ภาพรวมสถานการณ์กล้วยในตลาดโลก

ปัจจุบัน มีกว่า 130 ประเทศหรือภูมิภาคในทั่วโลกมีการปลูกกล้วย โดยแหล่งพื้นที่ปลูกกล้วยหลัก ได้แก่ อินเดีย จีน อินโดนีเซีย บราซิล เอกวาดอร์ ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

สถานการณ์การส่งออก จากรายงาน “Global Banana Market Review 2024” ที่เผยแพร่โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 การส่งออกกล้วย ทั่วโลกจะลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 โดยการคาดการณ์เบื้องต้นว่าการส่งออกกล้วยทั่วโลกอาจลดลงประมาณร้อยละ 1 ตั้งแต่ปี 2566 เหลือประมาณ 19.1 ล้านตัน เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนโรคพืชและศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตโดยรวมลดลง  ประกอบกับความต้องการกล้วยในตลาดโลกเริ่มลดลง จากเทรนด์สุขภาพทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มลดการบริโภคน้ำตาลจากผลไม้ เป็นต้น

เอกวาดอร์ ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกกล้วยรายใหญ่ที่สุดของโลก มีปริมาณการส่งออกลดลงประมาณร้อยละ 7 ในช่วงแปดเดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ของปี 2567 ดังนั้น คาดว่าการส่งออกตลอดทั้งปี 2567 จะลดลงเหลือประมาณ 5.8 ล้านตัน ปริมาณการส่งออกของโคลอมเบีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 45 เมื่อเทียบเป็นรายปี และราคาส่งออกต่อหน่วยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ในขณะที่การส่งออกของคอสตาริกา ลดลงร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับปีก่อน และการส่งออกจากเม็กซิโก จะลดลงประมาณร้อยละ 11 เหลือ 380,000 ตัน การส่งออกจากแคริบเบียน จะลดลงประมาณร้อยละ 6 เหลือประมาณ 260,000 ตัน ส่วนการส่งออกจากเอเชีย คาดว่าเติบโตขึ้นร้อยละ 12 ในปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 4.6 ล้านตัน การส่งออกกล้วยของฟิลิปปินส์ ยังคงได้รับผลกระทบจากจากการแพร่ระบาดของโรคตายพรายหรือโรคเหี่ยวในกล้วย (Panama disease) สายพันธุ์ TR 4 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกจะลดลงร้อยละ 3 เหลือ 2.3 ล้านตัน ส่วนการส่งออกของกัมพูชาจะลดลงประมาณร้อยละ 16 เหลือประมาณ 230,000 ตัน การส่งออกจากแอฟริกา จะลดลงประมาณร้อยละ 1.5 เหลือประมาณ 650,000 ตัน

ข้อมูลการค้าเบื้องต้นช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 ชี้ว่าปริมาณการนำเข้ากล้วยสุทธิทั่วโลกคาดว่าจะลดลงประมาณร้อยละ 1 มูลค่าประมาณ 18.3 ล้านตัน ซึ่งสหภาพยุโรป (EU-27) ซึ่งเป็นตลาดนำเข้ากล้วยที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีปริมาณการนำเข้าสุทธิระหว่าง ม.ค.- ส.ค. ปี 2567 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยคาดว่าปริมาณนำเข้าทั้งปีจะอยู่ที่ 5.2 ล้านตัน แม้จะมีปัญหาการขาดแคลนอุปทานจากบางประเทศผู้ส่งออกหลัก แต่ความต้องการของผู้บริโภคในตลาดยุโรปยังคงมีเสถียรภาพ ส่วนการนำเข้ากล้วยของสหรัฐอเมริกา ระหว่างเดือน ม.ค.-ส.ค. ปี 2567 มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก คาดว่าปริมาณนำเข้าทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ 4.1 ล้านตัน

