กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้ปรับปรุง “เกณฑ์แนะนำปริมาณสารอาหารของคนญี่ปุ่น” เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี (“เกณฑ์แนะนำปริมาณสารอาหารของคนญี่ปุ่น” คือเกณฑ์ที่กำหนดปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ควรได้รับอย่างละเอียด เพื่อส่งเสริมและรักษาสุขภาพของประชาชน โดยจะมีการปรับปรุงทุกๆ 5 ปี) ซึ่งคาดการณ์ได้ว่า อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการวิจัยพัฒนาสินค้าและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านการบริโภค โดย “เกณฑ์แนะนำปริมาณสารอาหารของคนญี่ปุ่น (ฉบับปี 2568)” ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ได้เพิ่มมุมมองเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนและภาวะเปราะบาง (Frailty)
(Frailty คือภาวะที่ร่างกายและจิตใจเสื่อมถอยตามอายุ อยู่ในช่วงก้ำกึ่งระหว่างภาวะที่สุขภาพดีและภาวะที่ต้องการการดูแล) เข้าไปด้วย โดยในการปรับปรุงครั้งนี้ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของสารอาหารที่จำเป็นต่อการป้องกันโรคและภาวะต่างๆ ได้แก่ โปรตีน แคลเซียม และวิตามินดี นอกจากนี้ ปริมาณการบริโภคใยอาหารต่อวันก็ได้ถูกปรับเพิ่มขึ้นจาก 21 กรัมเป็น 25 กรัม
หลังจากการปรับปรุงนี้ ผู้ค้าส่งรายใหญ่รายหนึ่งกล่าวว่า “มีคำขอให้พัฒนาสินค้าตามเกณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้น” ในการเจรจาทางธุรกิจกับแบรนด์ของร้านค้าปลีกรายใหญ่ (Private Brand) รวมถึงเริ่มมีการเคลื่อนไหวจากผู้ผลิตธัญพืช ซึ่งได้นำเสนอวิถีชีวิตที่ช่วยเสริมใยอาหารจากธัญพืชต่างๆ ผู้ค้าส่งบางรายก็เริ่มวางแผนออกแบบจุดขายที่เน้นสินค้าประเภทแคลเซียมและใยอาหาร ซึ่งดูเหมือนว่า การปรับปรุงเกณฑ์ในครั้งนี้ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างต่อพฤติกรรมการบริโภคและสินค้าขายดี
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
การปรับปรุงเกณฑ์แนะนำปริมาณสารอาหารในครั้งนี้สะท้อนถึงโครงสร้างสังคมสูงวัยระดับยิ่งยวดของญี่ปุ่น โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุเข้าสู่ภาวะต้องการการดูแล คือ การหกล้มและอุบัติเหตุ ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากโรคกระดูกพรุนหรือภาวะเปราะบาง (Frailty) ดังนั้น การปรับปรุงครั้งนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อยืดอายุสุขภาพของผู้สูงอายุ และยกระดับการตระหนักรู้ด้านสุขภาพในกลุ่มวัยกลางคน โดยการพัฒนาสินค้าที่อิงกับเกณฑ์ใหม่นี้ คาดว่าจะกลายเป็นหนึ่งในเทรนด์ของตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ (functional food) ในญี่ปุ่น
ในปี 2567 ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพในญี่ปุ่นมีมูลค่าสูงถึง 727.4 พันล้านเยน (ประมาณ 1.82 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 จากปีก่อน โดยความต้องการที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ อย่างผลิตภัณฑ์ Yakult 1000 เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโต มีการคาดการณ์ว่าตลาดนี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต และเนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกอาหารไปญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก จึงอาจเกิดความต้องการในการพัฒนาสินค้า Private Brand ที่สอดคล้องกับเกณฑ์ใหม่นี้
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ The Japan Food Journal ฉบับวันที่ 2 เมษายน 2568