เนื้อหาสาระข่าว: ช่วงเทศกาลวันคริสมาสต์ และวันเทศกาลสำคัญอื่น ๆ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving) ลากยาวจนถึงช่วงปีใหม่ หรือที่รวมแล้วเรียกว่า เทศกาลวันหยุดฤดูหนาว (Winter’s Holidays Season) ในปีนี้นั้นดูเหมือนจะมีความน่าสนใจมากเป็นพิเศษสำหรับบรรดาห้างร้าน และธุรกิจเกี่ยวกับของขวัญ เนื่องจากผลการสำรวจโดยบริษัท Gallup ที่ได้ทำการสำรวจภาพรวมจำนวนเงินที่ชาวอเมริกันคาดว่าจะใช้จ่ายไปกับการซื้อของขวัญในช่วงเทศกาลดังกล่าวในปีนี้ ซึ่งนับได้ว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 975 เหรียญสหรัฐฯ/คน นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปีที่แล้ว 108 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 12% เลยทีเดียว โดยถือว่าเป็นข้อมูลจากการสำรวจที่น่าสนใจ เนื่องจากมีความตรงกันข้ามกับความคิดเห็นของชาวอเมริกันที่มีต่อสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามจากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่าลักษณะการใช้จ่ายที่สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจนั้นเพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี

ข้อมูลในข้างต้นสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังและความสนใจของผู้บริโภคที่มีต่อโปรโมชัน หรือข้อเสนอขายพิเศษในช่วงเทศกาลสิ้นปี ในการเลือกซื้อสินค้าประเภทของขวัญ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากธนาคารกลางซานฟรานซิสโก (San Francisco Federal Reserve) ว่าปัจจุบันนี้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะออมเงินมากขึ้น จนเข้าสู่ภาวะเงินออมส่วนเกิน (Excess Saving) ในระบบเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่าจริงๆ แล้วกลุ่มผู้บริโภคมีกำลังซื้อที่มากพอสมควรเลยทีเดียว แต่ด้วยปัจจัยสภาพเศรษฐกิจจึงทำให้ความมั่นใจในการใช้จ่ายเงินนั้นไม่คล่องตัว หรือกล่าวได้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่มีสภาพคล่องในการใช้จ่าย แต่จะซื้อของขวัญมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับโปรโมชันลดแลกแจกแถมจากบรรดาห้างร้านทั้งหลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลปลายปี

จากการสำรวจสถิติในเชิงประชากรศาสตร์ พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ผู้บริโภคเพศหญิงมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงกว่าผู้บริโภคเพศชาย โดยปีนี้ผู้บริโภคเพศหญิงมีค่าเฉลี่ยจำนวนเงินที่คาดว่าจะใช้จ่ายอยู่ที่ 878 เหรียญสหรัฐฯ โดยเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 137 เหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ผู้บริโภคเพศชายมีค่าเฉลี่ยจำนวนเงินที่คาดว่าจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียง 43 เหรียญสหรัฐฯในปีนี้
  • กลุ่มผู้บริโภควัยกลางคน (อายุ 35 – 54 ปี) ยังคงเป็นกลุ่มที่มีค่าเฉลี่ยจำนวนเงินที่คาดว่าจะใช้จ่ายสูงที่สุดในทุกช่วงวัย อยู่ที่ 1,111 เหรียญสหรัฐฯ ตามมาด้วยกลุ่มวัยรุ่น (อายุ 18 – 34 ปี) ซึ่งอยู่ที่ 962 เหรียญสหรัฐฯ

คาดการณ์การจับจ่ายใช้สอยในช่วงคริสต์มาสในปีนี้เติบโตสูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา

(แผนภาพที่ 1 : แสดงจำนวนเงินที่คาดว่าจะใช้จ่ายเพื่อซื้อของขวัญในช่วงเทศกาลคริสมาสต์ปีนี้ตามระดับราบได้ของครอบครัว เปรียบเทียบระหว่างปี 2022 – 2023)

