fb
ตลาดเส้นใยกัญชงในสหรัฐอเมริกา
โดย
suwaparbs@ditp.go.th
ลงเมื่อ 02 กรกฎาคม 2568 00:38
51

1สินค้าเส้นใยกัญชง 

1.1 การผลิตเส้นใยกัญชงในสหรัฐฯ

ปี 2024 การผลิตเส้นใยกัญชงในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 23% จากปีที่แล้ว รวมเป็นปริมาณประมาณ 60.4 ล้านปอนด์หรือเท่ากับ 27.39 ล้านกิโลกรัม ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกก็ขยายตัวมากขึ้นถึง 56% คิดเป็น 18,855 เอเคอร์ จากข้อมูลของ USDA พบว่ารัฐที่มีการผลิตเส้นใยกัญชงมากที่สุด ได้แก่ มิซูรี่ มอนทาน่าและเซ้าท์ดาโกต้า ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม แม้จะผลิตได้มากขึ้น แต่มูลค่าทางการตลาดกลับลดลง 3% เหลือ 11.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการแปรรูปและการพัฒนาตลาดยังมีอุปสรรคและยังไม่สามารถรองรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อุตสาหกรรมสิ่งทอจากกัญชงในสหรัฐฯ ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยสำหรับการแปรรูปต่างกับอุตสาหกรรมฝ้ายที่มีอยู่แล้ว เครื่องปั่นฝ้ายสมัยใหม่สามารถแปรรูปฝ้ายขนาด 480 ปอนด์ได้ภายใน 90 วินาที แต่การแปรรูปกัญชงยังต้องใช้แรงงานมากและมีประสิทธิภาพต่ำกว่า ทำให้สินค้าสิ่งทอจากกัญชงมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโดยรวมต่ำกว่าฝ้าย นอกจากนี้ การปลูกกัญชงเพื่อผลิตเส้นใยคุณภาพสูงจำเป็นต้องใช้เทคนิคการปลูกเฉพาะ โดยการหว่านเมล็ดให้หนาแน่นเพื่อให้ต้นกัญชงสูงและเรียว มีการแตกกิ่งน้อย ซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของเส้นใยที่ได้ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการขยายการตลาดของเส้นใยกัญชงในสหรัฐฯ

นอกจากนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ แม้จะมีการวางรากฐานแล้วแต่อุตสาหกรรมสิ่งทอกัญชงของสหรัฐฯ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นยังมีความท้าทายด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การแปรรูปเส้นใยและการปั่นด้ายภายในประเทศ

1.2 ขนาดตลาดของเส้นใยกัญชงในสหรัฐฯ

จากข้อมูลของ Stellar Market Research มูลค่าตลาดผ้ากัญชงในสหรัฐฯ ในปี 2024 มีมูลค่าประมาณ 16,940 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยน่าจะมีการเติบโตเฉลี่ยในช่วงระหว่างปี 2025-2032 ประมาณ 32.37% และคาดว่าในปี 2032 น่าจะมีมูลค่าสูงถึง 159,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

image.png

 

สหรัฐฯ ถือเป็นผู้นำในตลาดผ้าจากกัญชงของโลก โดยมีบริษัทชั้นนำหลายแห่งที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตและส่งเสริมการใช้เส้นใยกัญชงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เช่น Patagonia, Inc. (รัฐแคลิฟอร์เนีย) Hemp, Inc. (รัฐเนวาดา) Hemp Traders (นครลอสแอนเจลิส) และ EnviroTextiles, LLC (รัฐโคโลราโด) บริษัทเหล่านี้ล้วนเป็นผู้บุกเบิกที่ช่วยผลักดันให้ผ้าจากกัญชงเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้างทั้งในด้านคุณสมบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความทนทานและความเหมาะสมกับกระแสแฟชั่นยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดผ้ากัญชงในระดับโลก นอกจากนี้ มีบริษัทบางแห่งในสหรัฐฯ มีความสนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ยั่งยืน รวมถึงได้นำกัญชงมาใช้เป็นวัตถุดิบร่วมด้วย เช่น Hardenco บริษัทผู้ผลิตผ้ายีนส์ (รัฐคอนเนตทิคัต) มีแผนจะนำกัญชงมาใช้ในสินค้าของตนเมื่อการผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ องค์กรอย่าง Bear Fiber Inc. ก็มีบทบาทในการส่งเสริมการใช้กัญชงในอุตสาหกรรมสิ่งทอของสหรัฐฯ เพราะเล็งเห็นถึงความยั่งยืนและความทนทานของวัสดุชนิดนี้

