ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา พรรครัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งประกอบด้วยพรรค LDP และ Komeito สูญเสียเสียงข้างมาก และกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยทั้งในสภาสูง และสภาผู้แทนราษฎร โดยสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอิชิบะ ชิเกรุ สะท้อนจากมุมมองของภาคส่วนต่างๆ ดังนี้
ความเห็นของภาคธุรกิจ
สมาคมเศรษฐกิจคันไซ (Kansai Keizai Doyukai) เรียกร้องให้รัฐบาลแสดง “ภาวะผู้นำ” และเร่งรัดการดำเนินนโยบายเชิงโครงสร้างที่สำคัญ ดังนี้
สร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการปรับเพิ่มค่าจ้างให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ
ปฏิรูปตลาดแรงงาน โดยเร่งปรับปรุงกฎระเบียบ และโครงสร้างตลาดแรงงานให้ทันสมัยสอดรับการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยุคใหม่ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ยกเลิก หรือผ่อนปรนกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ
ปฏิรูประบบภาษี และระบบประกันสังคม ให้มีความยืดหยุ่น และความเหมาะสมกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อรองรับประชากรทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้มีการอภิปรายเชิงนโยบายโดยยึดหลักข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความขัดแย้งทางการเมือง และเน้นย้ำความสำคัญของการชี้แจงแหล่งงบประมาณอย่างโปร่งใส พร้อมกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่เสถียรภาพทางการคลังระยะยาว
ความเห็นจากภาคการเงิน และนักลงทุน
ตลาดการเงินญี่ปุ่นยังคงมีเสถียรภาพ เนื่องจากนักลงทุนมองว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปตามคาดจึงยังไม่มีความผันผวนอย่างมีนัยสำคัญในระยะสั้น โดยสถาบันการเงิน อาทิ GCI Asset Management, Nissei และบริษัทหลักทรัพย์ Mitsubishi UFJ Morgan Stanley วิเคราะห์ประเด็นที่ตลาดติดตาม และให้ความสำคัญมากกว่าผลการเลือกตั้ง คือ ทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจการคลัง โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การปฏิรูประบบภาษี และการจัดการหนี้สาธารณะ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น และการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในระยะกลาง-ยาว
ดัชนี Nikkei 225 สัปดาห์นี้ คาดการณ์การเคลื่อนไหวในกรอบ 39,000 - 40,000 เยน โดยนักลงทุนรอดูความชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของสัปดาห์ ซึ่งจะมีเหตุการณ์สำคัญ อาทิ การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และการประกาศผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะ Tesla และ Intel ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในญี่ปุ่นด้วย
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจ และตลาดทุนคาดหวังให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้ เป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินการคลัง และพร้อมรับมือกับความท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนแรงงาน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ที่มา: