fb
“กัมพูชา–สหรัฐฯ เดินหน้าเจรจาเรื่องภาษี รอบที่ 3 เห็นพ้องยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมในรอบถัดไป”

“กัมพูชา–สหรัฐฯ เดินหน้าเจรจาเรื่องภาษี รอบที่ 3 เห็นพ้องยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมในรอบถัดไป”

โดย
Nirawatr@ditp.go.th
ลงเมื่อ 03 กรกฎาคม 2568 14:00
32

หน่วยงานโฆษกของรัฐบาลกัมพูชา ได้รายงานผลการเจรจาเรื่องภาษี รอบที่ 3 ระหว่างกัมพูชา-สหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2568 ณ สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา โดยมี H.E. Mr. Sun Chanthol รองนายกรัฐมนตรี และรองประธานคนที่หนึ่งของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) พร้อมด้วย H.E. Mrs. Cham Nimul รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้นำฝ่ายกัมพูชา ขณะที่ฝ่ายสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมี Ms. Sarah Ellerman, Assistant U.S. Trade Representative for Southeast Asia and the Pacific เป็นหัวหน้าคณะผู้แทน

ในการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความชื่นชมต่อความคืบหน้าเชิงบวกจากการเจรจาในรอบที่ผ่านมา และตกลงที่จะส่งข้อเสนอเพิ่มเติม พร้อมยืนยันความพร้อมในการเจรจาในรอบถัดไป โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการแสวงหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ

ความเห็นของสำนักงานฯ

1. รัฐบาลกัมพูชา มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเจรจากับสหรัฐฯ เรื่องภาษีศุลกากร ซึ่งล่าสุดเป็นการเจรจารอบที่ 3 และคาดว่า รัฐบาลกัมพูชาพยายามเร่งให้บรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ก่อนที่มาตรการระงับการเก็บภาษี 90 วัน จะสิ้นสุดในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568

2. ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญของกัมพูชา ความคืบหน้าในการเจรจาอาจส่งผลเชิงบวกต่อการค้าระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยที่มีฐานการผลิตในกัมพูชา โดยเฉพาะในภาคสิ่งทอ ควรติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด พร้อมประเมินความเสี่ยง และกระจายความเสี่ยง โดยพิจารณาการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เช่น ไทย ลาว และเวียดนาม เพื่อลดการพึ่งพาตลาดเดียว

3. ข้อมูลจากกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชาระบุว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 (มกราคม–พฤษภาคม) มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ อยู่ที่ 4.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกัมพูชาส่งออกคิดเป็นมูลค่า 4.35 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าจากสหรัฐฯ อยู่ที่ 120 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า 4.23 พันล้านดอลลาร์

4. ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องประดับจากผ้าเย็บด้วยเข็มมากที่สุดจากกัมพูชา มูลค่า 967.43 ล้านดอลลาร์ รองลงมาคือสินค้าประเภทเครื่องหนัง ขนสัตว์ อุปกรณ์เดินทาง และกระเป๋า มูลค่า 645.18 ล้านดอลลาร์ ขณะที่หมวดอื่นๆ รวมมูลค่า 2.74 พันล้านดอลลาร์

ที่มา: Fresh News & General Department of Customs and Excise

กรกฎาคม 2568

07-01-25 กัมพูชา–สหรัฐฯ เดินหน้าเจรจาเรื่องภาษี รอบที่ 3 เห็นพ้องยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมในรอบถัดไป.pdf
Share :
Instagram