 

2. กฎระเบียบเกี่ยวกับสิ่งทอจากกัญชงในสหรัฐฯ

การควบคุมสิ่งทอจากกัญชงในสหรัฐอเมริกาดำเนินการภายใต้กฎหมาย 2018 Farm Bill (Agricultural Improvement Act of 2018) ซึ่งเป็นกฎหมายที่อนุญาตให้มีการผลิตกัญชงและยกเลิกสถานะเป็นสารควบคุม โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ผ่านโครงการ U.S. Domestic Hemp Production Program

ประเด็นสำคัญของกฎระเบียบ

  • กัญชงตามคำจำกัดความของกฎหมายต้องมีปริมาณสาร THC (สารออกฤทธิ์ทางจิตประสาท) ไม่เกิน 0.3% โดยน้ำหนักแห้ง หากเกินกว่ากำหนดจะไม่ถือเป็นกัญชงและยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมยาเสพติด

  • USDA ได้วางระบบการควบคุมการผลิตกัญชงทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงข้อกำหนดด้านการขอใบอนุญาต การปลูก การทดสอบ และการกำจัดพืชกัญชง โดยรัฐต่าง ๆ และกลุ่มชนพื้นเมืองสามารถยื่นแผนการผลิตกัญชงของตนให้ USDA พิจารณา หรือใช้แผนระดับชาติหากไม่มีการห้ามการผลิตในพื้นที่นั้น

  • พืชกัญชงต้องผ่านการทดสอบเพื่อยืนยันปริมาณ THC โดยห้องปฏิบัติการที่ลงทะเบียนกับหน่วยงาน DEA (ขณะนี้อยู่ในระหว่างการปรับปรุงระบบทดสอบ) 

  • สินค้าที่มีส่วนประกอบของเส้นใยกัญชง เช่น สิ่งทอ เชือก หรือเสื้อผ้า สามารถนำเข้าได้หากมีปริมาณ THC ตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงเมล็ดกัญชงที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วก็สามารถนำเข้าได้เช่นกัน แม้ว่าต้นกัญชงบางชนิดจะมี THC สูง แต่เส้นใยที่สกัดออกมามักมี THC ต่ำมาก เพราะ THC อยู่ในเรซินไม่ใช่ในเส้นใย พืชกัญชงที่ปลูกเพื่อสกัดสาร CBD หรือ THC มักจะให้เส้นใยคุณภาพต่ำ จึงไม่นิยมใช้ผลิตสิ่งทอ

  • การติดฉลากสินค้าแม้ว่ากฎหมาย 2018 Farm Bill จะเน้นการผลิต แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงการควบคุมผลิตภัณฑ์ปลายทางโดยตรง ซึ่งยังอยู่ภายใต้อำนาจของสำนักงานอาหารและยา (FDA) อย่างไรก็ตาม สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชง เช่น CBD เริ่มมีแนวทางการติดฉลากเกิดขึ้น นอกจากนี้ สินค้าประเภทสิ่งทอยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายติดฉลากทั่วไป เช่น 

    • การระบุส่วนประกอบของเส้นใย (Fiber Content) เช่น “100% Hemp” หรือ “All Hemp” หากทำจากกัญชงล้วน

    • ประเทศผู้ผลิต (Country of Origin): ต้องระบุประเทศที่ผลิตหรือแปรรูปสิ่งทอนั้น

    • ผู้ผลิต/ตัวแทนจำหน่าย (Manufacturer/Dealer Identity): ระบุชื่อและที่อยู่ของบริษัทที่ผลิตหรือจัดจำหน่าย

    • วิธีการดูแลรักษา (Care Instructions): หากเป็นเสื้อผ้าสวมใส่ ต้องมีคำแนะนำในการซักหรือทำความสะอาด

  • กัญชงที่ผลิตภายใต้โครงการ Domestic Hemp Production Program สามารถขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จาก USDA ได้

