ประชุม COMCEC ที่อิสตันบูล ไทยถกทวิภาคีกับรัฐมนตรีตุรกี มุ่งผลักดันการค้ากับตุรกีเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 4-5 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ตุรกีได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารด้านเศรษฐกิจและการค้าขององค์การความร่วมมืออิสลาม (Standing Committee for Economic and Commercial Cooperation of the Organization of the Islamic Cooperation หรือ COMCEC) ครั้งที่ 39 ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการค้าของกลุ่มประเทศสมาชิก OIC ที่สำคัญที่สุดซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในการประชุมครั้งนี้ นอกจากผู้แทนจากกลุ่มประเทศสมาชิก OIC แล้ว ยังมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากประเทศนอก OIC อีก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย รัสเซีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา แอฟริกากลาง และไซปรัสเหนือ ที่เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งผู้แทนจากองค์การ OIC เอง และองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ เข้าร่วมการประชุมด้วยเช่นกัน

 

ในการประชุมดังกล่าว ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐตุรกี (H.E. Mr. Recep Tayyip Erdoğan) ได้เป็นประธานกล่าวเปิดงานโดยแสดงความยินดีในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี ของการก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี พร้อมทั้งกล่าวว่าการสนับสนุนของประเทศสมาชิก COMCEC ทั้งหลายมีความสำคัญอย่างมาก และเน้นถึงความสำคัญของ

ศูนย์อนุญาโตตุลาการของ OIC ซึ่งจะมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองอิสตันบูล เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขข้อพิพาท การลงทุนและเชิงพาณิชย์ และโปรแกรม COMCEC SME ซึ่งจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของ SMEs ที่ดำเนินงานในประเทศสมาชิกของ OIC “เราได้กำหนดให้การพัฒนาอีคอมเมิร์สเป็นประเด็นหลักของพูดคุยหารือในการประชุมระดับรัฐมนตรีในปีนี้ อีคอมเมิร์สและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล การส่งเสริมนวัตกรรมและให้โอกาสทางเศรษฐกิจ นี่เป็นโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัญหาอาหารฮาลาลถือเป็นประเด็นสำคัญมากที่เราจำเป็นต้องกระชับความร่วมมือของเราให้เข้มข้นขึ้น รวมทั้งเรื่องสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาความร่วมมืออิสลาม เราได้มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก”

 

นอกจากนี้ นาย Erdoğan  ยังได้เรียกร้องให้กลุ่มประเทศมุสลิมให้การสนับสนุนชาวกาซาและชาวปาเลสไตน์ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอิสราเอล ตลอดจนประณามการตอบโต้ของอิสราเอลที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ และแสดงความผิดหวังต่อกลไกรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ และเรียกร้องให้ชาติมุสลิมแสดงความเป็นปึกแผ่นของประชาชาติมุสลิม (Islamic Ummah) และร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นผ่านกลไกต่างๆ ของ OIC อาทิ สถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาสำหรับประเทศอิสลาม (SMIIC) ศูนย์อนุญาโตตุลาการของ OIC (OIC-AC) ธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม (IsDB) ศูนย์อิสลามเพื่อการพัฒนาการค้า (ICDT) และระบบสิทธิพิเศษทางการค้าของ OIC (TPS-OIC)

 

โดยที่การประชุมครั้งนี้มีความตั้งใจที่จะแบ่งปันประสบการณ์และหารือเกี่ยวกับโอกาสความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก OIC จึงได้มีการกำหนดหัวข้อของการประชุมให้เป็น “การปรับปรุงขีดความสามารถด้านอีคอมเมิร์ซของประเทศสมาชิก OIC” ซึ่งบรรดารัฐมนตรีได้แบ่งปันประสบการณ์ของประเทศของตนในด้านอีคอมเมิร์ซ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก เมื่อพูดถึงเรื่องระบบสิทธิพิเศษการค้าระหว่างประเทศสมาชิก OIC ซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญที่สุดของ COMCEC โดยมีเป้าหมายเพื่อหวังเพิ่มการค้าระหว่างประเทศอิสลาม ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในวาระมานานหลายปีและเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ในที่ประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับปัญหาที่พบในการนำระบบไปใช้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมเสริมในชื่อ “COMCEC Project Support Programs: Member Country Experiences” และเสวนาในหัวข้อ “Global Recognition of Halal Certificates” เพื่อสร้างระบบสากลที่เชื่อถือได้ในบริบทของการยอมรับร่วมกันของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฮาลาล

 

ต่อมาในการประชุมในวันที่ 5 ธันวาคม 2566 นั้น ได้มีการเสวนาที่เน้นเรื่อง “การหาทางระงับข้อพิพาทระดับโลก” โดยเชิญผู้แทนจากภาคเอกชนเข้าร่วมการเสวนาด้วย ซึ่งเลขาธิการศูนย์อนุญาโตตุลาการของ OIC หรือ OIC-AC นาย Macid Mamduh Kamel ได้กล่าวว่า OIC จะตั้งศูนย์กลางการระงับข้อพิพาทหรือ Alternative Dispute Resolution (ADR) ระหว่างประเทศที่เป็นอิสระและเป็นกลางโดยจะมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองอิสตันบูล และจะเป็นศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งแรกในตุรกีที่ได้รับการรับรองทางกฎหมายจากข้อตกลงระหว่างประเทศ พร้อมทั้งได้กล่าวเสริมว่า เมืองอิสตันบูลมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์อย่างมาก เป็นทั้งสะพานเชื่อมฝั่งตะวันออกและตะวันตกซึ่งก็เปรียบเหมือนศูนย์กลางทางเศรษฐกิจโดยปริยายอยู่แล้ว และด้วยการแก้ไขกฎหมายเรื่ององค์การระหว่างประเทศของรัฐบาลตุรกีนั้น ทำให้อิสตันบูลมีความเหมาะสมอย่างมากที่จะเป็นที่ตั้งของสำนักงาน ADR “การมีอยู่ของศูนย์อนุญาโตตุลาการ OIC จะช่วยเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้กับตุรกี ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในยุโรป”