สถานการณ์การนำเข้า การนำเข้ากล้วยของจีนในปี 2567 ลดลงร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยปริมาณการนำเข้าลดลงเหลือ 1.687 ล้านตัน สาเหตุหลักมาจากปัญหาการขาดแคลนอุปทาน โดยเฉพาะเมื่ออุปทานกล้วยจากกัมพูชาและฟิลิปปินส์ลดลง คาดว่าการนำเข้ากล้วยของรัสเซียจะลดลงร้อยละ 16 เหลือ 1.2 ล้านตัน เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและต้นทุนการขนส่งที่สูงอย่างต่อเนื่องกลายเป็นข้อจำกัดหลักในการนำเข้ากล้วยของรัสเซีย ในขณะที่การนำเข้ากล้วยของญี่ปุ่นลดลงประมาณร้อยละ 2 เหลือ 1 ล้านตัน แม้ว่าความต้องการจากญี่ปุ่นจะค่อนข้างคงที่ แต่ปัญหาการขาดแคลนกล้วยจากฟิลิปปินส์กำลังส่งผลกระทบต่อปริมาณการนำเข้าของญี่ปุ่น

ภาพรวมตลาดและการบริโภคกล้วยของจีน

ประเทศจีนเป็นตลาดผลิตและบริโภคกล้วยใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก (รองลงจากอินเดีย) โดยมีการบริโภคประมาณ 13-14 ล้านตันต่อปี คิดเป็นปริมาณการบริโภคต่อหัว 9.69 กิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 15.4 กิโลกรัม

ในปี 2566 จีนมีพื้นที่ปลูกกล้วยทั้งสิ้น 2 ล้านไร่ และผลผลิตรวมเป็น 11.7 ล้านตัน มณฑลกว่างตงเป็นแหล่งผลิตกล้วยที่ใหญ่ที่สุดของจีน มีผลผลิตประมาณ 4.5 ล้านตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 40 ของทั้งประเทศ รองลงมา ได้แก่ มณฑลกว่างสี ผลผลิตต่อปีอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 26.8 ของทั้งประเทศ  ต่อด้วยมณฑลฝูเจี้ยน มณฑลยูนนาน และมณฑลไหหนาน นอกจากนี้ มณฑลกุ้ยโจว มณฑลเสฉวน และ นครฉงชิ่ง ก็เริ่มมีการปลูกกล้วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พันธ์กล้วยที่ปลูกในจีน ได้แก่ กล้วยหอมคาเวนดิช (Cavendish) ร้อยละ 80 กล้วยน้ำว้า ร้อยละ 17 กล้วยไข่ ร้อยละ 2 พันธุ์อื่นๆ ร้อยละ 1 แม้ว่าในแต่ละปีจีนมีผลผลิตกล้วยจำนวนมาก แต่กลับต้องนำเข้ากล้วยมูลค่าสูงถึง 7.4 พันล้านหยวนต่อปี เนื่องจากอุปทานภายในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค แม้ว่าในปีที่ผ่านมาปริมาณการนำเข้ากล้วยของจีนจะลดลง และระดับการพึ่งพาการนำเข้าลดลงบ้าง แต่ตลาดภายในประเทศยังคงมีความต้องการกล้วยนำเข้าอย่างต่อเนื่อง กล้วยนำเข้าไม่เพียงแต่มีความได้เปรียบ         ในด้านปริมาณ แต่ยังมีคุณภาพที่ดีกว่า จึงทำให้ปริมาณการนำเข้ากล้วยของจีนสูงกว่าการส่งออกมาก

เนื่องจากกล้วยเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและอร่อย ความต้องการตลาดของกล้วยจึงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อการบริโภคพัฒนาขึ้นและมาตรฐานการครองชีพของประชาชนจีนสูงขึ้น ผู้บริโภค    จึงให้ความสำคัญกับ คุณภาพและความหลากหลาย ของกล้วยมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดมีความต้องการผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

พื้นที่ปลูกกล้วย และผลผลิตกล้วยของแหล่งผลิตสำคัญของจีนในปี 2566

ลำดับ มณฑล พื้นที่ปลูก (ไร่) ผลผลิต

 

