ภายหลังจากที่สหภาพยุโรป (EU) ได้ลงนามในความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับนิวซีแลนด์ไปเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา EU ก็ตั้งเป้าที่จะให้ FTA ฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของ FTA ฉบับอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งในช่วง 6 เดือนก่อนหน้าที่จะมีการลงนามนั้น คณะกรรมาธิการ EU ได้หารือกับชิลีเพื่อร่วมหาทางออกในการลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันลงและตอนนั้นเจ้าหน้าที่ของ EU ก็พากันหวังว่า EU จะเริ่มทยอยลงนามใน FTA ต่าง ๆ ตามมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งกับสหรัฐอเมริกา, กลุ่มประเทศ MERCOSUR (กลุ่ม Mercosur หมายถึง กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้ มีประเทศสมาชิกรวม 4 ประเทศ คือ บราซิล อาร์เจนติน่า อุรุกวัย และปารากวัย และขณะนี้ มีสมาชิกสมทบ คือ ชิลี เปรู และโคลัมเบีย) หรือแม้แต่ออสเตรเลียก็ตาม แต่แล้วความหวังก็จบลง เพราะจนแล้วจนรอด ณ ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าว่า EU จะลงนาม FTA กับประเทศใดเลย
สำหรับสมาชิกภาพ EU ที่กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเจรจา FTA ไม่คืบหน้า คงหนีไม่พ้นฝรั่งเศส เนื่องจาก (1) ฝรั่งเศสต้องการจะรักษาผลประโยชน์ให้กับกลุ่มเกษตรกรของประเทศตนเองมากจนเกินไป โดยเฉพาะในกรอบการเจรจากับกลุ่มประเทศ Mercosur และ (2) ฝรั่งเศสได้เสียความเชื่อมั่นในระบบการค้าโลก จึงต้องการให้ยุโรปปกป้องอธิปไตยของตนมากขึ้นหรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับประเด็นภูมิศาสตร์การเมือง (Geopolitics) (ซึ่งตรงนี้แตกต่างจากเยอรมัน) ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการ EU บางส่วน โดยนาย Emmanuel Macron ได้แสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าวในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์กับกลุ่มนักการทูตเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า “เราต้องมีนโยบายการค้าที่สะท้อนข้อเท็จจริงกว่านี้” และต้องการให้ EU ให้ความสำคัญกับ “ผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์” เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาและจีนกระทำอยู่ในปัจจุบัน และกล่าวว่า “เราจะไม่ได้รับความเคารพหากเรายังมัวทำตัวไร้เดียงสาต่อไป” โดยฝรั่งเศสต้องการให้ EU ยืนยันที่จะเรียกร้องให้คู่ค้าของตนต้องรักษามาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมให้เทียบเท่ากับเอกชนในยุโรป และเรื่องที่นาย Macron เรียกร้องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนประเทศสมาชิกในเรื่องวาระการค้า จึงทำให้ EU เริ่มเจรจาข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในเจรจา FTA ซึ่งจะส่งผลให้เสียงตอบรับด้านการเจรจาจากประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศกำลังพัฒนาลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยข้อเรียกร้องด้านกฎระเบียบที่เข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองป่าไม้หรือการต่อต้านแรงงานทาส ได้ถูกตีความว่า เป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศ เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะกรรมาธิการ EU กล่าวว่า “เราถูกกล่าวหาว่า เราเทิดทูน และเชิดชูคุณค่าของลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)”
- FTA กับออสเตรเลีย : จะความล้มเหลวหรือไม่ … หลังจากเจรจามานานถึง 5 ปี
