fb
ตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ
โดย
suwaparbs@ditp.go.th
ลงเมื่อ 01 กรกฎาคม 2568 21:22
1

 ตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ (ไม่รวมผลิตภัณฑ์อาหาร) ในปี 2024 มีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะมีมูลค่าราว 4.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2034 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 4.9% ระหว่างปี 2025-2030 

     ตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงของสหรัฐฯ มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากจำนวนผู้เลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นและความต้องการสินค้าคุณภาพสูงในหมวดผลิตภัณฑ์ เช่น ปลอกคอ สายจูง ของเล่น กรง เครื่องให้อาหาร และที่นอนสัตว์เลี้ยง เมื่อชาวอเมริกันมักปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว ค่าใช้จ่ายด้านผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงจึงเพิ่มขึ้นตาม โดยผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับสินค้าพรีเมี่ยม (Premiumization) และมักมองหาผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงที่มีดีไซน์ทันสมัยที่ใช้งานได้จริง

Picture1.png

      ในปัจจุบันมีผู้เลี้ยงแมวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแซงหน้าผู้เลี้ยงสุนัขในหลายเมืองของสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในหมู่ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองและครัวเรือนขนาดเล็กที่หันมาเลี้ยงแมว เนื่องจากดูแลรักษาง่ายและแมวสามารถปรับตัวเข้ากับพื้นที่อยู่อาศัยขนาดเล็กได้ดีกว่า ดังนั้นผลิตภัณฑ์สำหรับเลี้ยงแมวในครัวเรือนขนาดเล็กจึงมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น เช่น คอนโดแมว เสาที่ออกแบบให้สวยงามและประหยัดพื้นที่เหมาะสำหรับการเล่น การออกกำลังกาย และการพักผ่อนในพื้นที่บ้านที่จำกัด รวมถึงกระบะทรายอัตโนมัติและแผ่นรองควบคุมกลิ่นกำลังได้รับความนิยมในหมู่เจ้าของแมวที่ให้ความสำคัญกับสุขอนามัยและความสะดวกสบาย

     นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีมาใช้กับผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงกำลังเปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลสัตว์เลี้ยงของชาวอเมริกันอย่างรวดเร็ว เช่น กระบะทรายแมวอัตโนมัติที่มีเซนเซอร์และระบบทำความสะอาดตัวเอง เพื่อลดกลิ่น ลดความสกปรก และไม่จำเป็นต้องตักทรายทุกวัน รวมถึงปลอกคออัจฉริยะที่พัฒนาไปไกลกว่าปลอกคอระบุชื่อแบบเดิมๆ ปัจจุบันปลอกคออัจฉริยะสามารถติดตามตำแหน่ง GPS ตรวจจับการเคลื่อนไหว และวัดค่าต่างๆ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจหรืออุณหภูมิร่างกายสัตว์เลี้ยง ช่วยให้เจ้าของสามารถติดตามความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์เลี้ยงได้ในทันที

     อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยเพิมมูลค่าตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ คือ สื่อสังคมออนไลน์ อาทิ Instagram และ TikTok ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างกระแสสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง โดย “Petfluencer” หรือผู้มีอิทธิพลทางโซเชียลที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงช่วยโปรโมตสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยแบรนด์ต่างๆ มักร่วมมือกับผู้มีอิทธิพลเหล่านี้เพื่อโปรโมตผลิตภัณฑ์ เช่น แบรนด์ค้าปลีกสัตว์เลี้ยงชั้นนำ PetSmart ร่วมมือกับ Petfluencer เพื่อโปรโมตผลิตภัณฑ์ผ่านคอนเทนต์ที่ดูจริงใจและเป็นธรรมชาติ เข้าถึงชุมชนเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง

ข้อมูลเชิงลึกด้านผู้บริโภค

     ข้อมูลจากสมาคมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงแห่งอเมริกา (APPA) แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนในสหรัฐฯ เกือบ 94 ล้านครัวเรือนมีสัตว์เลี้ยงอย่างน้อย 1 ตัว ซึ่งเน้นย้ำถึงความผูกพันที่ชาวอเมริกันมีร่วมกับสัตว์เลี้ยงและเป็นฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่กระตุ้นให้ตลาดขยายตัว และเร่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงอย่างต่อเนื่อง โดยสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยมีประมาณ 65 ล้านครัวเรือนเป็นเจ้าของ รองลงมาคือแมว ส่วนสัตว์เลี้ยงประเภทอื่น เช่น ปลา สัตว์ขนาดเล็ก สัตว์เลื้อยคลาน และนก แม้จะมีขนาดตลาดเล็กกว่า แต่ฐานผู้เลี้ยงมีความมั่นคง 

 ผลสำรวจโดยสมาคม APPA พบว่าในปี 2025 กลุ่มมิลเลนเนียลเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงมากที่สุดและมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ยอดขายผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงเพิ่มสูงขึ้น โดยกลุ่มมิลเลนเนียลนิยมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ได้ง่ายหรือมีเทคโนโลยีช่วยให้ใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้สะดวกมากขึ้น พฤติกรรมการ