 

3. HS Code: 5311.00

จากข้อมูลในเว็บไซต์ของ U.S. International Trade Commission (https://hts.usitc.gov/) พบว่า สินค้าเส้นใยกัญชง (HS 5311.00.40)  ไม่มีภาษีนำเข้า (อัตราภาษีเป็น 0%) ตามรายละเอียดในเอกสารแนบ 

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2025 เวลา 12:01 น. (EDT) สหรัฐอเมริกาจะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมในอัตรา 10% ภายใต้ชื่อว่า Baseline Reciprocal Tariff โดยอัตราภาษีนี้จะถูกเรียกเก็บเพิ่มเติม เป็นการจัดเก็บแบบ "On-Top" (MFN + ค่าธรรมเนียมและภาษีอื่น ๆ + Baseline Reciprocal Tariff 10%)

ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2025 จากข้อมูลของเว็บไซต์ datamyne.com ที่เป็นการเก็บข้อมูลจากการขนส่งทางเรือของสหรัฐฯ พบว่า สินค้าในหมวดเส้นใยธรรมชาติ (HS 5311.00) ที่นำเข้าจากประเทศไทย ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 10%  อย่างไรก็ดี ในเว็บไซต์นี้ ยังไม่ได้มีการระบุอัตราภาษีนำเข้าที่ปรับใหม่ของเส้นใยกัญชง (HS 5311.00.40) 

 

image.png

 

4. ข้อมูลผู้บริโภค

4.1 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาดผ้าจากกัญชงในสหรัฐฯ มีการเติบโตอย่างมาก โดยปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันตลาดผ้ากัญชงให้เติบโตอย่างรวดเร็ว มีดังนี้ 

-ความใส่ใจในเรื่องความยั่งยืน กัญชงเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ มีความทนทานและใช้น้ำน้อย รวมถึงใช้สารเคมีน้อยกว่าผ้าฝ้ายทั่วไป จึงทำให้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภคที่รักสิ่งแวดล้อม

-การสนับสนุนทางกฎหมาย โดยกฎหมาย Farm Bill ปี 2018 ได้อนุญาตให้ปลูกกัญชงอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐฯ ส่งผลให้มีการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมในผลิตภัณฑ์จากกัญชงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

-ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยคนส่วนใหญ่เริ่มให้ความสำคัญกับผ้าที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ระบายอากาศได้ดีและมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งผ้ากัญชงตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ได้อย่างลงตัว

4.2 การวิเคราะห์ข้อมูลผู้ซื้อสินค้าเส้นใยกัญชง

-อายุ: กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะวัยรุ่นในช่วงอายุ 20 ปี มีแนวโน้มที่จะใช้ทดลองและลองใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

-รายได้: ครัวเรือนที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะซื้อผลิตภัณฑ์จากกัญชงมากขึ้นและมีระดับการบริโภคที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า

-การศึกษา: ผู้บริโภคที่มีการศึกษาสูงมักเปิดรับและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชงมากกว่ากลุ่มที่มีการศึกษาต่ำ สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาช่วยเพิ่มความเข้าใจและทัศนคติเชิงบวกต่อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และทำให้กลุ่มนี้กล้าลองและยอมรับสิ่งใหม่ได้เร็วกว่า

-ความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม: ผู้บริโภคที่มีความตระหนักสูงในเรื่องสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ทำจากกัญชง เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และมีความยินดีที่จะซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้นเพื่อแลกกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

5. ข้อมูลลักษณะสินค้าเส้นใยกัญชงที่ผู้บริโภคให้ความนิยม

5.1 ผลิตภัณฑ์จากกัญชงมีการใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า เช่น เสื้อเชิ้ต กางเกงและเสื้อกันหนาว อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอและของใช้ภายในบ้าน เช่น ชุดเครื่องนอน ผ้าขนหนูและผ้าหุ้มเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมก่อสร้าง

5.2 ประเภทของใยกัญชงที่เป็นที่นิยมในสหรัฐฯ ได้แก่

-ผ้าลินินจากกัญชง (Hemp Linen): ผลิตจากเส้นใยยาวของลำต้นกัญชง ลักษณะเบา ระบายอากาศดี และคล้ายกับผ้าลินินจากป่านแฟลกซ์นิยมใช้ในเสื้อผ้า ของใช้ในบ้าน และเครื่องประดับแฟชั่น

