(ที่มา : สำนักข่าว Korea Joongang Dairy ฉบับวันที่ 22 สิงหาคม 2566)
ท่ามกลางสถานการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภคที่พุ่งสูงขึ้น วัยรุ่นเกาหลีนิยมรับประทานอาหารกลางวันที่เตรียมมาเองจากบ้าน มากกว่าการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน อ้างอิงจากห้องปฏิบัติการข้อมูลของ Shinhan Card เมื่อวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2566 รายงานว่า ชาวเกาหลีระหว่างช่วงอายุ 20 ปี มีการใช้จ่ายในร้านอาหารในช่วงไตรมาสที่ 2 ลดลงร้อยละ 6.6 จากไตรมาสแรก โดยมีค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้านลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 3.8 เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุพบว่า ผู้บริโภคในช่วงอายุ 30 ปี มีการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านลดลงร้อยละ 3.5 เมื่อเปรียบเทียบรายไตรมาส ในช่วงอายุ 40 ปี ลดลงร้อยละ 3.9 ในช่วงอายุ 50 ปี ลดลงร้อยละ 3.4 ในช่วงอายุ 60 ปี ลดลงร้อยละ 1.5 และในช่วงอายุ 70 ปี ลดลงร้อยละ 1.2 ตามลำดับ โดยผู้บริโภคในช่วงอายุ 20 ปี เลือกตัดรายจ่ายในการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน เพื่อประหยัดค่าครองชีพ ท่ามกลางสถานการณ์ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น
คุณโช วัย 28 ปี กล่าวว่า เธอมีงบประมาณค่อนข้างจำกัด จากเงินเดือนที่ได้รับเดือนละ 2.4 ล้านวอน (ประมาณ 1,800 เหรียญสหรัฐฯ) เนื่องจากต้องออมเงินในบัญชีออมทรัพย์เดือนละ 700,000 วอน และต้องจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัยเดือนละ 400,000 วอน สิ่งหนึ่งที่เธอจำเป็นต้องทำทุกวันหลังเลิกงานตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา คือการเตรียมอาหารกลางวันไว้ล่วงหน้า เพื่อเก็บในตู้เย็นและนำออกมาอุ่นเพื่อรับประทานอาหารตอนกลางวันในวันถัดไป โดยเธอกล่าวว่า การเตรียมอาหารกลางวันมารับประทานเอง สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ครึ่งหนื่ง จากปกติเธอต้องใช้ค่าอาหารกลางวันประมาณ 10,000 วอนต่อมื้อ ในการออกไปรับประทานอาหารกลางวันกับเพื่อนร่วมงาน นอกจากนี้ คุณคิม วัย 28 ปี ยังเสริมว่า เขาและเพื่อนร่วมงานเคยผลัดกันจ่ายค่าอาหารกลางวันของกลุ่ม แต่หลังจากสถานการณ์ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น เขาและเพื่อนตัดสินใจรับผิดชอบค่าอาหารของตนเอง และในปัจจุบัน พวกเขาสั่งแต่อาหารจานเดี่ยว โดยไม่สั่งเมนูเสริมเพื่อแบ่งกันรับประทานบนโต๊ะอาหาร
จากแนวโน้มการรับประทานอาหารกลางวันของผู้บริโภควัยทำงานที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้อุตสาหกรรมบริการด้านอาหารอยู่ในภาวะที่น่ากังวล โดยเจ้าของร้านอาหารส่วนใหญ่ คาดหวังว่ายอดการจำหน่ายจะเพิ่มสูงขึ้น หลังการยกเลิกมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงต้นปี แต่ต้นทุนด้านแรงงาน และราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นกลับเพิ่มภาระด้านต้นทุนยิ่งขึ้นไปอีก ในปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 9,620 วอนต่อชั่วโมง โดยตั้งแต่ปี 2560 ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.7 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2.5 ภายในปี 2567 นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่า ราคาพืชผลทางการเกษตรจะเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้เกิดคลื่นความร้อนสูงและฝนที่ตกหนัก
อ้างอิงจากรายงานของ Korea Agro-Fisheries & Food Trade Corporation รายงานว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ดัชนีธุรกิจร้านอาหารเกาหลี (KRBI) กล่าวคือ ดัชนีการสำรวจธุรกิจที่วัดแนวโน้มในอุตสาหกรรมบริการด้านอาหาร อยู่ที่ 83.26 ซึ่งลดดลง 3.65 จุดจากไตรมาสแรก ซึ่งดัชนีลดลงถึง 100 เมื่อธุรกิจที่เข้าร่วมการสำรวจดังกล่าวฯ คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมบริการด้านอาหารจะชะลอตัวลง โดยมีการเพิ่มสูงขึ้นจาก 82.54 เป็น 86.91 ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม และกลับมามีกำไรในช่วง 3 เดือนถัดมา
