fb
กลุ่มผู้ผลิตอาหารทะเลในสหรัฐฯ ยื่นคำร้องต่อ USTR ให้เปิดการสอบสวนสำหรับอาหารทะเลนำเข้า

กลุ่มผู้ผลิตอาหารทะเลในสหรัฐฯ ยื่นคำร้องต่อ USTR ให้เปิดการสอบสวนสำหรับอาหารทะเลนำเข้า

โดย
Pisetsako@ditp.go.th
ลงเมื่อ 18 กรกฎาคม 2568 15:00
11

กลุ่มผู้ผลิตอาหารทะเลในสหรัฐฯ ประกอบด้วย กลุ่มพันธมิตรกุ้งภาคใต้ (Southern Shrimp Alliance หรือ SSA)  สมาชิกอุตสาหกรรมกุ้งน้ำจืด (crawfish) คณะกรรมาธิการอวนลากของรัฐออริกอน (Oregon Trawl Commission หรือ OTC)  ได้ร่วมกันยื่นคำร้องต่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (U.S. Trade Representative-USTR) เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 ให้เปิดการสอบสวนภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 301 ประเด็นการใช้ยาปฏิชีวนะ และยาสัตวแพทย์ที่ไม่ได้รับอนุญาตในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของ 4 ประเทศที่ส่งออกมายังสหรัฐฯ ซึ่งได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม

   อนึ่ง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) ลงวันที่ 17 เมษายน 2568 เรื่อง การฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารทะเลสหรัฐฯโดยระบุว่า นโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ คือ การปกป้องตลาดอาหารทะเลจากการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศ และได้สั่งให้สำนัก USTR ตรวจสอบแนวปฏิบัติด้านการค้าของประเทศผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ และหากพบว่ามีการค้าที่ไม่             เป็นธรรมให้ดำเนินการผ่านการเจรจา หรือกลไกบังคับใช้ทางการค้า และสามารถใช้กฎหมายการค้ามาตรา 301 แห่งพระราชบัญญัติการค้า พ.ศ. 2517 (19 U.S.C. 2411) ได้ 

     SSA ได้ระบุว่า ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่อุตสาหกรรมกุ้งของสหรัฐฯ ได้มีการบันทึกการใช้ยาปฏิชีวนะต้องห้ามอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งของต่างประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่ทำการละเมิดการใช้ยาปฏิชีวีนะเป็นประจำกลับกลายเป็นผู้ครองตลาดในสหรัฐฯ  โดยผู้ผลิตกุ้งเลี้ยงในต่างประเทศมี        การลดต้นทุนการผลิตด้วยวิธีการใช้ยาปฏิชีวนะ และยาสัตวแพทย์ที่เป็นอันตราย ซึ่งยาเหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคที่มากับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้ง อีกทั้งเป็นยาที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของกุ้งในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม       การใช้ยาที่ถูกห้ามนี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่ได้รับการเปิดเผยต่อผู้บริโภคชาวอเมริกัน และเป็นการบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในสินค้าอาหารทะเลที่จำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ 

  การใช้ยาปฏิชีวนะต้องห้ามในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของต่างประเทศถือเป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดในสหรัฐฯ ทั้งโดยการกระตุ้นให้นำเข้าอาหารทะเลต่างประเทศในราคาถูกที่มีสารปนเปื้อน และทำให้ผู้ประกอบการอาหารทะเลในสหรัฐฯ ต้องปิดกิจการลง

     ตัวอย่างเช่น ยาปฏิชีวนะคลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol) ซึ่งเป็นยาต้องห้ามที่ยังคงถูกใช้ในการเพาะเลี้ยงกุ้ง สามารถก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตต่อประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มีความผิดปกติของเลือดบางชนิด ยาสัตวแพทย์ต้องห้ามอื่น ๆ ยังมีฤทธิ์ก่อมะเร็ง หรือทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีน นอกจากนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยา                           (antimicrobial resistance) อย่างแพร่หลายอีกด้วย

      เนื่องจากยาสัตวแพทย์เหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งในสหรัฐอเมริกา จึงไม่มีการพบยาดังกล่าวในอาหารทะเลที่ผลิตในสหรัฐฯ  ไม่ว่าจะมาจากการเพาะเลี้ยง หรือการจับจากธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดสหรัฐฯ มีอาหารทะเลนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ประเทศที่ไม่สามารถควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะที่เป็นอันตรายได้ ยังคงส่งอาหารทะเลที่ปนเปื้อนจำนวนหลายล้านปอนด์มาสู่ผู้บริโภค           ชาวอเมริกันในแต่ละปี อีกทั้งประเทศเหล่านี้ได้สร้างแรงกดดันให้กับผู้ผลิตอาหารทะเลจากประเทศอื่น ๆ ที่ต้องใช้ยาต้องห้ามตามแบบอย่างไปด้วยเพื่อความได้เปรียบทางการแข่งขันด้านต้นทุน จนนำไปสู่คุณภาพถดถอยลดลงระดับต่ำ

 ในปัจจุบันการนำเข้าอาหารทะเลของสหรัฐฯ มาจาก จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งรวมกันมีสัดส่วนเกือบหนึ่งในสามของมูลค่าการนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอินเดียและเวียดนามครองส่วนแบ่งปริมาณการนำเข้ากุ้งของสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 48  ทั้งนี้ อุตสาหกรรมกุ้งในอินเดีย และเวียดนามยังคงมีการใช้ยาต้องห้ามอย่างต่อเนื่อง 

