เงินเฟ้อแคนาดาลดลงที่ระดับร้อยละ 3.1 แต่ค่าครองชีพยังสูงอยู่ (สคต.โทรอนโต)

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์  ระหว่างวันที่ 20-24 พฤศจิกายน 2566

เงินเฟ้อแคนาดาลดลงที่ระดับร้อยละ 3.1 แต่ค่าครองชีพยังสูงอยู่

รัฐบาลแคนาดาประกาศตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.1 ลดลงจาก 3.8 จากเดือนก่อน เป็นไปตามความคาดหมายของนักวิเคราะห์ หน่วยงานสถิติแห่งชาติแคนาดา (Statistics Canada) รายงานว่าสาเหตุหลักที่อัตราเงินเฟ้อปรับลงในเดือนที่ผ่านมาเป็นผลมาจากราคาน้ำมันโลกปรับลดลง โดยราคาน้ำมันลดลงถึงร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2566 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนตุลาคม 2565 ลดลงถึงร้อยละ 7.8 ทั้งนี้ หากหักการคำนวณอัตราเงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาน้ำมัน เงินเฟ้อล่าสุดในเดือนตุลาคม 2566 จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.6 ลดลงเพียงร้อยละ 0.1 จากร้อยละ 3.7 ในเดือนกันยายน 2566

เงินเฟ้อแคนาดาลดลงที่ระดับร้อยละ 3.1 แต่ค่าครองชีพยังสูงอยู่ (สคต.โทรอนโต)

ราคาอาหาร (Grocery Price) ในเดือนล่าสุดยังคงปรับขึ้นที่ระดับร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว  แต่ลดลงจากระดับร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2566 อัตราเงินเฟ้อราคาอาหารได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่ายังคงเป็นระดับที่สูงอยู่ดี ทุกวันนี้ ชาวแคนาดาส่วนใหญ่ต้องจับจ่ายสินค้าอาหารในแต่ละครั้งเพิ่มขึ้นขั้นต่ำร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับราคาที่เคยจ่ายไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งการขึ้นของราคาอาหารในวัฏจักรเงินเฟ้อครั้งนี้ นับว่าสูงสุดในรอบ 40 ปี

ค่าใช้จ่ายที่พัก (Shelter Cost) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น 2 เท่าของอัตราเงินเฟ้อในภาพรวม ค่าเช่าบ้านในเดือนตุลาคม 2566 มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 จากร้อยละ 7.3 ในเดือนกันยายน 2566 สาเหตุที่ทำให้ค่าเช่าเพิ่มขึ้นมาจากต้นทุนการกู้ยืมเพื่อซื้อบ้าน (Mortgage Cost) ที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 ในปีที่ผ่านมา ค่าภาษีโรงเรือน (Property Tax) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ในปีที่ผ่านมา (เพิ่มจากร้อยละ 3.6) ซึ่งภาษีโรงเรือนที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2535

หากมีการคำนวณเงินเฟ้อที่หักค่ากู้ยืมออกไปแล้ว เงินเฟ้อในแคนาดาจะชะลออยู่ที่ระดับร้อยละ 2.2 และหากไม่รวมการคำนวณอัตราเงินเฟ้อค่าที่พัก (Shelter Cost) เงินเฟ้อจะอยู่เพียงแค่ระดับ 1.9 ซึ่งหมายถึงราคาสินค้าและบริการในภาพรวมแทบจะไม่มีการขยับราคาเพิ่มขึ้นเลย หรืออาจมองได้ว่าเป็นสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในแคนาดา

นักวิเคราะห์จาก RSM Canada มีมุมมองว่าชาวแคนาดาส่วนใหญ่ในทุกวันนี้มีภาระค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัย (Shelter Cost) ในสัดส่วนที่สูงของรายได้ในแต่ละเดือน ทำให้มีรายได้ที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายลดลง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดน่าจะสะท้อนความเปราะบางของสภาพเศรษฐกิจ ที่ธนาคารกลางแคนาดาแทบจะไม่มีความจำเป็นในการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกต่อไปในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า เนื่องจากหากเจาะลึกถึงอัตราเงินเฟ้อล่าสุดจะพบว่าเศรษฐกิจแคนาดามีสัญญาณเริ่มอ่อนตัวอย่างชัดเจน แต่ยังไม่ยืนยันว่าแคนาดาเข้าสู่ภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจ

 

ความเห็นของ สคต.         

ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของแคนาดามีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งไปเป็นตามที่ธนาคารกลางแคนาดาคาดหมาย โดยอัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 3.1 ลดลงจาก 3.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ชาวแคนาดาส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงจะสะท้อนกับความเป็นจริงของค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาอาหาร (Grocery Price) ยังคงปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ค่าที่พัก (Shelter Cost) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ซึ่งหมวดสินค้าอาหารและที่อยู่อาศัยเป็นสินค้าขั้นพื้นฐาน ในขณะที่ราคาสินค้าอื่นๆ อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า รองเท้า รวมถึงค่าขนส่งได้มีการปรับลดลงสะท้อนถึงความอ่อนแอของอุปสงค์ในตลาดในปัจจุบัน ที่รายได้ส่วนใหญ่ของชาวแคนาดาในแต่ละเดือนต้องจับจ่ายไปกับค่าครองชีพ ด้านราคาอาหารและค่าที่พักเพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการสินค้าในหมวดอื่นๆ ลดลง ผู้ประกอบการไทยอาจปรับรูปแบบสินค้าที่เน้นพัฒนาความคุ้มค่า (Value) ของสินค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบของห้างค้าปลีกในลักษณะ Discount Store ที่เป็นที่นิยมในยามเศรษฐกิจชะลอตัวในปัจจุบัน

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

——————————————————————-

thThai