คุณ ซน มูโฮ หัวหน้าฝ่ายนโยบายของสมาคมอุตสาหกรรมบริการด้านอาหารของเกาหลีกล่าวว่า ความต้องการในการรับประทานอาหารในโรงอาหารของบริษัทและอาหารสำเร็จรูปในร้านสะดวกซื้อเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากพนักงานบริษัทเปลี่ยนมารับประทานอาหารง่ายๆ เนื่องจากราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ อุตสาหกรรมบริการด้านอาหารกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากที่ต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างมาก นอกจากนี้ยังกล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมดังกล่าวฯ กำลังเฝ้ารอการกลับมาของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่จะเริ่มเดินทางเข้าประเทศเกาหลีเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี เนื่องจากเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ประเทศจีนได้ยกเลิกการห้ามจัดคณะท่องเที่ยวในประเทศเกาหลี ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 หลังจากเหตุการณ์ที่ประเทศเกาหลี อนุญาตให้กองทัพบกสหรัฐฯ เคลื่อนกำลังพลพร้อมอาวุธในระบบต่อต้านขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง หรือ THAAD บนแผ่นดินเกาหลี อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนอุตสาหกรรมต่างๆ ว่า ยอดการจำหน่ายอาจไม่เพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ ศาสตราจารย์ ลี อึนฮี ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยอินฮา กล่าวว่า การทำความเข้าใจว่าผู้บริโภคชาวจีน มีความต้องการในการซื้อสินค้าหรือรับประทานอาหารประเภทใดในประเทศเกาหลี มีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องมาจากตลาดผู้บริโภคจีนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และจะไม่มีโอกาสเป็นครั้งที่ 2 หากธุรกิจต่างๆ ไม่สามารถดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวฯ ได้
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า สถานการณ์ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคเกาหลี โดยเฉพาะวัยรุ่นและวัยทำงาน ลดค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้าน และหันมารับประทานอาหารที่เตรียมไปเอง หรือลดปริมาณอาหารต่อมื้อลง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการครองชีพ จึงอาจเป็นช่องทางที่มีศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการ/ผู้ผลิตอาหารพร้อมรับประทานแบบ Home Meal Replacement ซึ่งสามารถช่วยอำนวยความสะดวกผู้บริโภคในการเตรียมอาหารเพื่อนำไปรับประทานที่บริษัท และลดปัญหาเรื่องขยะเศษอาหารจากการเตรียมอาหาร ตลอดจนช่วยให้ผู้บริโภคสามารถคำนวนปริมาณและค่าใช้จ่ายในการเตรียมอาหารแต่ละมื้อได้อย่างสะดวก และสำหรับประกอบการ/ผู้ผลิตสินค้าและบริการด้านอาหาร อาจพิจารณาพัฒนาสินค้าให้เหมาะสำหรับการบริโภคในครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวที่อาศัยคนเดียว เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าวฯ อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการผู้ผลิตสินค้าอื่นๆ อาทิ สินค้าบรรจุภัณฑ์อาหาร หรืออุปกรณ์ใส่อาหารสำหรับรับประทานนอกบ้านอีกด้วย ผู้ประกอบการ/ผู้ผลิต จึงควรติดตามและศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคเกาหลีที่เปลี่ยนไป ตลอดจนสถานการณ์ในประเทศเกาหลีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อนำความรู้ไปปรับใช้ และพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคเกาหลีในสถานการณ์ปัจจุบัน
********************************************************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
จัดทำโดย นางสาวปรวาณี คงวุฒิติ
ตรวจทานโดย นางสาวชนัญญา พรรณรักษา
ผอ. สคต. ณ กรุงโซล