    กลุ่มพันธมิตรกุ้งภาคใต้ (SSA) ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการปฏิเสธสินค้าขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) อย่างสม่ำเสมอ โดยมุ่งเน้นที่กุ้งนำเข้าจากต่างประเทศที่ถูกห้ามเนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะ จากการวิเคราะห์ของ SSA พบว่า ในปี 2567 การปฏิเสธการนำเข้ากุ้งจากฟาร์มที่ตรวจพบยาปฏิชีวนะที่ถูกห้ามใช้ อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 8 ปี และนับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือ FDA ได้มีการปฏิเสธการนำเข้ากุ้งจากอินเดีย และเวียดนามหลายครั้ง เนื่องจากตรวจพบยาสัตวแพทย์ต้องห้ามคิดเป็น        ร้อยละ 63  (มีจำนวน 147 รายการจาก 235 รายการ) นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นและ EU ได้มีการปฏิเสธการนำเข้ากุ้งจากอินเดีย และเวียดนาม ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกัน   

 การใช้ยาสัตวแพทย์ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงของอินเดียและเวียดนามยิ่งทวีความรุนแรง และเป็นภัยคุกคามต่อผู้บริโภคชาวอเมริกัน สหภาพยุโรปได้มีมาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมปัญหาดังกล่าว โดยกำหนดให้มีการทดสอบร้อยเปอร์เซนต์ในกุ้งจากสองประเทศนี้ก่อนที่จะสามารถส่งออกมายังกลุ่มประเทศ EU  และเนื่องจากกุ้งจากอินเดียยังไม่ผ่านมาตรฐานในอัตราที่น่าพอใจ EU จึงมีการดำเนินมาตรการตรวจสอบซ้ำอีกก่อนจะอนุญาตให้มีการนำเข้า ในขณะที่ FDA ของสหรัฐฯ ยังไม่มีมาตรการเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยของกุ้งจากอินเดีย และเวียดนามดังเช่น EU  ทั้งนี้เคยมีนักข่าวสายสืบสวนได้มีการบันทึกไว้ว่า กุ้งที่ตรวจพบว่าปนเปื้อนยาปฏิชีวนะต้องห้ามก่อนการส่งออกมักถูกเบี่ยงเส้นทางส่งมายังตลาดสหรัฐอเมริกาแทน

 จากการที่จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนามไม่สามารถบังคับใช้ข้อห้ามในการใช้ยาสัตวแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศเหล่านี้จึงเปิดช่องให้ผู้ส่งออกของตนหลีกเลี่ยงกฎระเบียบที่ผู้ผลิตในสหรัฐฯ ต้องแบกรับ ผลที่ตามมา คือ ผู้ผลิตอาหารทะเลในสหรัฐฯ ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานระดับสูงกว่า และมีต้นทุนสูงกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งในต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ผลิตสหรัฐฯ เสียเปรียบการแข่งขันด้านราคา และยอดขาย ขณะที่ปัจจุบันการนำเข้าอาหารทะเลของสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 90 ของอาหารทะเลที่มีการบริโภคในสหรัฐอเมริกา

 

ข้อคิดเห็น 

หากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) รับคำร้องและเปิดการสอบสวนภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 301 จะเป็นการสร้างแรงกดดันด้านการค้าเพิ่มขึ้นต่อ จีน อินเดีย อินโดนิเซีย และเวียดนาม และหากผลการสอบสวนออกมาตามคำร้องเรียน USTR จะพยายามเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อแก้ไขปัญหา หากการเจรจาล้มเหลว USTR สามารถใช้มาตรการตอบโต้ได้ เช่น การเก็บอัตราภาษีนำเข้าสูงขึ้น การกำจัดการนำเข้า และ FDA เพิ่มการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น (การกักสินค้า หรือการตรวจสอบซ้ำ) ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการสะดุดในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลส่งออกไปสหรัฐฯ และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และผู้นำเข้าที่ต้องหาคู่ค้ารายใหม่ที่สินค้าได้คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย 

แม้ว่าการเจรจาข้อตกลงอัตราภาษีนำเข้าของไทยและสหรัฐฯ ยังไม่ได้ข้อสรุป  ทั้งนี้ วิกฤตของประเทศคู่แข่งขันในประเด็นการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหารทะเลส่งออก ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ควรพิจารณา 

1. การรักษาภาพลักษณ์และมาตรฐานอย่างเคร่งครัดในการควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัย การมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน (Traceability)  ซึ่งสามารถใช้เป็นจุดขายเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งซึ่งผู้นำเข้าสหรัฐฯ อาจหันมานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น และพร้อมจ่ายในราคาสูงกว่าเพื่อแลกกับมาตรฐานความปลอดภัย

2.  การเตรียมรับมือกับการตรวจสอบเข้มแบบเหมารวมที่อาจกระทบต่อสินค้าอาหารทะเลจากไทย

3.  ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับกลยุทธ์การส่งออกให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง

4. ผู้ประกอบการไทยอาจใช้การสื่อสารกับผู้นำเข้าสหรัฐฯ ในเชิงรุก ถึงคุณภาพของสินค้าไทย 

 

Weekly News_กลุ่มผู้ผลิตอาหารทะเลในสหรัฐฯ ยื่นคำร้องต่อ USTR ให้เปิดการสอบสวนสำหรับอาหารทะเลนำเข้า.pdf
Share :
Instagram