 เมืองผลิตสำคัญ
1 กว่างตง 664,375 4.78 ล้านตัน ม่าวหมิง จ้านเจียง หุ้ยโจว เจ้าชิ่ง กว่างโจว ตงก่วน ฉาวโจว
2 เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง 496,875 3.02 ล้านตัน หนานหนิง ชินโจว ป่ายซื่อ ฉงโจว่ ยวี่หลิน หลิงซาน ผู่เป่ย
3 มณฑลหยูนหนาน 474,375 2.09 ล้านตัน หงเหอ สิบสองปันนา เหวินซาน ผู่เอ่อ
4 มณฑลห่ายหนาน 220,000 1.17 ล้านตัน เฉิงม่าย ตงฟาง เล่อตง ตานโจว ซานย่า ชางเจียง
5 มณฑลฝูเจี้ยน 78,750 0.51 ล้านตัน เมืองจางโจว(จางผู่ ผิงเหอ หนานจิ้ง ฉางไท่ จ้าวอัน หยูนเซียว หลงห่าย) เซี่ยเหมิน ผูเถียน เซียนโหยว
6 มณฑลกุ้ยโจว 58,125 91,000 ตัน จังหวัดปกครองตนเองชนชาติม้งและปู้ยี เฉียนซีหนาน
7 มณฑลเสฉวน 12,500 35,700 ตัน เมืองพานจือฮัว จังหวัดปกครองตนเองชนชาติอี๋เหลียงซาน

การบริโภคกล้วยของจีน จากข้อมูลระบุจีนบริโภคกล้วยปีละประมาณ 13-14 ล้านตัน (เท่ากับบริโภค 9.69 กิโลกรัมต่อปีต่อหัว) และยังคงเน้นบริโภคกล้วยสดเป็นหลัก (คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 90) ซึ่งมีการนำกล้วยไปแปรรูปค่อนข้างน้อย ไม่ถึงร้อยละ 10 ของผลผลิตทั้งหมด สถิติล่าสุด เดือนกรกฎาคม 2566 จีนมีจำนวนบริษัทดำเนินกิจการเกี่ยวกับการปลูกกล้วยประมาณ 9,800 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ตั้งอยู่มณฑลหยูนหนาน มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลกว่างตง และมณฑลห่ายหนานและเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และสำหรับบริษัทที่ดำเนินกิจการด้านการแปรรูปกล้วย มีเพียงประมาณ 2,500 แห่งในทั่วประเทศ (ตั้งอยู่มณฑล  ฝูเจี้ยน มณฑลหยูนหนานและมณฑลห่ายหนาน เป็นส่วนใหญ่) ซึ่งไม่ถึง 1 ใน 10 ของบริษัทที่ดำเนินกิจการปลูกกล้วยดังกล่าว

การนำเข้ากล้วยของจีน

ปี 2567 จีนนำเข้ากล้วย (HS Code 08039000 รวมกล้วยสดและแห้ง) ทั้งสิ้นประมาณ 1.69 ล้านตันจากทั่วโลก คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 6,533 ล้านหยวน และเมื่อพิจารณาจากปริมาณการนำเข้าจะพบว่า ในปี 2567 จีนนำเข้ากล้วยจากเวียดนามปริมาณมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 รองลงมา ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เอกวาดอร์ กัมพูชา ลาว เม็กซิโก และไทย ตามมาเป็นลำดับที่ 7

  • ด่านนำเข้าสำคัญของจีน ที่นำเข้ากล้วยจากไทย ในปี 2567
ด่าน ปริมาณนำเข้า

(ตัน)

อัตราการเติบโต (%) สัดส่วน

(%)

ทั่วประเทศ 4,288 -10.32 100
มณฑลกว่างตง 1,688 697.57 39.22
มณฑลหยูนหนาน 1,287 -65.43 29.83
มณฑลซานตง 585 825.18 14.51
มณฑลเสฉวน 622 244.62 14.44
มณฑลเหอเป่ย 88 1.28
  • 5 มณฑลที่มีการนำเข้ากล้วยสูงสุดของจีน

