สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี มีพื้นที่เป็นทะเลทรายอันแห้งแล้ง ทำให้การทำเกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก แต่ด้วยทั้งวิสัยทัศน์และเงินทุน จึงเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ล่าสุดเมืองดูไบกลายเป็นเป็นที่ตั้งของ “ฟาร์มแนวตั้ง” ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก
Food Tech Valley ซึ่งเป็นศูนย์เทคโนโลยีอาหารของดูไบ ได้บรรลุข้อตกลงกับ ReFarm Group Corporation ในการสร้างฟาร์มขนาดยักษ์ “GigaFarm” ที่สามารถปลูกผลผลิตได้มากกว่า 3 ล้านกิโลกรัมต่อปี ทั้งสองบริษัทกล่าวในแถลงการณ์ร่วมเมื่อต้นเดือนธันวาคมว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนยูเออีในการลดคาร์บอนในการผลิตอาหาร แทนที่การนําเข้าสินค้าเกษตรสด 1% ของประเทศได้ ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งลงนามในการประชุมสุดยอด Cop28 ที่จะก่อสร้างฟาร์มขนาด 83,612 ตารางเมตรนี้ โดยจะเริ่มในกลางปี 2567 คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้เต็มรูปแบบภายในปี 2569
Dr Thani Al Zeyoudi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศยูเออี (Minister of State for Foreign Trade) กล่าวว่า “ฟาร์มที่ใช้นวัตกรรมใหม่นี้จะสามารถ นำเศษวัสดุของเหลือกินเหลือใช้มาแปรรูปใหม่ (Recycle) เพื่อ นำกลับมาใช้งานอีกครั้ง เป็นการจัดการวัสดุเหลือใช้ที่กำลังจะเป็นขยะ โดยนำไปผ่านกระบวนการแปรสภาพ คาดว่าจะ Recycle ขยะอาหารได้มากกว่า 50,000 ตัน และปลูกพืชได้ 2 พันล้านต้น ในแต่ละปี และการตัดสินใจของบริษัท ReFarmTM ที่จะเปิดตัวโรงงานใน Food Tech Valley ของดูไบ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมที่มีคาร์บอนต่ำซึ่งมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นับได้ว่าพันธกิจของบริษัทฯ ในการทำให้การเกษตรเป็นอิสระ พึ่งพาตนเองและยั่งยืนนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลยูเออีในการใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการด้านอาหาร”
ทั้งนี้ Food Tech Valley ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของรัฐบาลยูเออี ภายใต้วิสัยทัศน์ของ Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoum รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และเจ้าผู้ครองรัฐดูไบ โดยมีบริษัท Wasl ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในดูไบเป็นผู้ดำเนินการ ได้ออกแบบมาเพื่อจัดการกับความมั่นคงทางอาหารในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และทั่วโลก ที่เปิดตัวในดูไบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมแนวดิ่งและเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูงอื่นๆ พันธกิจของศูนย์ฯ แห่งนี้มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการผลิตอาหารของประเทศเป็นสามเท่า ทำให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ประกอบด้วย 4 คลัสเตอร์สำคัญ ได้แก่ (1) กลุ่มเทคโนโลยีการเกษตรและวิศวกรรม จะมีฟาร์มแนวตั้งที่จะใช้เทคโนโลยีอาหารล่าสุดในการปลูกพืชที่สำคัญตลอดทั้งปี (2) ศูนย์กลางในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีธุรกิจเกษตรไว้ที่จุดเดียว จะช่วยยกระดับความสามารถผู้ประกอบการในการแข่งขันทางธุรกิจ (3) ศูนย์ด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ระดับโลก เพื่อฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร และสนับสนุนสถานประกอบการด้านอาหาร (4) ศูนย์กลางโลจิสติกส์อัจฉริยะ จะมีระบบจัดเก็บอาหารที่ให้บริการจัดเก็บแบบอัตโนมัติ ควบคุมด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บอาหาร และใช้เทคโนโลยี Big Data
ReFarmTM ก่อตั้งขึ้นในยูเออี โดยบริษัท SSK Enterprise และบริษัท Christof Global Impact (CGI) กลุ่มบริษัทที่เน้นโครงการที่มีระบบหมุนเวียนและเทคโนโลยีสะอาด ผ่านแพลตฟอร์ม Intelligent Growth Solutions (IGS) ที่มอบโซลูชันการทำเกษตรแนวตั้ง ด้วยการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการทำเกษตร โดยใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการเพิ่มขึ้นของประชากร ที่ทำให้ภาคการเกษตรต้องเร่งหาวิธีใหม่ๆ มาปรับใช้และพัฒนาเพื่อรองรับปัญหาในระยะยาว ที่อาจส่งผลต่อทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภคผลิตผลทางการเกษตรทั่วโลก ภายใต้โครงการนี้คาดว่าจะสามารถปลูกพืชได้มากกว่า 250 สายพันธุ์ อีกทั้งได้ประสานงานกับธนาคารชั้นนำ เพื่อจัดให้มีการสนับสนุนจาก UK Export Finance ภายใต้การดูแลของกรมธุรกิจและการค้าของรัฐบาลอังกฤษ นับได้ว่าเป็นครั้งแรกในระดับโลก ที่จะมีการนำเทคโนโลยีเสริมหกอย่างมาใช้ร่วมกันใน Dubai Food Tech Valley ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเปลี่ยนขยะเป็นมูลค่าหมุนเวียนแบบวงปิด โดยจะสร้างระบบนิเวศในตัวที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทรัพยากรให้สูงสุด และลดของเสียที่ต้องนำไปฝังกลบ
เทคโนโลยีที่ใช้ในไซต์งานคาดว่าจะสามารถดึงแอมโมเนียซัลเฟต จากน้ำเสียได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์เพื่อใช้เป็นปุ๋ยพืช และจะผลิตโพลีเมอร์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพแบบอินทรีย์ซึ่งออกแบบมาเพื่อค่อยๆ ปล่อยน้ำและสารอาหารไปยังพืชผลในพื้นที่แห้งแล้ง โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อท่อหลักหรือน้ำใต้ดินในการปลูกผักผลไม้สด เนื่องจากน้ำจะถูกนำกลับมาเป็นผลพลอยได้จากเทคโนโลยีขยะอินทรีย์ และป้อนเข้าสู่ฟาร์มแนวตั้ง ซึ่งประหยัดน้ำได้มากกว่าการปลูกในไร่ถึง 98 เปอร์เซ็นต์
นาย Oliver Christof ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริษัท Christof Global Impact (CGI) แสดงความคิดเห็นว่า “ความสำเร็จในช่วง 36 เดือนที่ผ่านมาในยูเออีเป็นสิ่งที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารที่ยั่งยืน แนวคิดที่เปิดกว้าง ของผู้นำยูเออีและการให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ”
ความเห็นของ สคต. ดูไบ
ความสามารถใช้พื้นที่แนวตั้ง และลดความต้องการใช้ที่ดินในการเพาะปลูก มีส่วนทำให้การทำฟาร์มแนวตั้งในเมืองใหญ่น่าดึงดูดต่อการลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกันความต้องการทำฟาร์มแนวตั้งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากความนิยมของอาหารออร์แกนิก เนื่องจากผักเกษตรอินทรีย์ หรือผักออร์แกนิก เป็นผักที่ได้จากการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ หมายถึงระบบการผลิตพืชที่ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิดในทุกขั้นตอนการปลูก ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช กำจัดวัชพืช รวมถึงฮอร์โมนสังเคราะห์ ซึ่งสอดรับกับแนวทางของฟาร์มแนวตั้ง
หากไทยและยูเออีสามารถร่วมมือกันในด้านการพัฒนาการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารได้ ก็จะทำให้ทั้งสองประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการยกระดับด้านคุณภาพและปริมาณการผลิต ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรไทยให้ก้าวไปสู่การทำการเกษตรแบบยั่งยืน