สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

 

กระทรวงอาหารและการเกษตรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMEL) ได้เผยแพร่รายงานโภชนาการ (Ernährungsreport 2023) “เยอรมนี บริโภคอย่างไร” โดยรายงานฯ ระบุว่า  คนเยอรมันยังคงชอบทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน แม้สัดส่วนการทำอาหารทุกวันจะลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 52 เป็นร้อยละ 46 แต่การทำอาหาร 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์กลับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารนอกบ้านก็เป็นที่นิยมเช่นกัน โดยอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์คนเยอรมันมีการรับประทานอาหารที่ร้านอาหารร้อยละ 16 นอกจากนี้ เทรนด์การสั่งซื้อสินค้าบริโภคพร้อมบริการจัดส่งถึงบ้านที่เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เป็นที่น่าจบตามอง

ผักและผลไม้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนเยอรมัน โดยร้อยละ 72 ของผู้ตอบแบบสำรวจกินผักและผลไม้ทุกวัน ด้วยเหตุผลด้านรสชาติ ด้านสุขภาพ และแคลอรี่ที่ต่ำเป็นสำคัญ รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์นม (ร้อยละ 61) เนื้อสัตว์หรือไส้กรอก (ร้อยละ 25) และมีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่กินปลา/อาหารทะเล อาหารสำเร็จรูป ทุกวัน

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มขึ้นของการบริโภคอาหารมังสวิรัติ/วีแกนทดแทนผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่อายุน้อย เหตุผลหลักในการเลือกซื้ออาหารมังสวิรัติ/วีแกน ได้แก่

  • ต้องการทดลองสิ่งแปลกใหม่ (ร้อยละ 73)
  • สวัสดิภาพสัตว์ (ร้อยละ 63)
  • การปกป้องสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 63)
  • รสชาติ (ร้อยละ 63)
  • ด้านสุขภาพ (ร้อยละ 48)
  • ได้อ่านหรือได้ฟังมา (ร้อยละ 37)
  • แพ้อาหารจากสัตว์บางอย่าง (ร้อยละ 19)

ทั้งนี้ นมถั่วเหลือง นมข้าวโอ๊ต ยังรั้งอันดับ 1 เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ถูกซื้อมากที่สุด ในส่วนของผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ ไส้กรอก โยเกิร์ต และปลาก็ต่างได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

ข้อมูลทางโภชนาการ รายการส่วนผสม วันหมดอายุ เป็นข้อมูลสำคัญบนบรรจุภัณฑ์อาหาร (กฎหมายกำหนดให้ระบุ) ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ นอกจากนี้ การติดฉลาก/ตรารับรอง หรือระบุข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น สวัสดิภาพสัตว์ แฟร์เทรด การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีการดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคเช่นกัน สำหรับผู้บริโภคที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น ต้องการรับรู้ข้อมูลเพิ่มเติ่มเกี่ยวกับการผลิตว่าเป็นแบบเชิงนิเวศหรือแบบดั้งเดิม ระยะเวลาและเส้นทางการขนส่ง ปริมาณการใช้พลังงาน ปริมาณการใช้น้ำ และปริมาณการปล่อย CO2  ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบสำรวจจำนวนมากให้ความสำคัญกับฉลาก/ตรารับรองเหล่านี้

(1) ฉลากระบุสินค้าท้องถิ่น (ร้อยละ 66)

(2) ฉลากสวัสดิภาพสัตว์ (ร้อยละ 65)

(3) ตรารับรองออร์แกนิก (ร้อยละ 59)

(4) ตรารับรองการประมงยั่งยืน (ร้อยละ 57)

(5) ตราแฟร์เทรด (ร้อยละ 56)

ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนมากเห็นด้วยกับมาตรการติดฉลากสวัสดิภาพสัตว์ภาคบังคับ ข้อบังคับฉลากสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare labelling) ทำให้การทำปศุสัตว์ต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสวัสดิภาพสัตว์อย่างจริงจัง และช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตสัตว์และการปฏิบัติต่อสัตว์ในฟาร์มให้ดีขึ้น โดยฉลากสวัสดิภาพสัตว์จะแสดงข้อมูลด้านแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ ระบบการเลี้ยงดู การขนส่งและวิธีการเชือดสัตว์ ทั้งนี้ เยอรมนีเริ่มใช้ฉลากสวัสดิภาพสัตว์ตั้งแต่เดือนสิงหาคาม 2023

 

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

แหล่งที่มาของข้อมูล

Federal Ministry of Food and Agriculture (BMEL)

thThai