ในปี 2567 ผู้นำเข้ากล้วยของจีนกระจายอยู่ใน 19 มณฑล โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเหลียวหนิง มณฑลเจ้อเจียง มณฑลหูหนาน และมณฑลกวางตุ้ง

  • ราคากล้วยในตลาดจีน

ราคากล้วยในประเทศ

ปี 2567 ราคาขายส่งกล้วยเฉลี่ยทั่วประเทศมีความผันผวนระหว่าง 5.39-5.86 หยวน/กิโลกรัม โดยจุดสูงสุดในรอบปีอยู่ที่เดือนตุลาคม ที่ 6.65 หยวน/กิโลกรัม สูงกว่าจุดสูงสุดของปีก่อนหน้า 0.14 หยวน/กิโลกรัม ส่วนจุดต่ำสุดอยู่ที่เดือนเมษายน ที่ 5.25 หยวน/กิโลกรัม ต่ำกว่าจุดต่ำสุดปีก่อนหน้า 0.33 หยวน/กิโลกรัม

สำหรับราคาขายปลีกเฉลี่ยทั่วประเทศในช่วงเวลาเดียวกัน มีการเคลื่อนไหวระหว่าง 7.88 – 8.4 หยวน/กิโลกรัม โดยจุดสูงสุดในเดือนตุลาคม อยู่ที่ 9.1 หยวน/กิโลกรัม ต่ำกว่าปีก่อนหน้า 0.27 หยวน/กิโลกรัม และจุดต่ำสุดในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 7.73 หยวน/กิโลกรัม ต่ำกว่าปีก่อนหน้า 0.39 หยวน/กิโลกรัม

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ราคาขายส่งและขายปลีกกล้วยต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยแนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคาทั้งสองส่วนสอดคล้องกัน สะท้อนให้เห็นว่าตลอดสองปีที่ผ่านมาราคากล้วยค่อนข้างมีเสถียรภาพและอยู่ในภาวะตลาดที่ดี

ราคากล้วยนำเข้า

ตามข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีน เมื่อพิจารณาจากราคานำเข้าและส่งออกโดยเฉลี่ย ราคาส่งออกกล้วยของจีน ปี 2567 สูงกว่าราคานำเข้าอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2567 ราคานำเข้ากล้วยของจีนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3,874 หยวนต่อตัน ลดลง 12.1% จากปีก่อน และราคาส่งออกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 8,301 หยวนต่อตัน ลดลง 7.66% จากปีก่อน

โดยทั่วไปฤดูกาลที่มีความต้องการกล้วยสูงสุดคือเดือนกันยายน-เดือนพฤษภาคมของปีถัดไป ซึ่งมีการบริโภคสูงและมีราคาสูงขึ้น ในขณะที่เดือนมิถุนายน-สิงหาคมเป็นช่วงนอกฤดูกาลของความต้องการ โดยการบริโภคจะลดลงและราคามักจะลดลง

ตารางแสดงข้อมูลการนำเข้ากล้วยจากต่างประเทศของจีนปี 2566 – 2567

ข้อมูลจากตารางข้างต้นจะพบว่าในปี 2567 แหล่งนำเข้ากล้วยของจีนเรียงลำดับตามปริมาณการนำเข้า ได้ดังนี้

อันดับ 1 เวียดนาม ปริมาณ 625,166 ตัน (+23.65%) มูลค่า 1,881 ล้านหยวน (+10.33%) ในช่วง 7 ปี ที่ผ่านมา จีนนำเข้ากล้วยจากเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เวียดนามก้าวขึ้นเป็นแหล่งนำเข้ากล้วยอันดับหนึ่งของจีนในด้านปริมาณ เนื่องจากเวียดนามมีอาณาเขตติดกับจีน มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใกล้กับตลาดจีนมากกว่า จึงสะดวกต่อการส่งออก ขณะเดียวกันในปลายปี 2565 เวียดนามและจีนได้ลงนามพิธีสารว่าด้วยการส่งออกกล้วยสดไปยังจีนอย่างเป็นทางการทำให้กล้วยเวียดนามสามารถส่งออกไปยังจีนผ่านช่องทางการค้าปกติ ได้ดึงดูดให้เกษตรกรจำนวนมากหันมาขยายพื้นที่ปลูกกล้วยมากขึ้น