แม้แต่กับประเทศที่มีการรักษามาตรฐานสูงพอ ๆ กับ EU อย่างเช่นออสเตรเลียก็ยังประสบปัญหาในการเจรจา FTA กับ EU โดยการเจรจาฯ กับออสเตรเลียก็ล้มเหลว โดยตามแผนการประชุมระหว่างนาย Don Farrell รัฐมนตรีการค้าของออสเตรเลีย กับนาย Valdis Dombrovskis กรรมาธิการการค้าของ EU ซึ่งคาดกันว่า “น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของการเจรจาที่มาราธอนยาวนานกว่า 5 ปี ได้ปิดฉากลงไม่สวยในนาทีสุดท้าย” โดยนาย Dombrovskis ออกมากล่าวอย่างหัวเสียว่า “เสียดายที่ออสเตรเลียปฏิเสธที่จะประนีประนอมกับประเด็นที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้” โดยประเด็นขัดแย้งที่ใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง ก็คือ ความปรารถนาของชาวออสเตรเลียที่ต้องการนำผลผลิตทางการเกษตร อาทิ เนื้อวัว เนื้อแกะ และน้ำตาล เข้าตลาดในยุโรปให้มากขึ้น แต่สำหรับ EU แล้ว ก็ต้องการให้เกิดความแน่ใจก่อนว่า ออสเตรเลียจะต้องไม่ใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ เช่น Prosecco (ชื่อ Sparkling Wine ที่ผลิตในอิตาลี) และ Feta (ชื่อชิสที่ผลิตในกรีก) ซึ่งในมุมมองของบรัสเซลส์แล้ว ชื่อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ควรสงวนไว้สำหรับผู้ผลิตชาวยุโรปใช้เท่านั้น ด้านนาย นาย Gabriel Felbermayr ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งออสเตรีย (WIFO – Österreichisches Institut für Wirtschaftsforschung) มองว่า ข้อแตกต่างในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร และความต้องการของยุโรปในด้านความยั่งยืน (Sustainability) ควรถูกระบุอยู่ในการเจรจา FTA ให้มากขึ้น ซึ่งนาย Felbermayr กล่าวว่า ปกติแล้วการที่จะสามารถเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตรในภูมิภาคยุโรปได้มากขึ้น ประเทศคู่เจรจาจำเป็นที่จะต้องแลกกับการลดภาษีนำเข้าในสินค้าอุตสาหกรรม และควรจะหาข้อสรุปในกฎระเบียบด้านการค้าร่วมกัน แต่ในเวลานี้ EU ได้พยายามสร้างกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ นาย Felbermayr ยังได้กล่าวอีกว่า “EU ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในการเจรจาได้ เพราะเหมือนกับการเล่นไพ่ ที่เราจะสามารถใช้ไพ่โจ๊กเกอร์ (EU Single Market) ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น เพราะใช้ได้เพียงครั้งเดียว” ในขณะที่นาย Feodora Teti ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศของสถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยมิวนิค (Ifo – Institut für Wirtschaftsforschung an der Universität München) เห็นว่า FTA นี้มีความสำคัญต่อ EU เป็นอย่างมากเพราะจะช่วยลดการพึ่งพิงจีนได้อย่างเป็นรูปธรรมและอธิบายว่า “ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับออสเตรเลียอาจเปิดโอกาสให้ EUลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากจีนได้” เพราะออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีวัตถุดิบสำรองค่อนข้างมาก โดยออสเตรเลียเป็นแหล่งผลิตแร่โคบอลต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกและมีบทบาทสำคัญในตลาดโลกในการเป็นแหล่งผลิตแมกนีเซียม แมงกานีส และไทเทเนียม อีกด้วย นาย Teti อธิบายต่อว่า “วัตถุดิบที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลิตสินค้าของ EU เพราะเป็นปัจจัยหลักในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างเช่น แบตเตอรี่หรือแม่เหล็ก ดังนั้น การกระจายกลยุทธ์การจัดซื้อสินค้าจากหลายแหล่งผลิตจะทำให้ EU มีความยืดหยุ่นและมีเสถียรภาพในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤติมากขึ้น”