  • กลุ่มครอบครัวที่มีรายได้ปานกลาง (รายได้อยู่ที่ 40,000 – 99,999 เหรียญสหรัฐต่อปี) มีค่าเฉลี่ยจำนวนเงิน ที่คาดว่าจะใช้จ่ายอยู่ที่ 947 เหรียญสหรัฐฯ โดยสูงขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 230 เหรียญสหรัฐฯ
  • ขณะที่กลุ่มครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ (รายได้ต่ำกว่า 40,000 เหรียญสหรัฐต่อปี) มีค่าเฉลี่ยจำนวนเงิน ที่คาดว่าจะใช้จ่ายอยู่ที่ 429 เหรียญสหรัฐฯ โดยลดลงจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 477 เหรียญสหรัฐฯ
  • ในภาพรวมนั้น ครอบครัวที่มีลูกอายุต่ำกว่า 18 ปี มีค่าเฉลี่ยจำนวนเงินที่คาดว่าจะใช้จ่ายสูงกว่าครอบครัวที่ไม่มีลูก โดยครอบครัวที่มีลูกอยู่ที่ 1,306 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ครอบครัวที่ไม่มีลูกอยู่ที่ 835 เหรียญสหรัฐฯ

คาดการณ์การจับจ่ายใช้สอยในช่วงคริสต์มาสในปีนี้เติบโตสูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา

(แผนภาพที่ 2 : แสดงสัดส่วนร้อยละของจำนวนผู้บริโภคที่คาดว่าจะใช้จ่ายเพื่อซื้อของขวัญในช่วงเทศกาลคริสมาสต์ปีนี้)

  • ผู้บริโภคส่วนใหญ่ (กว่า 58%) คาดว่าจะใช้จ่ายอย่างน้อย 500 เหรียญสหรัฐฯ กับการซื้อของขวัญ โดยผู้บริโภคกว่า 37% จากจำนวนนี้คาดว่าจะใช้จ่ายอย่างน้อย 1,000 เหรียญสหรัฐฯ
  • ผู้บริโภค 26% คาดว่าจะใช้จ่าย 100 – 499 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่อีก 4% จะใช้จ่ายไม่ถึง 100 เหรียญสหรัฐฯ

จากข้อมูลการสำรวจเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้ม และพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าการขายสินค้าประเภทของขวัญในปีนี้อาจเพิ่มสูงขึ้น 6 – 9% จากปีที่ผ่านมา

บทวิเคราะห์ และข้อเสนอแนะ: สินค้าประเภทของขวัญ ซึ่งแม้จะไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นประเภทสินค้าที่มีความจำเป็น แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับช่วงเวลาเทศกาลสิ้นปี หรือเทศกาลฤดูหนาว เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่สำคัญของปี ซึ่งนอกจากจะอัดแน่นไปด้วยวันสำคัญของชาวคริสต์ ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ แล้ว ก็ยังถือเป็นช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ไปพร้อม ๆ กัน จึงเป็นโอกาสที่จะมีการมอบของขวัญให้แก่กันตามวัฒนธรรมที่มีมาช้านานของชาวอเมริกัน

ผลการสำรวจความคิดเห็น หรือเสียงสะท้อนการประมาณการค่าใช้จ่ายไปกับของขวัญในช่วงเทศกาลที่สำคัญนั้นย่อมแสดงให้เห็นถึงความเต็มใจที่จะเลือกซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่อาจมีความสำคัญ มีความหมาย มีคุณค่าทางสังคม หรือต่อจิตใจ ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ศักยภาพและกำลังซื้อในภาพรวมของช่วงเทศกาลได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญมากไปกว่านั้น ย่อมเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเชื่อมั่น หรือความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยของชาวอเมริกันซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม

คาดการณ์การจับจ่ายใช้สอยในช่วงคริสต์มาสในปีนี้เติบโตสูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา

(แผนภาพที่ 3 : แสดงข้อมูลย้อนหลังค่าเฉลี่ยจำนวนเงินที่คาดว่าจะใช้จ่ายเพื่อซื้อของขวัญในช่วงเทศกาลคริสมาสต์ย้อนหลัง 10 ปี จาก 2013 – 2023)

หากพิจารณาข้อมูลจากในแผนภาพ จะพบว่าจำนวนเงินที่ชาวอเมริกันวางแผนจะใช้จ่ายไปกับการซื้อของขวัญช่วงเทศกาล ข้อมูลย้อนหลังในแต่ละปีนั้นมีความไม่สม่ำเสมออยู่พอสมควร กล่าวคือ ในแต่ละปีมีจำนวนที่ตั้งใจจะใช้จ่ายมากน้อยแตกต่างกันพอสมควร แม้ว่าในข้อมูลการสำรวจจะไม่แสดงเหตุผลที่ชัดเจนเอาไว้ในแต่ละปี แต่ก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่าคงหนีไม่พ้นปัจจัยทางศรษฐกิจและสังคมในแต่ละปี ที่มีผลต่อการวางแผนการใช้เงินของประชาชนในภาพรวม

