เวียดนามขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเอกชนผ่านมติ 68-NQ/TW ปรับระบบสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในประเทศ

เนื้อข่าว

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 กรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (Politburo) ได้ออกมติหมายเลข 68-NQ/TW (Resolution No 68-NQ/TW) กำหนดแนวทางยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมและยกระดับบทบาทของภาคเอกชนให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นการปฏิรูประบบกฎหมายและนโยบายอย่างครอบคลุม เพื่อเปิดทางให้ธุรกิจเอกชนสามารถเติบโตอย่างมั่นคงและมีศักยภาพในการแข่งขันทั้งในประเทศและระดับโลก

ภายใต้มติดังกล่าว รัฐบาลให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิของกรรมสิทธิ์ (Ownership rights) สิทธิในทรัพย์สิน (Property rights) เสรีภาพในการประกอบธุรกิจ (The freedom to conduct business) และการบังคับใช้สัญญาทางกฎหมายอย่างเป็นธรรม (The enforceability of contracts) พร้อมทั้งส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้าถึงทรัพยากรสำคัญอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน เงินทุน หรือแรงงานที่มีทักษะ อีกทั้งยังผลักดันให้ธุรกิจนำเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ควบคู่ไปกับแนวทางธุรกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

มติดังกล่าวยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และบริษัทข้ามชาติ เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับสากล ขณะเดียวกันก็ให้การสนับสนุนอย่างจริงจังแก่ธุรกิจขนาดเล็ก วิสาหกิจครัวเรือน และผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อสร้างรากฐานเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นและทั่วถึง

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่มติหมายเลข 68-NQ/TW ให้ความสำคัญคือ การปลูกฝังจริยธรรมทางธุรกิจ ความรับผิดชอบต่อสังคม และจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ พร้อมส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาชาติในด้านต่าง ๆ

ตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนของเวียดนามเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนกว่า 940,000 แห่ง และธุรกิจครัวเรือนมากกว่า 5 ล้านแห่งโดยภาคเอกชนมีส่วนร่วมใน GDP ของประเทศถึงราวร้อยละ 50 สร้างรายได้ให้รัฐกว่าร้อยละ 30 และจ้างงานถึงร้อยละ 82 ของแรงงานทั้งหมด ถือเป็นพลังสำคัญในการสร้างงาน ส่งเสริมนวัตกรรม เพิ่มผลิตภาพและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หลายบริษัทสามารถสร้างแบรนด์แข็งแกร่งในประเทศและขยายสู่ตลาดภูมิภาคและระดับโลกได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังคงเผชิญกับข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งในเรื่องขนาดกิจการ ศักยภาพทางการเงิน ความสามารถในการบริหารจัดการ การเข้าถึงเทคโนโลยี รวมถึงการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจของรัฐหรือทุนต่างชาติ ปัจจัยเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากทัศนคติที่ล้าสมัย ระบบราชการที่ซับซ้อน โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่สมบูรณ์ และนโยบายสนับสนุนที่แม้จะมีอยู่ แต่กลับเข้าถึงได้ยากหรือไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

มติหมายเลข 68-NQ/TW จึงถูกวางขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการขจัดอุปสรรคเหล่านี้ และเร่งส่งเสริมศักยภาพของภาคเอกชนให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนามได้อย่างแท้จริง โดยตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2573 ภาคเอกชนจะเป็นกลไกขับเคลื่อนหลักของระบบเศรษฐกิจ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละร้อยละ 10–12 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ และมีบทบาทคิดเป็นร้อยละ 55–58 ของ GDP และร้อยละ 35–40 ของรายได้ภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายให้เวียดนามติดอันดับ 3 ของอาเซียน และอันดับ 5 ของเอเชียในด้านความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

เมื่อมองไปในระยะยาวถึงปี 2588 เวียดนามตั้งเป้าพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนให้มีความแข็งแกร่ง คล่องตัว และสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก โดยมีบริษัทเอกชนอย่างน้อย 3 ล้านแห่ง ซึ่งจะมีบทบาทคิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของ GDP และมีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานด้านการผลิตและการจัดจำหน่ายระดับโลกอย่างชัดเจน

 (แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 5 พฤษภาคม 2568)