- FTA กับ MERCOSUR…จะไปรอดหรือเปล่า
คงต้องบอกว่าไม่มี FTA ฉบับไหนที่ EU ใช้เวลาในเจราจาได้ยาวนานเท่า FTA ฉบับนี้ และก็ไม่มี FTA ฉบับไหนที่ EU จะมีความสำคัญเท่ากับ FTA กับกลุ่ม Mercosur เพราะหากถ้าเจรจาสำเร็จ FTA ฉบับนี้จะเป็นฉบับที่ใหญ่ที่สุดของโลก เนื่องจากมีประชากรรวมกันถึง 780 ล้านคน ซึ่งการเจรจาได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1999 และมีการบรรลุข้อตกลงมาตั้งแต่ปี 2019 แต่ข้อตกลงดังกล่าวในเวลานี้ไม่เพียงพอสำหรับ EU แล้ว EU จึงได้เรียกร้องให้มีการปรับปรุงเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ป่าฝน เพราะได้รับแรงกดดันจากรัฐสภายุโรปและกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนีที่เป็นกระทรวงที่พรรคยุค 90 พันธมิตรสีเขียว (Bündnis 90/Die Grünen) โดยพรรคสีเขียวของเยอรมนีเห็นว่า เรื่องดังกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องที่นำมากีดกันการเจรจาแต่อย่างใด โดยนาย Andreas Audretsch รองประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคสีเขียว กล่าวว่า “ข้อตกลง FTA ที่ดี จะต้องสามารถปกป้องป่าอเมซอนในฐานะปอดของโลก ซึ่งเป็นประโยชน์ของกลุ่ม Mercosur และยุโรปร่วมกัน” ซึ่งเมื่อมีการเจรจาใหม่ บราซิลก็แสดงความจำนงใหม่เข้ามา โดยเริ่มตั้งคำถามถึงการเข้าถึงการประมูลสาธารณะในประเทศ Mercosur ของบริษัทใน EU ซึ่งจริง ๆ การเจรจาประเด็นดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ก็กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เจ้าหน้าที่อาวุโสของ EU เองก็ตั้งข้อสงสัยว่า คงเป็นไปได้ยากที่ข้อตกลงดังกล่าวจะสามารถสรุปได้ตามแผนที่ตั้งไว้ในปีนี้ และจากข้อมูลภายในเปิดเผยว่า บรรยากาศการเจรจาในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มกลับดีขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ในช่วงฤดูร้อน ฝ่ายบราซิลยกเลิกการเจรจาติดต่อกันหล่ายต่อหลายครั้ง โดยแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเพียงสั้น ๆ แต่ช่วงนี้ไม่มีพฤติกรรมดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตามคนในแวดวงการเจรจากล่าวว่า “ยังไม่ชัดเจนเลยว่าคนอเมริกาใต้เองรู้หรือไม่ว่าพวกเขาต้องการอะไรจริง ๆ”
- FTA กับสหรัฐอเมริกา…กับเรื่องมึนงงในแบบไก่กับไข่อะไรจะเกิดก่อนกัน
วันที่สหรัฐอเมริกาและ EU เริ่มพูดคุยเรื่องเขตการค้าเสรีระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกที่เรียกกันเล่น ๆ ว่า “เศรษฐกิจนาโต” นั้นได้สิ้นสุดไปนานแล้ว ในตอนนี้เรื่องสำคัญที่เร่งปฏิบัติก็คือ การซ่อมแซมความเสียหายที่อดีตประธานาธิบดี Donald Trump ได้สร้างทิ้งไว้ ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่ได้แก้ปัญหาการจัดเก็บภาษีในสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมของยุโรป (Trump’s tariffs) แม้ว่าจะไม่รุนแรงเท่ากับช่วงเวลาดังกล่าวแต่ก็ยังไม่ได้หายไปเสียเลย เพราะฝั่งอเมริกาเรียกร้องให้ยุโรปดำเนินการต่อต้านการนำเข้าสินค้าจากจีนก่อน แม้ว่า EU พร้อมที่จะเริ่มการเจรจาในส่วนเกี่ยวข้อง (กับจีน) แต่แน่นอนก็ไม่ต้องการที่จะสรุปผลตั้งแต่เริ่มแรกก่อนเริ่มเจรจา นักการทูต EU กล่าวว่า “ความต้องการเรื่องดังกล่าวของสหรัฐอเมริกานั้นขัดแย้งกับกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ” ซึ่งเวลาสำหรับการแก้ปัญหากำลังจะหมดลงในไม่ช้า หากไม่สามารถตกลงกันได้ภายในสิ้นปีนี้ Trump’s tariffs จะกลับมามีผลบังคับใช้อีกครั้ง อย่างไรก็ดี นักเจรจาของ EU ได้ออกมาเน้นย้ำว่า โอกาสที่จะบรรลุข้อตกลงนั้นมีแนวโน้มที่จะไปได้สวย ตอนนี้เราอยู่ในจุดที่ “ไก่กับไข่อะไรจะเกิดก่อนกัน” โดยสหรัฐอเมริกาต้องการเห็นในการตัดสินใจของ EU เกี่ยวกับจีน ส่วน EU เพียงต้องการให้สหรัฐอเมริกายกเว้นการเก็บภาษี Trump’s tariffs ลงเสีย
