เมื่อเช้าวันพุธที่ 2 กรกฎาคม 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์โพสต์ผ่านสื่อ Truth Social แจ้งว่า เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะประกาศว่า สหรัฐฯ ได้บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม หลังจากได้พูดคุยกับนาย To Lam เลขาธิการใหญ่ผู้ทรงเกียรติของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามโดยข้อตกลงครั้งนี้นับเป็นความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ระหว่างสองประเทศ
ตามข้อตกลงเวียดนามจะต้องจ่ายภาษีสำหรับสินค้าทุกชนิดที่ส่งเข้ามาในสหรัฐฯ ในอัตราภาษีร้อยละ 20 และร้อยละ 40 สำหรับสินค้าที่ส่งผ่าน (Transshipping) โดยก่อนหน้านี้เวียดนามต้องเสียภาษีถึงร้อยละ 46 และเป็นข้อตกลงที่เวียดนามไม่เคยทำมาก่อน โดยการเปิดตลาดการค้าอย่างเต็มรูปแบบให้แก่สหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ สามารถส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในเวียดนามโดยไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างไร (Zero Tariff)
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้แจ้งในสื่อ Truth Social ว่า โดยมีความเห็นว่า รถยนต์ประเภท SUV หรือรถเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ เป็นรถที่ได้รับความนิยมและเป็นตลาดที่ขายดีในสหรัฐฯ จะเป็นการเพิ่มตลาดที่ขายดีในเวียดนาม
ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ส่งสัญญาณว่า อาจจะเพิกเฉย หรือ มีการแก้ไขเส้นตายที่กำลังจะมาถึงสำหรับการกลับมาใช้ภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs) ที่สูงขึ้น โดยก่อนหน้านี้ได้ประกาศชะลอการใช้มาตรการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 90 วัน ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน เพื่อลดแรงกดดันให้กับประเทศต่าง ๆ โดยให้มีเวลาในการเจรจาต่อรองข้อตกลงกับสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลทรัมป์ได้บรรลุกรอบข้อตกลงทางการค้าใหม่กับจีนและสหราชอาณาจักร
สำหรับภาคการส่งออกของเวียดนามในปีที่ผ่านมา มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของ GDP ซึ่งถือเป็นประเทศที่เปราะบางเป็นพิเศษต่อมาตรการภาษีของทรัมป์
อย่างไรก็ดี ข่าวดังกล่าวทำให้ดัชนี S&P 500 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่บริษัทที่พึ่งพากำลังการผลิตในเวียดนาม เช่น สินค้าเสื้อผ้า อาจจะต้องเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้นจากภาษีนำเข้าใหม่
ข้อคิดห็น
1. หากข้อตกลงของไทยเป็นการเสียภาษีที่ต่ำกว่าเวียดนาม จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าจากไทย แต่หากเสียภาษีที่สูงกว่าเวียดนาม จะทำให้ไทยเสีย เปรียบและเสียส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ
2. ข้อตกลงการค้าของสหรัฐฯ และเวียดนามเป็นทั้ง “ภัยคุกคาม” และ “โอกาส” สำหรับไทย โดยขึ้นอยู่กับความสามารถของภาครัฐและภาคเอกชนไทยในการปรับตัว ดึงดูดการลงทุน และรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
3. ไทยอาจถูกจับตามองเรื่อง Transshipping เช่นเดียวกับเวียดนาม โดยเฉพาะกรณีสินค้าจีนเปลี่ยนเส้นทางผ่านไทยก่อนเข้าสหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจสอบ และกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