fb
ทรัมป์เดินหน้าอัตราภาษี กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เดินหน้าแผนยุทธศาตร์ใหม่เชิงรุก

ทรัมป์เดินหน้าอัตราภาษี กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เดินหน้าแผนยุทธศาตร์ใหม่เชิงรุก

โดย
Pisetsako@ditp.go.th
ลงเมื่อ 09 กรกฎาคม 2568 14:45
30

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขยายเส้นตายการเก็บอัตราภาษีศุลากรฉบับใหม่ ที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568  เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2568 พร้อมกับได้มีการส่งจดหมายไปยัง 14 ประเทศเมื่อวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2568 ระบุการจัดเก็บอัตราภาษีใหม่ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 25 – 40 ซึ่งจะมีผลใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 หากยังไม่มีข้อตกลงเป็นที่สรุป โดยในเนื้อความของจดหมายที่จัดส่งไป มีการเก็บภาษีร้อยละ 25 สำหรับประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย คาซัคสถาน และตูนิเซีย ซึ่งญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ สำหรับสินค้ายานยนต์และเทคโนโลยี ส่วนเกาหลีใต้ มีการวางแผนเร่งการเจรจา ในขณะที่ญี่ปุ่นยังไม่มีการแสดงท่าทีใด ๆ และร้อยละ 30 -36 สำหรับประเทศแอฟริกาใต้ บอสเนีย อินโดนีเซีย บังกลาเทศ เซอร์เบีย ไทย กัมพูชาและร้อยละ 40 สำหรับเมียนมา ลาว  ส่วนภาษีสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมในปัจจุบันอยู่ที่อัตราร้อยละ 50 ภายใต้มาตรา 232 จะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป แต่จะไม่ถูกนำมารวมกับอัตราภาษีใหม่ ทั้งนี้ ภาษีเฉพาะในบางอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน ไม่ถูกนำมาใช้ในทันที อีกทั้ง ทรัมป์ได้โพสต์ลงในสื่อ Truth Social ว่า หากประเทศใดมีการตอบโต้ภาษีกับสหรัฐฯ  สหรัฐฯ จะจัดการโต้ตอบในรูปภาษีต่อภาษีเช่นกัน

       ไทย ได้มีการเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษีร้อยละ 36 ด้วยการยื่นข้อเสนอการลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยให้คำมั่นว่า จะขยายการเข้าถึงตลาดสำหรับสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ และเพิ่มการนำเข้าสินค้าพลังงาน รวมทั้งการซื้อเครื่องบินโบอิ้งเพิ่มเติม ซึ่งเป็นความพยายามของไทยในการลดดุลการค้าที่ไทยเกินดุลสหรัฐฯ อยู่ประมาณ 46 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้ลดลงร้อยละ 70 ภายในเวลา 5 ปี

          สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย คิดเป็นร้อยละ 18 ของการส่งออกทั้งหมด โดยในช่วงที่มีการเรียกเก็บอัตราภาษี ทำให้มีการเร่งคำสั่งซื้อล่วงหน้าซึ่งผลักดันให้ยอดการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 ตั้งแต่ต้นปีนี้  หากไทยถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 36 จะทำให้จีดีพีลดลงอย่างน้อย 1 จุดเปอร์เซ็นต์ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนสูงและกำลังบริโภคภายในประเทศที่มีความอ่อนแอ  

       ไต้หวัน ได้มีการส่งทีมเจรจาชุดใหม่ไปสหรัฐฯ เพื่อดำเนินการเจรจาในโค้งสุดท้าย เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีร้อยละ 32 และจากรายงานของสำนักข่าว Liberty Times ของไต้หวัน การเจรจาในครั้งนี้ ไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ และรัฐบาลไต้หวันได้ปฏิเสธให้รายละเอียด โดยอ้างว่า เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นอ่อนไหว คณะเจรจาชุดใหม่นี้มีลักษณะเชิงเทคนิคมากขึ้น และเน้นเป้าหมายเฉพาะจุดมากกว่าคณะก่อนหน้า 

     อินโดนีเซีย  การส่งออกน้ำมันปาล์มไปยังสหรัฐฯ จะลดลงสูงสุดถึงร้อยละ 20  หากกรุงวอชิงตันเดินหน้ากับข้อเสนอการเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 32 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้กับมาเลเซีย คู่แข่งหลักของอินโดนีเซีย ที่สามารถขยายตลาดในสหรัฐฯ ได้มากขึ้น เนื่องจากมาเลเซียเสียภาษีเพียงร้อยละ25 ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็น ผู้จัดส่งน้ำมันปาล์มคิดเป็นร้อยละ 85 ของการนำเข้าน้ำมันปาล์มของสหรัฐฯ  