อย่างไรก็ตามสำหรับในปีนี้ที่ทำให้กลายเป็นที่จับตาอย่างน่าตื่นเต้นนั้น เป็นเพราะว่าปีนี้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่จำนวนเงินที่ผู้บริโภควางแผนจะใช้จ่ายในช่วงเทศกาลไปกับสินค้าประเภทของขวัญ กลับมาพุ่งทะยานสูงขึ้นอีกครั้ง โดยพุ่งสูงกว่าปีที่แล้วถึง 12.45% ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่เป็นเครื่องยืนยันได้อีกทางหนึ่งว่ากำลังซื้อสินค้าประเภทของขวัญนั้นยังคงเติบโตขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

คาดการณ์การจับจ่ายใช้สอยในช่วงคริสต์มาสในปีนี้เติบโตสูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา

(แผนภาพที่ 4 : แสดงปริมาณเงินสะพัดจากการใช้จ่ายเพื่อซื้อของขวัญในช่วงเทศกาลคริสมาสต์ย้อนหลัง 10 ปี จาก 2013 – 2023)

ข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่น่าจะช่วยยืนยันความร้อนแรงของการใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาล  คริสมาสต์ และปลายปีที่จะถึงนี้ก็คือข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ของปริมาณเงินสะพัดจากการใช้จ่ายสินค้าประเภทของขวัญในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลในแผนภาพจะพบว่า ปริมาณการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละปีที่ผ่านมานั้นไม่เคยน้อยลงเลย มีแต่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างจากข้อมูลก่อนหน้านี้ซึ่งแต่ละปีมีขึ้นมีลงสลับผลัดเปลี่ยนกันไป

หากมองอีกมุมหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่าภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าในช่วงเทศกาล ขณะที่ผู้ค้าจะต้องใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ เพื่อดึงความสนใจของผู้บริโภคให้หันมาสนใจในสินค้าที่เสนอขายมากกว่าสินค้าอื่นๆ ที่มีให้เลือกอย่างมากมายในท้องตลาด ซึ่งเทศกาลปีใหม่ไม่ได้เป็นเทศกาลที่เจาะจงในสินค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าที่มีการตลาดที่โดนใจผู้บริโภคและเป็นสินค้าที่มีจุดขายเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคที่จะเลือกซื้อเพื่อส่งต่อความพอใจในตัวสินค้าให้กับผู้รับ ดังนั้น กลยุทธ์ทางการตลาดในการนำเสนอสินค้าให้เป็นที่สนใจของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการทำโปรโมชั่นลดราคา การเพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้าโดยการให้โอกาสเลือกซื้อสินค้าในราคาพิเศษ การเพิ่มยอดขายโดยการเพิ่มเปอร์เซ็นต์ส่วนลดจากมูลค่าการซื้อ หรือสินค้าที่มีความโดดเด่นในนวัตกรรมและความต่างที่ไม่เคยมีในตลาดมานำเสนอครั้งแรกในช่วงเทศกาล หรือเป็นสินค้าที่สร้างเรื่องราวให้สอดคลองกับช่วงเทศกาลคริสมาสและปีใหม่เพื่อสร้างแรงจูงใจที่จะเลือกซื้อ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามสำหรับปีนี้ สืบเนื่องจากการที่ค่าเฉลี่ยของจำนวนเงินที่คาดว่าจะใช้จ่ายสำหรับการซื้อของขวัญในช่วงเทศกาลปลายปีนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ก็ทำให้ปีนี้มีการคาดการณ์ว่าปริมาณเงินสะพัดจะเพิ่มสูงขึ้นตามไป โดยจะอยู่ที่ 6 – 9% จากปีที่ผ่านมา หรือ 992 – 1,020 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ กันเลยทีเดียว

เชื่อว่าข้อมูลแนวโน้มและศักยภาพของกำลังซื้อสินค้าประเภทของขวัญในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการไทยที่ประกอบธุรกิจผลิตหรือจัดจำหน่ายสินค้าประเภทของขวัญ ซึ่งค่อนข้างมีความหลากหลายทั้งในรูปแบบและประเภท ซึ่งอาจถือโอกาสนี้เพิ่มการผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมที่โดดเด่นเพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าที่เป็นที่ต้องการในช่วงเทศกาลสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากแนวโน้มของกำลังซื้อ และความต้องการซื้อในปีนี้ ส่งผลไปในทางที่เป็นบวกสูงกว่าปีที่ผ่านมาและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป

ที่มา: Gallup
เรื่อง: “Consumers Increase Their Holiday Spending Intentions Mid-Season”
โดย: Lydia Saad
สคต. ไมอามี / วันที่ 7 ธันวาคม 2566

thThai