fb
เวียดนามเร่งเจาะตลาดฮาลาลหลังลงนามความตกลงกับตะวันออกกลาง  หวังดันสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปสู่ตลาดมุสลิมโลก

เวียดนามเร่งเจาะตลาดฮาลาลหลังลงนามความตกลงกับตะวันออกกลาง หวังดันสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปสู่ตลาดมุสลิมโลก

โดย
Trann@ditp.go.th
ลงเมื่อ 04 กรกฎาคม 2568 21:28
17
  1. เนื้อข่าว 

    การลงนามความตกลงความร่วมมือทางการค้า (Trade Cooperation Agreements) ระหว่างเวียดนามกับประเทศในตะวันออกกลางเมื่อช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา ได้เปิดประตูสู่โอกาสใหม่
    ในการส่งออกสินค้าเวียดนามเข้าสู่ตลาดฮาลาล ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศมุสลิมที่มีประชากรรวมกันถึงหนึ่งในสี่ของประชากรโลก สร้างแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กับธุรกิจเวียดนาม โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

    image.png

    นาย Phung Duc Tien รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมของเวียดนาม กล่าวว่า สินค้าที่จะเข้าสู่ตลาดฮาลาลจำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะสินค้าอาหารและเครื่องสำอาง ขณะเดียวกัน ความต้องการสินค้านำเข้าในประเทศมุสลิมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับสินค้าการเกษตร สัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์แปรรูปของเวียดนามที่ต้องการขยายตลาดสู่กลุ่มผู้บริโภคใหม่

    ผู้ประกอบการเวียดนามจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ กำลังเร่งดำเนินการเพื่อเข้าสู่ตลาดฮาลาล ทั้งในด้านการปรับปรุงกระบวนการผลิต การนำเทคโนโลยีที่จำเป็นมาใช้ และการขอการรับรองที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวและการเตรียมความพร้อมของภาคเอกชนเวียดนามในการเจาะตลาดนี้

    นาง To Thi Tuong Lan รองเลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลเวียดนาม (Vietnam Association of Seafood Exporters and Producers: VASEP) เปิดเผยว่า บริษัทเวียดนามจำนวนมากกำลังพยายามกระจายตลาดส่งออกเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดเดิม โดยหลายบริษัทได้เริ่มขยายสู่ตลาดฮาลาลอย่างจริงจัง เช่น กลุ่มบริษัท Minh Phu ซึ่งได้รับการรับรองฮาลาลและกำลังเร่งส่งออกกุ้งไปยังตลาดใหม่แห่งนี้ ขณะที่บริษัทอื่น ๆ เช่น บริษัท Vinh Hoan Corporation และบริษัท Bien Dong Seafood Co., Ltd ก็อยู่ระหว่างการขยายตลาดฮาลาลควบคู่ไปกับตลาดหลักดั้งเดิม

    เวียดนามยังมีความได้เปรียบในด้านมาตรฐานการผลิตที่สอดคล้องกับข้อกำหนดฮาลาล เช่น VietGAP, GlobalGAP และ HACCP ซึ่งช่วยลดอุปสรรคในการเข้าสู่กระบวนการขอรับรองฮาลาล นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังเสริมสร้างความร่วมมือกับองค์กรรับรองฮาลาลในประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation: OIC) โดยเฉพาะหน่วยงานในมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพื่อให้เกิดการยอมรับใบรับรองร่วมกัน และเอื้ออำนวยให้การเข้าถึงตลาดเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น

    นอกจากผู้ผลิตสินค้าเกษตรแล้ว ยังมีบริษัทอาหารหลายแห่งในเวียดนามที่ได้รับการรับรองฮาลาล และส่งออกผลิตภัณฑ์ของตนไปยังตลาดฮาลาลเช่นกัน โดยตามข้อมูลจากสมาคมอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารนครโฮจิมินห์ (Food and Foodstuff Association of Ho Chi Minh City: FFA) บริษัทรายใหญ่
    ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น บริษัท Vinamilk บริษัท Bibica และบริษัท Cholimex Food JSC ซึ่งได้รับการรับรองฮาลาลและส่งออกสินค้าสู่ตลาดมุสลิมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Vinamilk ที่สามารถเจาะตลาดตะวันออกกลางได้สำเร็จ ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่ผ่านการรับรองฮาลาลอย่างเข้มงวดและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในภูมิภาคนี้

