fb
การนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายนฟื้นตัวเล็กน้อย

การนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายนฟื้นตัวเล็กน้อย

โดย
Pisetsako@ditp.go.th
ลงเมื่อ 14 กรกฎาคม 2568 16:45
42

สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าผ่านตู้คอนเทนเนอร์ในเดือนมิถุนายน 2568 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 2,217,675 TEUs (หน่วยตู้คอนเทนเนอร์มาตรฐาน 20 ฟุต) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากเดือนพฤษภาคม 2568 แต่ต่ำกว่าระดับของเดือนมิถุนายนในปีที่ผ่านมาซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 

สำหรับการนำเข้าจากจีนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมายังคงซบเซาเช่นกัน อยู่ที่ 639,300 TEUs เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.4 นับตั้งแต่สหรัฐฯ กับจีนได้มีการพักสงบศึกทางการค้าเป็นระยะเวลา 90 วัน ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม และกำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 10 สิงหาคม 2568 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากอัตราภาษีนำเข้าจากจีนที่สูงขึ้น และการยกเลิกข้อยกเว้น de minimis (การยกเว้นภาษีสำหรับสินค้ามูลค่าไม่เกิน 800  เหรียญสหรัฐ)    

หมวดสินค้านำเข้าหลักจากจีนในเดือนมิถุนายน ได้แก่ 

  • เฟอร์นิเจอร์และเครื่องนอน (HS-94) จำนวน 96,347 TEUs ลดลงร้อยละ 36.9 เมื่อเทียบกับ เดือนมิถุนายนปีก่อน 

  • พลาสติก (HS-39) จำนวน 87,454 TEUs ลดลงร้อยละ 17.6

  • เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และหม้อไอน้ำ (HS-84) จำนวน 66,152 TEUs ลดลงร้อยละ 31.8   สินค้าเครื่องจักรไฟฟ้า (HS-85) ลดลงร้อยละ 33.7  

  • ของเล่น เกม และอุปกรณ์กีฬา (HS-95) ลดลงร้อยละ 27.1 

  • สินค้ายานยนต์ (HS-87) ลดลงร้อยละ 31.7 

  • สิ่งทอ (HS-63) เสื้อผ้า (HS-61-62) และรองเท้า (HS-64) ลดลงมากกว่าร้อยละ 18–29 

การนำเข้าของสหรัฐฯ จาก 10 ประเทศในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.3 หรือ 19,544 TEUs เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมีเวียดนาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 เพิ่มขึ้น 19,516 TEUs ตามด้วย อินโดนีเซีย (ร้อยละ 17.3)  ไทย (ร้อยละ 8.6) และอิตาลี (ร้อยละ 9.0) เยอรมนีและไต้หวันเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 2.6 เท่ากันซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่บางประเทศกลับมีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น เกาหลีใต้ ลดลงร้อยละ 12.5 และอินเดีย ลดลงร้อยละ 9.6  ส่วนญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 3.0  

อย่างไรก็ตาม การค้าทั่วโลกยังคงต้องเผชิญกับความตึงเครียดทั้งจากเรื่องอัตราภาษี และความไม่แน่นอนในการเจรจาการค้าก็ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนด้านห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการขนส่งผ่านทะเลแดงยังคงถูกรบกวน และสถานการณ์ถูกซ้ำเติมด้วยความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล ส่งผลให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางขนส่งที่มีต้นทุนสูงขึ้น และใช้ระยะเวลานานขึ้น   

 

ข้อคิดเห็น

 

การนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการนำเข้าของสหรัฐฯ และผู้นำเข้าสหรัฐฯ เริ่มมีการปรับตัวกับห่วงโซ่อุปทานท่ามกลางความผันผวนทางการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยด้านการเร่งการนำเข้าเพื่อเก็บเป็นสินค้าคงคลังในขณะที่อัตราภาษีร้อยละ 10 ยังคงมีผลบังคับใช้ก่อนการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สะท้อนถึงการปรับโครงสร้างทางการค้าโลกและห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากธุรกิจสหรัฐฯ กำลังตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงด้านภาษี และแรงกดดันด้านต้นทุน แม้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ จะพยายามปรับห่วงโซ่อุปทานอย่างช้า ๆ ภายใต้แรงกดดันจากภาษีที่ยังคงสูง และความพยายามกระจายแหล่งนำเข้า  

          ผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยด้วยอัตราภาษีร้อยละ 36 ทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่าง เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนิเซีย ฟิลลิปปินส์ ซึ่งมีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า สินค้าส่งออกหลักของไทยในตลาดสหรัฐฯ ที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ 1. กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์  อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ เครื่องปรับอากาศ 2. กลุ่มยานยนต์ (ยางรถยนต์ ส่วนประกอบ และอุปกรณ์ยานยนต์)  3. กลุ่มอาหาร สินค้าเกษตร ข้าว อาหารกระป๋อง 4. เครื่องแต่งกาย 5.  ยางธรรมชาติ 

Weekly News-การนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายนฟื้นตัวเล็กน้อย.pdf
Share :
Instagram