 

ในพิธีปิดประชุม COMCEC ครั้งที่ 39 นั้น นาย Cevdet Yilmaz รองประธานาธิบดีตุรกี ได้กล่าวสรุปการประชุมและผลการหารือด้านต่างๆ โดยได้แสดงความยินดีที่ได้สังเกตเห็นว่ามีการประชุมทวิภาคี (Bilateral) มากกว่า 45 ครั้ง ที่จัดขึ้นระหว่างประเทศและองค์กรต่างๆ คู่ขนานในระหว่างการประชุม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือต่อไป ทั้งนี้ นอกเหนือจากประเด็นด้านเศรษฐกิจการค้าแล้ว นาย Yılmaz ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ของโลกอิสลามที่ยังทำให้พวกเขาลำบากใจอีกด้วย “เราขอเชิญสมาชิกของเราและมวลมนุษยชาติทั้งหมดให้ช่วยกันหยุดยิ้งการโจมตีอย่างไร้มนุษยธรรม เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคและโลก หากปราศจากการเกิดขึ้นของปาเลสไตน์ที่เป็นอิสระซึ่งมีเมืองหลวงเป็นกรุงเยรูซาเล็ม” โดยเน้นย้ำว่า ในฐานะตุรกี พวกเขาจะยังคงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการแพทย์ต่อไปอย่างต่อเนื่อง และพวกเขาจะทำงานอย่างเต็มกำลังในทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการหยุดยิง จากนั้นจึงสร้างวิธีแก้ปัญหาทางการเมืองที่รุนแรง หลังจากนั้นจึงได้แสดงความขอบคุณต่อคณะผู้แทนประเทศสมาชิก สำนักเลขาธิการ OIC สถาบัน OIC และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ สำหรับการมีส่วนร่วมในการประชุมครั้งนี้

 

ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ

 

Organization of the Islamic Cooperation หรือ OIC เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศมุสลิมทั่วโลกรวม 57 ประเทศ ประกอบด้วย Afghanistan, Albania, Azerbaijan, Bahrain, Bangladesh, Benin, the United Arab Emirates (UAE), Brunei Darussalam, Burkina Faso, Algeria, Djibouti, Chad, Indonesia, Morocco, Cote d’Ivoire, Palestine, Gabon, Gambia, Guinea, Guinea Bissau, Guyana, Iraq, Iran, Cameroon, Qatar, Kazakhstan, Kyrgyzstan, the Comoros, Kuwait, Libya, Lebanon, Maldives, Malaysia, Mali, Egypt, Mauritania, Mozambique, Niger, Nigeria, Uzbekistan, Pakistan, Senegal, Sierra Leone, Somali, Sudan, Surinam, Syria, Saudi Arabia, Tajikistan, Togo, Tunisia, Türkiye, Turkmenistan, Uganda, Oman, Jordan, และ Yemen ถือเป็นการรวมกลุ่มประเทศที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่ง มีความร่วมมือกันในหลายด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยตุรกีซึ่งเป็นสมาชิกก่อตั้งได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม COMCEC อย่างต่อเนื่องมาจนถึงในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 39 อย่างไรก็ตาม ตามปกติแล้วความร่วมมือกันในกลุ่ม OIC นั้นเป็นไปในรูปแบบความร่วมมือกันอย่างหลวมๆ ไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมายใดๆ แต่เน้นในเรื่องของการเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ในกลุ่มสมาชิกเพื่อพัฒนาไปสู่กลไกอื่นที่เป็นรูปธรรมกว่าต่อไป

 


ในการประชุม COMCEC ในครั้งนี้ มีผู้แทนจากประเทศไทยโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายภัณฑิล จงจิตรตระกูล) เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมในฐานผู้สังเกตการณ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงท่าทีของไทยที่เป็นมิตรและให้ความสำคัญต่อกลุ่มประเทศ OIC มาโดยตลอดแล้ว ยังได้มีโอกาสได้หารือแบบทวิภาคีร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าของตุรกี (Mr. Mustafa Tuzcu) เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และติดตามความคืบหน้าเรื่องการเสิรมสร้างร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยและตุรกีเพิ่มเติมด้วย โดยฝ่ายไทยได้แสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นเวทีที่จะหารือถึงแนวทางขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า และผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-ตุรกี ตลอดจนแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน

 

นอกจากนี้ ทั้งนี้ สองฝ่ายยังเห็นพ้องจะขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านฮาลาล เนื่องจากไทยมีระบบตรวจสอบรับรองสินค้าฮาลาลที่มีประสิทธิภาพ และมีสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาลที่มีคุณภาพมาตรฐานสูง จึงมีศักยภาพเติบโตในตลาดตุรกี สำหรับกลุ่มประเทศ OIC ซึ่งประกอบด้วย สมาชิก 57 ประเทศทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกาใต้ เอเชียกลาง เอเชียใต้ และอาเซียน ซึ่งนับเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพของไทย เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีความต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภคสูง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาล จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังกลุ่มประเทศ OIC มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค. 2566) การค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ OIC มีมูลค่า 76,388 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยส่งออกไปกลุ่ม OIC มูลค่า 30,557 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากกลุ่ม OIC มูลค่า 45,831 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ข้าว และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และถ่านหิน เป็นต้น

 

ที่มา: https://www.aa.com.tr/tr/gundem/isedakin-39-bakanlar-toplantisi-basladi/3072617

thThai