    นาย Le Chau Hai Vu ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม (Ministry of Industry and Trade: MoIT) อธิบายว่า การได้รับการรับรองฮาลาลถือเป็นบัตรผ่านที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการอาหารและผู้ส่งออก หากต้องการเข้าสู่ตลาดมุสลิมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นในสายตาผู้บริโภคอีกด้วย ด้วยศักยภาพอันมหาศาลของตลาดฮาลาล ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรเวียดนามจำนวนมากจึงมองเห็นทั้งโอกาสและความท้าทาย พร้อมกำหนดให้การเข้าสู่ตลาดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การขยายตลาดและเพิ่มรายได้จากการส่งออกในระยะยาว

    นาย Nguyen Van Ha ผู้อำนวยการบริษัท Vietnam Agriculture Joint Stock Company ให้ความเห็นว่า ตลาดฮาลาลเป็นตลาดที่มีอนาคตสดใส แต่เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าที่ครบวงจร ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การควบคุมมาตรฐานคุณภาพ การใช้เทคโนโลยีตรวจสอบย้อนกลับ ไปจนถึงกระบวนการส่งออกและพัฒนาตลาด เขายังเน้นว่า การลงทุนในระบบมาตรฐานสากล เช่น ฮาลาล, GlobalGAP หรือ ISO เป็นแนวทางสำคัญในการยกระดับศักยภาพของสินค้าเกษตรเวียดนามให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมั่นคงในระยะยาว

(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน 2568)

  1. วิเคราะห์ผลกระทบ

อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลนับเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญสูงสุดของเศรษฐกิจฮาลาลโลก โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 65 ของมูลค่าการค้าฮาลาลทั้งหมด ในปี 2566 ภาคส่วนนี้สามารถสร้างรายได้กว่า 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะขยายตัวเป็น 5,300 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่สูงถึงร้อยละ 10.5 ทั้งนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าอาหารฮาลาลจะครองส่วนแบ่งถึงร้อยละ 20 ของการค้าอาหารโลกในอนาคตอันใกล้ สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดฮาลาลโลกซึ่งมีขนาดปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายใน 5 ปีข้างหน้า ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพมหาศาลสำหรับประเทศที่ต้องการเข้าสู่เวทีการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศมุสลิม

ด้วยจำนวนประชากรมุสลิมมากกว่า 2,000 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 25 ของประชากรโลก ซึ่งอาศัยอยู่ใน 112 ประเทศ และกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคเอเชียถึงร้อยละ 62 โดยเฉพาะในอาเซียน ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิกกลายเป็นศูนย์กลางของตลาดฮาลาล โดยมีสัดส่วนการบริโภคสินค้าฮาลาลสูงถึงร้อยละ 63 ของตลาดโลก ทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของเวียดนามซึ่งอยู่ใจกลางภูมิภาคนี้ ส่งผลให้เวียดนามถูกมองว่าเป็นประตูสำคัญสู่ตลาดฮาลาลระดับโลก และมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอาหารฮาลาลในภูมิภาค

เวียดนามมีศักยภาพสูงในการเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารฮาลาล โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป ปัจจุบันสินค้าเกษตรของเวียดนามกว่า 20 รายการ เช่น กาแฟ ข้าว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พริกไทย ผลไม้สด น้ำผึ้ง อบเชย และเครื่องดื่มต่าง ๆ เป็นสินค้านำเข้าหลักของประเทศในกลุ่มองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกา เวียดนามส่งออกผักและผลไม้ไปยังตลาดฮาลาล คิดเป็นมูลค่าราว 150 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับมูลค่าการส่งออกไปยุโรป แม้ว่าตลาดฮาลาลจะมีประชากรมากกว่ายุโรปถึง 4 เท่า ที่น่าสนใจคือ ข้าวเวียดนามที่ส่งออกไปยังตะวันออกกลางและแอฟริกา ร้อยละ 50 เป็นข้าวฮาลาล ขณะที่สินค้าอาหารทะเล สินค้าเกษตร และอาหารแปรรูปฮาลาล คิดเป็นร้อยละ 30–35 ของมูลค่าการส่งออกอาหารของเวียดนามไปยังภูมิภาคดังกล่าว