-ผ้าผสมกัญชงกับฝ้าย (Hemp Cotton Blends): เป็นการนำเส้นใยกัญชงมาผสมกับฝ้ายเพื่อทำให้ผ้ามีความนุ่มแลทนทานมากขึ้น นิยมในเสื้อยืด กางเกงยีนส์ และเสื้อผ้าลำลอง

-ผ้าแคนวาสกัญชง (Hemp Canvas): เป็นผ้าที่มีเนื้อหนาและทนทานเหมาะกับการทำกระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์หุ้มผ้าและอุปกรณ์กลางแจ้งทนต่อรังสียูวีและเชื้อราได้ตามธรรมชาติ

-ผ้าเจอร์ซี่กัญชง (Hemp Jersey): เป็นผ้ายืดที่ทอแบบถักผสมกับฝ้ายออร์แกนิกมีเนื้อนุ่มและยืดหยุ่นนิยมใช้ในเสื้อยืด ชุดออกกำลังกายและเสื้อผ้าเด็ก

-ผ้ายีนส์กัญชง (Hemp Denim): เป็นเส้นใยกัญชงผสมกับฝ้ายใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตผ้ายีนส์มีความทนทานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นิยมใช้ทำกางเกงยีนส์ แจ็กเก็ตและเสื้อผ้าทำงาน

-ผ้าทวิลล์กัญชง (Hemp Twill): ผ้าทอลายนิยมใช้ในชุดยูนิฟอร์ม เสื้อคลุมและเสื้อผ้าที่ต้องการโครงสร้าง

อาจทำจากเส้นใยกัญชง 100% หรือผสมกับเส้นใยอื่น

-ผ้าขนนุ่มกัญชง (Hemp Fleece): ผ้าขนนุ่มทำจากเส้นใยผสมกัญชง นิยมใช้ในเสื้อกันหนาว ชุดอยู่บ้าน และผ้าห่ม ให้ความอบอุ่นและระบายอากาศได้ดี

-ผ้าผสมกัญชงกับไหม (Hemp Silk Blends): ผ้าใยกัญชงผสมกับไหมสร้างความหรูหรา ทำให้มีการระบายอากาศได้ดีและมีความเงางามเล็กน้อยนิยมใช้ทำผ้าพันคอ ชุดทางการและเสื้อผ้าระดับพรีเมียม

 

6. ช่องทางการจัดจำหน่ายเสื้อผ้ากัญชงในสหรัฐฯ

  • การขายผ่านช่องทางออนไลน์ (Online Retail) เป็นช่องทางหลักของตลาด โดยการเติบโตของอีคอมเมิร์ซส่งผลให้ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุด ซึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นที่นิยม ได้แก่ Amazon Esty Shopify และ BigCommerce เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมที่อนุญาตให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกัญชงได้ หากผลิตภัณฑ์นั้นมีสาร THC ไม่เกิน 0.3% ตามข้อกำหนดของกฎหมาย

  • ร้านค้าแบบดั้งเดิม เช่น ร้านค้าปลีกอิสระและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ยังคงเป็นช่องทางสำคัญสำหรับการจำหน่ายเสื้อผ้ากัญชง ข้อได้เปรียบของการจำหน่ายที่ร้านค้า คือ ลูกค้าสามารถสัมผัสเนื้อผ้าและทดลองสินค้าได้ก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งมอบประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบเฉพาะตัว

  •  การจัดจำหน่ายแบบขายส่ง (Wholesale Distributors) ผู้จัดจำหน่ายแบบขายส่งเป็นตัวกลางสำคัญระหว่างผู้ผลิตและร้านค้าปลีก ทำให้เสื้อผ้ากัญชงสามารถวางจำหน่ายในหลายช่องทางได้อย่างทั่วถึงเช่น Hemp FoundationAppareify และ Royal Apparel