ช้อปปิ้งที่เน้นดิจิทัลเป็นหลักของกลุ่มมิลเลนเนียลยังกำหนดวิธีการทำการตลาดและการขายของแบรนด์ต่างๆ สำหรับกลุ่ม Gen X และ Boomers ยังคงครองส่วนแบ่งตลาดที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมและผลิตภัณฑ์ที่เน้นสุขภาพ ในขณะที่กลุ่ม Gen Z กลับแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตในอนาคต เนื่องจากอำนาจการซื้อและการเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงของกลุ่ม Gen Z จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ข้อมูลเชิงลึกด้านผลิตภัณฑ์

     ในปี 2024 กลุ่มของเล่นสัตว์เลี้ยงครองส่วนแบ่งตลาดที่ 30.10% ของผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงทั้งหมดไม่รวมอาหาร เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีประโยชน์หลายด้าน เช่น ส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจของสัตว์เลี้ยง ราคาเข้าถึงง่าย และหาได้สะดวก โดยของเล่นแบบวิ่งไล่ เชือกดึง หรือของเล่นฝึกสมองช่วยให้สัตว์ได้ใช้พลังงาน ฝึกแก้ปัญหา และลดพฤติกรรมก้าวร้าว มีบทบาทสำคัญในการทำให้สัตว์เลี้ยงกระตือรือร้นและกระตุ้นจิตใจให้อารมณ์ดี ในทางตรงกันข้าม ของเล่นแบบโต้ตอบและแบบไขปริศนาช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางปัญญาและลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การทำลายข้าวของหรือเห่ามากเกินไป นอกจากนี้ ของเล่นเหล่านี้ยังสนับสนุนการลดน้ำหนัก ลดความเสี่ยงของภาวะที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น ปัญหาข้อและเบาหวาน

     สินค้าประเภทปลอกคอ สายจูง และสายรัดตัวสัตว์เลี้ยงมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 6.7% ต่อปี (ในระหว่างปี2025–2030) ปัจจัยของการเติบโตมาจากไลฟ์สไตล์ในเมืองที่ต้องพาสัตว์ออกไปเดินเล่นหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยจะเน้นความปลอดภัยของสินค้าเป็นหลัก ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จึงถูกพัฒนาให้มีดีไซน์ตามหลักสรีระศาสตร์ของสัตว์และมีฟังก์ชันเสริม เช่น แถบสะท้อนแสง GPS หรือที่ใส่ถุงเก็บมูลสัตว์ในตัว เช่น บริษัทอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง COLLAR ออกสายจูงรุ่น R-leash ที่รวมถุงเก็บขยะแบบย่อยสลายได้และด้ามจับที่ออกแบบให้จับถนัดมือไว้ด้วยกัน

     สินค้ากลุ่มอุปกรณ์ให้อาหารได้รับความนิยมในลำดับถัดไป ด้วยคุณลักษณะที่ใช้งานได้จริงและการใส่ใจในโภชนาการสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าสำหรับตู้ปลา/สัตว์เลื้อยคลานครองตลาดเฉพาะกลุ่ม ส่วนสินค้ากลุ่มที่นอนและอุปกรณ์จัดการของเสียได้รับความนิยมจากปัจจัยด้านความทนทานและการมอบความสะดวกสบายแก่สัตว์เลี้ยง

ช่องทางการจัดจำหน่าย

     ในปี 2024 ช่องทางร้านค้าปลีกแบบหน้าร้าน (Brick-and-Mortar) ยังคงเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายหลักคิดเป็นสัดส่วน 81.44% เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการได้สัมผัสสินค้าโดยตรง โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องพิจารณาขนาด ความทนทาน หรือคุณภาพ เช่น ของเล่น กรง สายจูง และการพาสัตว์เลี้ยงมาทดลองสินค้าในร้านก็ช่วยเพิ่มประสบการณ์และความมั่นใจในการซื้อให้แก่ผู้ซื้ออีกด้วย และผู้ซื้อส่วนใหญ่ยังให้ความไว้วางใจในร้านค้าปลีกที่ไปเป็นประจำ ชื่นชมในความจริงใจของผลิตภัณฑ์และคำแนะนำส่วนบุคคลที่ได้รับจากพนักงานขายในร้าน นอกจากนี้ การช้อปปิ้งด้วยตนเองยังช่วยลดโอกาสในการส่งคืนสินค้า เนื่องจากผู้บริโภคสามารถประเมินผลิตภัณฑ์ได้ด้วยตนเองก่อนซื้อ 

   ใน ขณะที่ช่องทางออนไลน์คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 6.4% ต่อปี (ในระหว่างปี 2025–2030) โดยโมเดลธุรกิจแบบสมัครสมาชิก (Subscription) ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เช่น การบริการจัดส่งอาหารและอุปกรณ์ถึงบ้านเป็นประจำ ช่วยลดภาระการเดินทางและสร้างความผูกพันระยะยาวระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์

บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงรายใหญ่ในสหรัฐฯ

บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงรายสำคัญในสหรัฐฯ ใช้กลยุทธ์ที่หลากหลายเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดและทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น เช่น การขยายกิจการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้พรีเมียมมากขึ้น และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ได้แก่

  • KONG Company: ผู้นำด้านของเล่นสัตว์เลี้ยงแบบเสริมสร้างพฤติกรรม มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการวิจัยและทดสอบจริง

  • COLLAR Company: เชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ไฮเทคและออกแบบตามหลักสรีระของสัตว์

  • Coastal Pet Products: ผลิตสินค้าในสหรัฐฯ สินค้าหลักได้แก่ ปลอกคอ สายจูง และอุปกรณ์กรูมมิ่ง โดยเน้นคุณภาพและราคาจับต้องได้

  • BARK, Inc.: ใช้โมเดล Direct-to-Consumer (DTC) และระบบ Subscription สร้างความผูกพันกับลูกค้าอย่างลึกซึ้ง

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ล่าสุด

  • เมษายน 2025: บริษัท Coastal Pet เปิดตัวสินค้าใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในโอกาสวัน Earth Day เช่น “Eco Turbo Scratcher” ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล และ “New Earth” ซึ่งใช้เส้นใยถั่วเหลืองธรรมชาติในปลอกคอและสายจูง

  • สิงหาคม 2024: บริษัท BARK ขยายการจำหน่ายสินค้าสุนัขผ่าน Chewy ซึ่งมีฐานลูกค้ากว่า 20 ล้านคน โดยเพิ่มไลน์ของเล่น เช่น Grey Bear Hugger, Treats n’ Sweets และ Lucy’s Magic Bus พร้อมแผนเปิดตัวสินค้าใหม่เฉพาะบนแพลตฟอร์มนี้

  • เมษายน 2024: บริษัท Central Garden & Pet Company เน้นนวัตกรรมและการพัฒนาแบรนด์ในกลุ่มอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก รวมถึงเปิดตัวผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดจากพืชภายใต้แบรนด์ ADAMS™ ซึ่งได้รับอนุมัติจาก EPA สหรัฐฯ    

ข้อเสนอแนะจากสคต.นิวยอร์ก

ตลาดอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงของสหรัฐอเมริกานับเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพสูงและขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอุปกรณ์ เช่น ปลอกคอ สายจูง ที่นอน ของเล่น กรง และอุปกรณ์ให้อาหาร สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่เพิ่มมากขึ้นในการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าสู่ตลาดนี้ ควรพิจารณาแนวทางต่อไปนี้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์การทำตลาด

1. มุ่งเน้นนวัตกรรมและการออกแบบที่ตอบโจทย์การใช้งานจริง

ผู้บริโภคในสหรัฐฯ มองหาสินค้าที่ทั้งสวยงามและใช้งานได้จริง เช่น ของเล่นที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการสัตว์เลี้ยง ปลอกคอที่มีระบบ GPS หรือ คอนโดแมวที่สามารถวางในพื้นที่จำกัดได้อย่างลงตัว ทั้งยังควรตอบโจทย์ความสะดวกในการจัดเก็บหรือเคลื่อนย้าย

 

2. ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้บริโภคชาวอเมริกัน โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียลและเจน Z ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสินค้า การเลือกใช้วัสดุรีไซเคิล วัสดุจากธรรมชาติ เช่น เส้นใยกัญชง หรือเส้นใยจากพืช ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ เป็นแนวทางที่ช่วยเพิ่มคุณค่าและความน่าสนใจของสินค้าไทยในสายตาผู้บริโภคสหรัฐฯ ได้เป็นอย่างดี

3. ทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์และ Petfluencer

การซื้อสินค้าอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงผ่านออนไลน์ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่รับอิทธิพลจากสื่อสังคมออนไลน์ การใช้กลยุทธ์ร่วมมือกับผู้มีอิทธิพลในวงการสัตว์เลี้ยง (petfluencer) บน Instagram หรือ TikTok จะช่วยขยายฐานผู้รู้จักสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. ปรับสินค้าให้ตรงตามมาตรฐานและความต้องการของตลาด

สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยง ผู้ประกอบการไทยควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าสินค้าปลอดภัยต่อการใช้งาน เช่น ปราศจากสารตกค้าง พลาสติกปลอดสาร BPA และผ่านมาตรฐานต่างๆ เช่น EPA (สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม) ASTM (มาตรฐานการทดสอบวัสดุ) และ CPSIA (กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าเด็กและสัตว์เลี้ยง) อีกทั้งควรแปลฉลากสินค้าและข้อมูลโฆษณาให้ถูกต้อง ชัดเจน และน่าเชื่อถือ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

ข้อมูลอ้างอิง Grand View Research

Share :
Instagram