อันดับ 2 ฟิลิปปินส์ ปริมาณ 463,305 ตัน (-32.45%) มูลค่า 1,884 ล้านหยวน (-37.62%) (ในอดีตฟิลิปปินส์เคยเป็นแหล่งนำเข้ากล้วยอันดับหนึ่งของจีน แต่ในปี 2567 ตกลงมาอยู่อันดับสอง โดยนับตั้งแต่ ปี 2563 เป็นต้นมา ปริมาณการนำเข้ากล้วยจากฟิลิปปินส์มีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในช่วงที่   ผ่านมา ฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบจากโรคตายพรายหรือโรคเหี่ยวในกล้วย (Panama disease) สายพันธุ์ TR 4 และผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ผลผลิตลดลง ราคาสูงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันลดลง  อย่างต่อเนื่อง และประสบปัญหาการส่งออกกล้วยหดตัวลง)

อันดับ 3 เอกวาดอร์ ปริมาณ 284,408 ตัน (-6.63%) มูลค่า 1,193 ล้านหยวน (-8.57%) เอกวาดอร์เป็นประเทศส่งออกกล้วยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปี 2561 – 2567 ปริมาณการนำเข้ากล้วยจากเอกวาดอร์ของจีน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก่อนจากนั้นจึงลดลง สาเหตุเนื่องมาจากคุณภาพกล้วยของเวียดนามและกัมพูชามีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีด้านการเพาะปลูกและด้านบรรจุภัณฑ์ก็ก้าวหน้าขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ช่องว่างด้านคุณภาพเมื่อเทียบกับกล้วยเอกวาดอร์ลดลง ส่งผลให้จุดเด่นด้านคุณภาพของกล้วยเอกวาดอร์ไม่โดดเด่นเหมือนเดิม

อันดับ 4 กัมพูชา ปริมาณ 287,574 ตัน (-5.84%) มูลค่า 1,143 ล้านหยวน (-14.34%) หลังจากกัมพูชาสามารถส่งออกกล้วยไปยังจีนได้สำเร็จในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 และกลายเป็นตลาดส่งออกกล้วยสด ที่สำคัญของจีน ต่อมาปริมาณการส่งออกกล้วยของกัมพูชาลดลง เนื่องจากปัจจัยหลายประการ อาทิ   ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยกระทบต่อการหมุนเวียนทางการค้าระหว่างประเทศอย่างรุนแรง ส่งผลให้การสั่งซื้อสินค้าทุกประเภทลดลง การพัฒนาอย่างรวดเร็วด้านอุตสาหกรรมกล้วยของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กล้วยเวียดนามได้เปรียบในด้านราคา กล้วยลาวได้เปรียบในด้านการขนส่ง เป็นต้น

อันดับ 5 ลาว ปริมาณ 79,735 ตัน (+136.75%) มูลค่า 286 ล้านหยวน (73.12%) การพัฒนาอย่างรวดเร็วด้านอุตสาหกรรมกล้วยของลาว ตลอดจนความได้เปรียบในด้านการขนส่ง