วิเคราะห์ผลกระทบ

มติหมายเลข 68-NQ/TW ของกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (Politburo) ถือเป็นผลลัพธ์ของกระบวนการสั่งสมประสบการณ์และการประเมินผลอย่างต่อเนื่องตลอดกว่า 40 ปี นับตั้งแต่เวียดนามเริ่มดำเนินนโยบาย “Đổi Mới” ในปี 2529 ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เปิดประตูให้ประเทศเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ไปสู่ระบบเศรษฐกิจตลาด และเริ่มยอมรับบทบาทของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามได้พัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย รวมถึงกรอบนโยบายต่าง ๆ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการลงทุน การประกอบธุรกิจ และการส่งเสริมนวัตกรรม ซึ่งนำไปสู่การเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของภาคเอกชน ทั้งในด้านจำนวนกิจการ การสร้างงาน และการมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ดี แม้ภาคเอกชนจะมีบทบาทมากขึ้นในเชิงปริมาณ แต่การยกระดับคุณภาพยังคงเป็นความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องขนาดของกิจการ ความสามารถในการแข่งขัน หรือการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่าในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ภาคเอกชนของเวียดนามยังคงต้องเผชิญกับข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง อุปสรรคทางกฎหมาย และปัญหาเชิงระบบที่ขัดขวางการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรสำคัญ เช่น ที่ดิน เงินทุน หรือแรงงานที่มีทักษะ ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยังไม่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมและการเติบโตในระยะยาว ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความจำเป็นในการปฏิรูประบบนโยบายและสถาบันอย่างลึกซึ้งและเป็นระบบ

ด้วยเหตุนี้ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจึงได้ประกาศใช้มติหมายเลข 68-NQ/TW เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 โดยมีเป้าหมายเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนในระยะกลางและระยะยาวอย่างเป็นระบบ มตินี้ให้ความสำคัญกับการยกระดับภาคเอกชนให้เป็นกลไกขับเคลื่อนหลักของระบบเศรษฐกิจชาติ โดยเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ และการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งสอดรับกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจเวียดนามในยุคใหม่ที่ต้องการความทันสมัยและการบูรณาการกับเศรษฐกิจโลก

สาระสำคัญของมติดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นหากพิจารณาในเชิงเปรียบเทียบระหว่างช่วงเวลาก่อนและหลังการประกาศใช้ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสถานะของภาคเอกชน บทบาทเชิงนโยบาย และแนวทางการพัฒนาในระยะยาว ก่อนหน้าการออกมติ แม้เวียดนามจะมีการเปิดกว้างต่อภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2529 แต่ก็ยังไม่มีการกำหนดบทบาทของภาคเอกชนให้เป็นกลไกหลักอย่างชัดเจน ขณะที่กรอบกฎหมายและระบบสนับสนุนยังมีข้อจำกัดในด้านความชัดเจน การบังคับใช้ และความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากร ทำให้ภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังเป็นกิจการขนาดเล็ก ไม่สามารถเชื่อมโยงกับรัฐวิสาหกิจหรือทุนต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังขาดความสามารถด้านนวัตกรรมและการบริหารจัดการที่ทันสมัย

หลังจากการประกาศใช้มติหมายเลข 68-NQ/TW แนวทางการพัฒนาภาคเอกชนได้เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยมีการวางยุทธศาสตร์เชิงรุก ครอบคลุม และเป็นระบบมากขึ้น รัฐบาลมุ่งส่งเสริมสิทธิในทรัพย์สิน การเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่สำคัญ การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจน เช่น การเพิ่มจำนวนวิสาหกิจเอกชนเป็น 2 ล้านแห่งภายในปี 2573 และ 3 ล้านแห่งภายในปี 2588 รวมถึงการผลักดันให้ภาคเอกชนมีสัดส่วนใน GDP มากกว่าร้อยละ 60

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

เวียดนามกำลังก้าวเข้าสู่ระยะใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนอย่างเป็นระบบและจริงจัง ผ่านมติหมายเลข 68-NQ/TW ซึ่งมุ่งยกระดับภาคเอกชนให้เป็นกลไกขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ โดยเปิดโอกาสให้ธุรกิจเอกชนเข้าถึงทรัพยากรสำคัญ เช่น ที่ดิน เงินทุน แรงงานที่มีทักษะ และการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ในกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการ นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรมและการเติบโตที่ยั่งยืนของทั้งภาคธุรกิจท้องถิ่นและต่างชาติ ซึ่งสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดและสร้างฐานการผลิตในเวียดนาม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไทยมีความได้เปรียบ เช่น อาหารและเกษตรแปรรูป พลังงานหมุนเวียน ดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงวัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวของเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับผู้ประกอบการไทย การเข้าสู่ตลาดเวียดนามควรมีการวางกลยุทธ์เชิงรุก โดยไม่เพียงแต่คิดถึงการส่งออกสินค้า แต่ต้องมุ่งเน้นการลงทุนและสร้างความเชื่อมโยงระยะยาวกับตลาดและพันธมิตรท้องถิ่น ผ่านการศึกษากฎระเบียบและสภาพแวดล้อมธุรกิจ การสร้างพันธมิตรในท้องถิ่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่า และการปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มเศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัล นอกจากนี้การพัฒนาทักษะบุคลากรและความเข้าใจในวัฒนธรรมธุรกิจของเวียดนามก็เป็นปัจจัยสำคัญในการขยายธุรกิจอย่างยั่งยืน เวียดนามไม่ใช่เพียงแค่แหล่งการผลิต แต่เป็นพันธมิตรในอนาคตที่เต็มไปด้วยโอกาสในการเติบโตสำหรับผู้ประกอบการไทยที่พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจใหม่ในเวียดนาม

thThai