  • การขายตรงจากแบรนด์ถึงผู้บริโภค (Direct to Consumer) เช่น Patagonia, Jungmaven และ ONNO เลือกขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ของตนเองโดยตรง ซึ่งการที่แบรนด์ขายตรงไปยังผู้บริโภคจะช่วยทำให้แบรนด์สามารถควบคุมการผลิตดุ้กขั้นตอน ตลอดจนควบคุมราคาขาย การสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับลูกค้า และสะสมข้อมูลลูกค้าเพื่อพัฒนาสินค้าต่อไปในอนาคต

  • ตลาดชุมชนและกิจกรรมท้องถิ่น (Farmers Markets and Community Events) เช่น Down to Earth Chelsea Farmers Market และ Union Square Greenmarket ในนิวยอร์ก เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับธุรกิจที่ต้องการขายสินค้าที่ยั่งยืนและมาจากแหล่งท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ Gen Z

  • ตลาดออนไลน์เฉพาะกลุ่มที่เน้นความยั่งยืน (Sustainable Marketplaces & Boutiques) เช่น EarthHero, Made Trade และ DoneGood เชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเสื้อผ้าจากกัญชง

  • งานแสดงสินค้า (Trade Shows) เพื่อเป็นเวทีให้แบรนด์เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม โดยงานที่น่าสนใจในเขตอาณาสำนักงานฯ นิวยอร์ก ได้แก่ MAGIC และ NYNOW เป็นต้น 

     

7. แบรนด์ชั้นนำบางส่วนในสหรัฐฯ ที่จำหน่ายเส้นใยกัญชง

ชื่อบริษัท/แบรนด์

ลักษณะธุรกิจ

ที่ตั้ง

เว็บไซต์

ข้อมูลติดต่อ (ถ้ามี)

Hemp Foundation

ผู้ผลิตและจำหน่ายส่งเสื้อผ้ากัญชง ผลิตในอินเดีย แต่จำหน่ายในสหรัฐฯ

สำนักงานใหญ่ในอินเดีย (มีตัวแทนในสหรัฐฯ Miami, Florida)

www.hempfoundation.net

info@hempfoundation.net

Royal Apparel Inc.

ผู้ผลิตเสื้อผ้ายั่งยืนในสหรัฐฯ รวมถึงเสื้อผ้าจากกัญชงชนิดวิสโคส

Hauppauge, New York

www.royalapparel.net

sales@royalapparel.net / โทร: 866-769-2517

Hemp Basics LLC

ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกัญชง รวมถึงเสื้อผ้าและผ้ากัญชง

New Jersey, USA

www.hempbasics.com

info@hempbasics.com / โทร: 888-831-3747

ONNO T-Shirt Company

ผู้เชี่ยวชาญด้านเสื้อยืดกัญชง ขายส่งและปลีก

Boulder, Colorado

www.onno.com

hello@onno.com

Patagonia

เสื้อผ้ากัญชง/ฝ้ายผสม (ใช้ออร์แกนิค & recycled materials) เน้น workwear, outdoor gear

Ventura, California

www.patagonia.com

customer.service@patagonia.com

Jungmaven

เสื้อยืด กางเกง และชุดสบายๆ ที่ออกแบบเพื่อความยั่งยืน

Vancouver, Washington (Main office)

jungmaven.com

customerservice@jungmaven.com

Toad&Co

เสื้อผ้ากัญชงสไตล์ casual, เน้นความยั่งยืน (circular model/solar powered factory)

Santa Barbara, California

toadandco.com

info@toadandco.com

Rawganique

เสื้อผ้าออร์แกนิค 100% (hemp, cotton, linen) ผลิตประเทศ USA/ยุโรป

Blaine, Washington

rawganique.com

info@rawganique.COM

The Hempest

ร้านค้าปลีกและออนไลน์ ราคาย่อมเยาว์ มีเสื้อผ้ายีนส์แจ็กเกตชุดทำสวน ฯลฯ

Boston, Massachusetts

hempest.com

sales@hempest.com

 

8. ตัวอย่างราคาสินค้าเสื้อผ้าที่ทำจากใยกัญชงในสหรัฐฯ 

    ราคาจำหน่ายมีหลายราคาตามอรรถประโยชน์ (price point) ตั้งแต่ 80-150 เหรียญสหรัฐ

image.png

image.png

 

image.png

 