- FTA กับอินเดีย และ FTA กับอินโดนีเซีย… ยังเงียบกริบ และแทบไม่มีความคืบหน้าใด ๆ
การยุติการเจรจา FTA กับออสเตรเลียเป็นการชั่วคราวนั้น ไม่ได้เป็นเพียงความท้าทายเดียวสำหรับ EU ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่การเจรจา FTA กับอินเดียที่ได้เริ่มต้นไปเมื่อปีที่ผ่านมา ก็ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า โดยแผนเดิมที่ตั้งไว้ว่า จะสิ้นสุดการเจรจาภายในสิ้นปีนี้ ก็ไม่มีแนวโน้มที่จะสามารถบรรลุผลได้ ด้านนาย Hervé Delphin ทูต EU ประจำประเทศอินเดียกล่าวว่า “ใครที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์จะเข้าใจถึงความซับซ้อนของการเจรจา พวกเขาเหล่านั้นไม่มีทางที่จะเชื่อได้แม้แต่วินาทีเดียวว่า การเจรจาดังกล่าวจะสามารถสิ้นสุดลงได้ในเวลาอันไกล้” โดยในระหว่างการเยือนอินเดียเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นาย Olaf Scholz นายกรัฐมนตรีประกาศว่า เขาจะพยายามผลักดันให้การเจรจาได้ข้อสรุปโดยเร็ว ในขณะที่การเจรจาฯ กับอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็หยุดชะงักเช่นกัน โดยปัญหาหลักเรื่องการเข้าถึงตลาด (Market Access) ของน้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซีย ได้กลายเป็นประเด็นหลักที่ถูกถกเถียงเป็นพิเศษ โดยรัฐบาลในกรุงจาการ์ตาออกมากล่าวหาว่า บรัสเซลส์เลือกปฏิบัติกับผู้ผลิตน้ำมันปาล์มชาวอินโดนีเซีย
จากมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ พบว่า การค้าที่เพิ่มขึ้นผ่าน FTA นั้นเป็นหัวใจหลักและเป็นวิธีแก้ไขปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ใน EU โดยตอนนี้นาย Moritz Schularick ประธานสถาบันเศรษฐกิจโลก (Ifw – Institut für Weltwirtschaft) จากเมือง Kiew กล่าวว่า “การเร่งประสิทธิภาพในทางปฏิบัติ (Pragtical Efficiency) ในประเด็นทางการค้าเป็นสิ่งจำเป็นที่เร่งด่วนโดยเฉพาะกับหมู่ประเทศที่เป็นมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานี้ที่ระบบการค้าโลกในปัจจุบันที่มีความแตกแยกมากกว่าความสามัคคี” นาย Justus Haucap ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งสถาบัน Institute for Competition Economics (DICE) จากเมือง Düsseldorf กล่าวว่า “FTA ช่วยสร้างความหลากหลายในห่วงโซ่อุปทาน” โดยวิกฤตโคโรน่าและสงครามในยูเครนได้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการเจรจา FTA เป็นอย่างดี นาย Lindner รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงเรียกร้องให้ มีความกล้าหาญรูปแบบใหม่ในนโยบายการค้าโดยกล่าวว่า “ผมส่งเสริมการค้าเสรีเชิงรุกที่ให้ความสำคัญกับแนวปฏิบัติมากกว่ามัวแต่ยึดติดกับอุดมการณ์” ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็ได้รับการสนับสนุนมาจากฝ่ายค้าน นาย Friedrich Merz หัวหน้าพรรคสหภาพคริสต์เตียนเพื่อประชาธิปไตยประเทศเยอรมนี (CDU – Christlich Demokratische Union Deutschlands) กล่าวกับ Handelsblatt ว่า “ข้อตกลงการค้าเสรีต่าง ๆ ควรจะต้องได้รับการ เจรจา สรุป และ ลงนาม เร็วขึ้นกว่านี้”
จาก Handelsblatt 17 พฤศจิกายน 2566