สำหรับไทย อยู่ที่อันดับ 7 ปริมาณ 4,677 ตัน (-8.30%) มูลค่า 38 ล้านหยวน (-9.02%) ซึ่งลดลง ทั้งปริมาณและมูลค่า เนื่องจากหลายปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การแข่งขันจากเวียดนาม ที่เข้ามาขยายส่วนแบ่งตลาดกล้วยในจีนตั้งแต่ปี 2566 กล้วยจากมีคุณภาพที่สามารถแข่งขันได้และต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่า ส่งผลให้ไทยเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับเวียดนาม ประกอบกับจีนกระจายแหล่งนำเข้าโดยเพิ่มการนำเข้าจากลาว เม็กซิโก อินโดนีเซีย ขณะเดียวกันลดการนำเข้าจากบางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ส่งผลให้โครงสร้างตลาดเปลี่ยนแปลงและกระทบต่อการส่งออกจากไทย

 

ทั้งนี้ ปี 2568 ใน 2 เดือนแรก (มกราคม – กุมภาพันธ์)  จีนนำเข้ากล้วยมาแล้วทั้งสิ้น 301,218 ตัน  คิดเป็นมูลค่านำเข้า 1,180 ล้านหยวน โดยนำเข้าจากเวียดนามมากเป็นอันดับที่ 1 รองลงมาเป็นฟิลิปปินส์ เอกวาดอร์ กัมพูชา ลาว เม็กซิโก เมียนมา และไทย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 คาดว่าปริมาณการนำเข้ากล้วยของจีนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การผลักดันนโยบาย Belt and Road Initiatives (BRI) ที่จีนได้ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตกล้วย และ ในขณะเดียวกัน จีนมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการปลูกกล้วยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย   ซึ่งสามารถทดแทนกล้วยนำเข้าได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้งผลผลิตกล้วยของจีนก็กำลังออกสู่ต่างประเทศ ปัจจุบัน สามารถพบเห็นเกษตรกรชาวจีนเพาะปลูกกล้วยได้ในประเทศและพื้นที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ลาว เมียนมา กัมพูชา เป็นต้น

อนึ่ง ผู้บริโภคชาวจีนมีความต้องการบริโภคผลไม้หลากหลายชนิด และมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งผลไม้     ชนิดอื่นอาจจะแบ่งส่วนแบ่งการตลาดของกล้วยด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าตลาดจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร    กล้วยยังคงเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนมาก และไม่ว่าจะเป็นกล้วยผลิตในจีนหรือกล้วยนำเข้าต่างก็มีการพัฒนาทั้งคุณภาพ พันธ์ และปรับรุงระบบ Supply Chain ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งผลดีต่อตลาดกล้วยในภาพรวม

 

ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู

– การที่จีนลดปริมาณการนำเข้ากล้วยจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าตลาดจีนพึ่งพากล้วยในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ดีแต่อุปทานกล้วยที่มีคุณภาพดียังคงมีจำกัด การลดปริมาณการนำเข้าอาจส่งผลให้ราคากล้วยคุณภาพดีในตลาดปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า กล้วยคุณภาพดี มีศักยภาพอย่างมากในตลาดจีน

– เนื่องด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตและผู้บริโภคตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้น ตลาดการบริโภคกล้วย  จึงมีแนวโน้มที่จะมีความหลากหลายมากขึ้นและปรับเปลี่ยนไปสู่ระดับไฮเอนด์ ผู้บริโภคมีความต้องการคุณภาพกล้วยที่สูงขึ้น ไม่เพียงให้ความสำคัญกับรสชาติและคุณค่าทางสารอาหารเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญในด้านรูปลักษณ์และบรรจุภัณฑ์อีกด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งและควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาดกล้วย ในขณะเดียวกัน เนื่องด้วยการพัฒนาอย่างรวดเร็วในด้านอีคอมเมิร์ซและระบบโลจิสติกส์ ช่องทางการจำหน่ายแบบออนไลน์จะกลายเป็นหนึ่งในช่องทางที่สำคัญในการจำหน่ายกล้วย ซึ่งจะมอบทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นให้แก่ผู้บริโภค และเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการขยายตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ

———————————–

 

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

เมษายน 2568

แหล่งข้อมูล : สคต.กวางโจว /เซี่ยเหมิน/หนานหนิง/เฉิงตู รวบรวมโดย สคต.เฉิงตู

 

thThai