 ในขณะที่ทรัมป์ได้ประกาศความเคลื่อนไหวการจัดเก็บอัตราภาษีกับประเทศคู่ค้า กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA)  ได้มีการเปิดเผยแผนยุทธศาสตร์ใหม่เชิงรุก โดยนายบรูค โรลรินส์ (Brooke Rollins) รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการที่ปกป้อง และสร้างความมั่นคงของระบบอาหารและการเกษตรของสหรัฐฯ โดยประกาศว่า ความมั่นคงของเกษตรกร  คือ  ความมั่นคงของชาติ

แผนยุทธศาสตร์เชิงรุกที่ระบุไว้ ได้แก่ 

การรักษาที่ดินทำกิน  ที่ดินที่เป็นของชาวต่างชาติโดยเฉพาะผู้ที่มาจากประเทศที่เป็นปัญหาหรือประเทศคู่แข่งทางการเมืองกับสหรัฐฯ ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในอนาคต กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) จะดำเนินการปฏิรูปอย่างเข้มข้น เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและควบคุม         การเป็นเจ้าของที่ดินโดยชาวต่างชาติให้เข้มงวดขึ้น รวมถึงการเปิดตัวเวปไซด์ใหม่ทางออนไลน์

การเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน USDA จะจัดทำรายชื่อวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีความสำคัญ  เช่น ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ และแร่ธาตุ ซึ่งจำเป็นต่อความมั่นคงภายในประเทศ  และจะทำการประเมินความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งจัดการซ้อมแผนสถานการณ์ รวมถึง “การวางแผนในภาวะสงคราม”

การต่อสู้กับการทุจริตในโครงการ SNAP (Supplemental Nutrition Assistance Program ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารสำหรับผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการ EBT Card เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถซื้ออาหารที่จำเป็นจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ) หน่วยงานได้ให้คำมั่นว่าจะป้องกันการทุจริตในรูปแบบการแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการ

     การปกป้องงานวิจัยและนวัตกรรม การรักษาความปลอดภัยของงานวิจัยทางการเกษตร จากอิทธิพลของต่างชาติ การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับถ่ายโอนทางเทคโนโลยี และภัยคุกคามจากการก่อการร้ายทางการเกษตร การใช้เงินกองทุนภาษีไปกับงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การมุ่งเน้นสนับสนุนเกษตรกรชาวอเมริกันเป็นอันดับแรก และส่งเสริมนวัตกรรมทางธุรกิจของสหรัฐฯ

           การปกป้องสุขภาพของพืชและสัตว์ โดยการทำงานร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการตรวจจับ บรรเทา และตอบสนองต่อภัยคุกคาม เช่น ศัตรูพืชที่รุกรานและโรคสัตว์ รวมถึงให้ความร่วมมือกับ DARPA (Defense Advanced Research Projects Agency) เพื่อรับรองว่า โครงการเกษตรกรรมที่สนับสนุนจะช่วยส่งเสริมความพร้อมทางทหาร การปกป้องพืชและสัตว์ของสหรัฐฯ และเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทาง    การเกษตร

         การปกป้องโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ  USDA จะเพิ่มความร่วมมือด้านการป้องกันทางไซเบอร์ และการฝึกอบรมธุรกิจทางการเกษตร เพื่อปกป้อง และขยายความแข็งแกร่ง และความยั่งยืนของระบบอาหารของสหรัฐฯ โดยทำงานร่วมกับผู้ว่าการรัฐ สมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐ และพันธมิตรอื่น ๆ อย่างใกล้ชิดมากขึ้น 

 

ข้อคิดเห็น

นอกจากประธานาธิบดีทรัมป์จะเร่งเดินหน้ากับการจัดเก็บอัตราภาษีกับประเทศคู่ค้าเพื่อลดการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ แล้ว ในขณะเดียวกัน แผนปฏิบัติการใหม่เชิงรุกของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) สะท้อนให้เห็นถึง การให้ความสำคัญของภาคการเกษตร และการเตรียมความพร้อมในการปกป้อง และสร้างความั่นคงของระบบอาหาร และการเกษตรของสหรัฐฯ รวมทั้งการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญกับนโยบาย Make Agriculture Great Again กับเกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์ และผู้บริโภคชาวอเมริกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมความมั่งคั่งทางเกษตร และเศรษฐกิจ และเป็นการตอบรับกับนโยบาย ‘America First’  อีกทั้ง USDA ได้ให้คำมั่นว่า เงินทุนทั้งหมดของ USDA จะได้รับการจัดลำดับความสำคัญ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมที่ทำการผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกา 

การเก็บอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 36 กับสินค้าจากประเทศไทย เริ่มในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 หากยังไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาข้อแลกเปลี่ยนเพื่อลดอัตราภาษีลงสินค้าไทยจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดสหรัฐฯได้ เนื่องจากสูงกว่าคู่แข่งขัน ทั้งในสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร รวมทั้งกลุ่มสินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูป ซึ่งมี ข้าวหอมมะลิ อาหาร/ผลไม้กระป๋อง ซอส เครื่องปรุง น้ำผลไม้ ฯลฯ   

 

 

Weekly News_USDA เดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ใหม่เชิงรุก 3 แผ่น.pdf
Share :
Instagram