางและภาคตะวันตกของจีน โดยมี Hub สำคัญ 4 เมืองหลัก ได้แก่  1) นครฉงชิ่ง (ศูนย์กลางดำเนินโครงการ ILSTC)  2) เขตฯ กว่างซีจ้วง (กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้) 3) นครเฉิงตู (ศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์สำคัญของจีน) และ 4) มณฑลไหหลำ (ท่าเรือศูนย์กลางตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างประเทศ) โดยสามารถกระจายสินค้าต่อไปยังพื้นที่ตอนในอื่นๆของจีน ครอบคลุมมณฑลกานซู่ มณฑลชิงไห่ มณฑลส่านซี เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน และเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

          จากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2566 โครงการ ILSTC มีการเชื่อมต่อเส้นทางรางไปยังสถานีรถไฟจำนวน 138 แห่ง ใน 69 เมือง ใน 18 มณฑล /นคร /เขตปกครองตนเองของจีน และเชื่อมต่อเส้นทางเรืิอไปยังท่าเรือในประเทศต่างๆ จำนวน 473 แห่งใน 120 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ จำนวนขบวนรถไฟที่ขนส่งสินค้าแบบ “เรือ+ราง” เพิ่มขึ้นจาก 178 ขบวนในปี 2560 เป็น 8,820 ขบวนในปี 2565 ประเภทสินค้าสำคัญที่ขนส่งผ่านช่องทางดังกล่าว ได้แก่ เหล็ก ปุ๋ย เครื่องจักร ไม้แปรรูป ธัญพืช ยา และสินค้าเกษตร เป็นต้น

          รัฐบาลนครฉงชิ่งตั้งเป้าหมายการดำเนินงานของโครงการ ILSTC ภายในปี 2570  ภายใต้ “แผนปฏิบัติเร่งการก่อสร้างโครงการ New International Land and Sea Trade Corridor ระยะเวลา 5 ปีของนครฉงชิ่ง (พ.ศ. 2566-2570)” โดยมีสรุปสาระสำคัญ ได้แก่ ขยายสามารถในการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง ILSTC เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ร้อยละ 20 และลดระยะเวลาดำเนินการด้านโลจิสติกส์ร้อยละ 30 รวมทั้งตั้งเป้าหมายให้เกิดสัดส่วนของมูลค่าการค้าระหว่างนครฉงชิ่งกับกลุ่มประเทศอาเซียน โดยผ่านเส้นทาง ILSTC มีเสถียรภาพมากกว่าร้อยละ 70

ข้อมูลเพิ่มเติม/ผลกระทบ/ความเห็นของ สคต. 

          การขนส่งรูปแบบ “เรือ + ราง” ภายใต้โครงการ  ILSTC ได้รับการพัฒนาให้มีความรวดเร็ว ประหยัดเวลา ลดต้นทุน และสามารถกระจายสินค้าไปยังหัวเมืองสำคัญต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงกับโครงข่าย China-Europe Railway เพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรปได้อีกด้วย  ดังนั้น จึงเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเลือกใช้บริการขนส่งสินค้าเพื่อเข้าสู่ตลาดจีน และสร้างโอกาสในการขยายตลาดสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดต่างประเทศต่อไป

————————————————–

 

แหล่งข้อมูล :

https://wap.cq.gov.cn

https://baike.baidu.com

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1779370116333276107&wfr=spider&for=pc

แปลและเรียบเรียงโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

thThai