9. สถิติการนำเข้ากลุ่มเส้นใยธรรมชาติ (HS5311.00

 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2025 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าในกลุ่มเส้นใยธรรมชาติ (HS5311.00) จากทั่วโลกมูลค่า 1.80 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -2.39% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาช่วงเดียวกัน โดยสหรัฐฯ นำเข้าจากอินเดียมากเป็นลำดับต้น มูลค่า 832,855 เหรียญสหรัฐ คิดเป็น 46.15% ของสัดส่วนการนำเข้าในตลาดทั้งหมด เพิ่มขึ้น+13.22% รองลงมา ได้แก่ จีน มูลค่า 286,359 เหรียญสหรัฐ คิดเป็น 15.87% ของสัดส่วนการนำเข้าในตลาดทั้งหมด ลดลง -9.78% และไต้หวัน มูลค่า 234,849 เหรียญสหรัฐ คิดเป็น 13.01% ของสัดส่วนการนำเข้าในตลาดทั้งหมด เพิ่มขึ้น+141.65% ไทยส่งออกมายังสหรัฐฯ เป็นลำดับที่ 23 ในปี 2024 อย่างไรก็ตาม ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2025 มูลค่าการส่งออกอาจมีจำนวนน้อยมากจนไม่ปรากฏการบันทึกตัวเลขในข้อมูลทางการ

*หมายเหตุ: ข้อมูลการนำเข้าของสหรัฐฯ กับทั่วโลกไม่มีระบุย่อยของ HS 5311.00.40 Hemp Fibers มีเพียงแค่กลุ่มหลักตาม HS 5311.00 เส้นใยธรรมชาติตาม ตามปรากฏตารางด้านล่างนี้*

image.png

 

10. การวิเคราะห์เส้นใยกัญชงของไทยในสหรัฐอเมริกา (SWOT)

  • จุดแข็ง (Strength)

ประเทศไทยเหมาะสำหรับการปลูกกัญชง ทำให้ได้เส้นใยที่แข็งแรง ย่อยสลายได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ที่ใส่ใจความยั่งยืน อีกทั้งไทยยังมีความชำนาญด้านการทอผ้าและงานฝีมือ ช่วยเพิ่มคุณค่าและความโดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ และด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำทำให้สามารถแข่งขันด้านราคาในตลาดต่างประเทศได้ดีอีกด้วย

  • จุดอ่อน (Weaknesses)

แม้เส้นใยกัญชงจากไทยจะมีคุณภาพดี แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในสหรัฐฯ อีกทั้งยังต้องเจอกฎระเบียบการนำเข้าที่ซับซ้อน อุตสาหกรรมในไทยก็ยังใหม่ ทำให้ผลิตได้ไม่มากและการขนส่งก็ใช้เวลานานและมีต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งในประเทศสหรัฐฯ

  • โอกาส (Opportunity)

ความนิยมในเส้นใยธรรมชาติและวัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ กำลังเพิ่มขึ้น ทำให้สิ่งทอจากกัญชงของไทยมีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดเฉพาะ เช่น เสื้อผ้ารักษ์โลก ของตกแต่งบ้าน และสินค้าเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสร่วมมือกับแบรนด์แฟชั่นของสหรัฐฯ ที่มองหาวัสดุใหม่ๆ และสามารถพัฒนานวัตกรรม เช่น การผสมเส้นใยกัญชงกับวัสดุอื่น เพื่อเพิ่มคุณภาพและความหลากหลายของสินค้า

  • อุปสรรค (Threat)

สหรัฐฯ กำลังส่งเสริมการปลูกและแปรรูปกัญชงในประเทศมากขึ้น ทำให้ผู้ซื้อมีทางเลือกที่ถูกกว่าและเชื่อถือได้จากผู้ผลิตภายในประเทศ นอกจากนี้ ภาษีนำเข้าและกฎระเบียบต่างๆ อาจเพิ่มต้นทุนการส่งออกของไทย ทำให้สินค้าไทยแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้ยากขึ้น

 

          สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

กรกฏาคม 2025

แหล่งที่มาของข้อมูล: datamyne.comhttps://downloads.usda.library.cornell.edu/usda-esmis/files/gf06h2430/ww72d7715/4f16f032g/hempan25.pdf/https://hfga.io/, www.ams.usda.gov

Share :
Instagram