ด้วยศักยภาพของตลาดฮาลาลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เวียดนามจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการผลักดันผู้ประกอบการภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารเข้าสู่ตลาดนี้อย่างจริงจัง โดยมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขอการรับรองฮาลาลและพัฒนามาตรฐานการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของศาสนาอิสลาม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในประเทศมุสลิม อย่างไรก็ตาม แม้จะมีโอกาสทางเศรษฐกิจมหาศาล เวียดนามยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการในการรุกตลาดฮาลาล

หนึ่งในอุปสรรคสำคัญคือ ระบบมาตรฐานฮาลาลของเวียดนามยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอย่างเต็มที่ ทำให้กระบวนการขอใบรับรองฮาลาลภายในประเทศยังมีความซับซ้อนและขาดความเป็นเอกภาพ นอกจากนี้ ประเทศยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้านในมาตรฐานฮาลาล ไม่ว่าจะในเชิงศาสนา วิทยาศาสตร์การอาหาร หรือด้านเทคนิคการแปรรูปและตรวจสอบย้อนกลับ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในตลาดนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ

เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากตลาดฮาลาลได้อย่างยั่งยืน รัฐบาลเวียดนามจำเป็นต้องวางนโยบายเชิงรุกในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐานฮาลาล การจัดตั้งศูนย์รับรองฮาลาลระดับชาติที่มีความน่าเชื่อถือ และการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศมุสลิมผ่านกลไกทวิภาคีและพหุภาคี ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนในระบบตรวจสอบย้อนกลับและห่วงโซ่อุปทานฮาลาลอย่างครบวงจร

เมื่อเวียดนามสามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะไม่เพียงสร้างโอกาสใหม่ให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังสามารถผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง พร้อมก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลของภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิกในอนาคต

  1. นำเสนอโอกาส/แนวทาง

ตลาดฮาลาลกำลังเติบโตเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพสูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะในภาคสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป ซึ่งตอบสนองความต้องการของประชากรมุสลิมกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลกที่มีอัตราการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรฐานและระบบรับรองฮาลาล เพื่อใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการส่งออกและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเข้าสู่ตลาดฮาลาล ทั้งในด้านการผลักดันผู้ประกอบการภาคเกษตรและอาหารแปรรูปให้ผ่านการรับรองฮาลาล รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับประเทศมุสลิมและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อขยายโอกาสทางการค้าในตลาดมุสลิม

ในขณะที่เวียดนามยังอยู่ระหว่างการจัดตั้งระบบรับรองฮาลาลตามมาตรฐานสากล ประเทศไทยกลับมีความพร้อมมากกว่า ทั้งในแง่ประสบการณ์ ระบบการรับรอง และโครงสร้างพื้นฐานด้านฮาลาลที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะบทบาทของสภาอิสลามกลางแห่งประเทศไทยในการให้คำปรึกษา ฝึกอบรม และรับรองสินค้าฮาลาล ซึ่งสามารถขยายบริการไปยังผู้ประกอบการในเวียดนามที่ยังขาดความเชี่ยวชาญในระยะเริ่มต้น นอกจากนี้ โอกาสยังขยายไปถึงภาคบริการของไทย เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ บรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัย ธุรกิจท่องเที่ยวฮาลาล และบริการรับจ้างผลิต (OEM/ODM) ให้กับแบรนด์เวียดนาม ซึ่งถือเป็นแนวทางเสริมสร้างบทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานฮาลาลระดับภูมิภาค

                     เพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยควรเข้าร่วมกิจกรรมแสดงสินค้าและเวทีความร่วมมือด้านฮาลาลในเวียดนาม เช่น งาน Vietnam Halal Expo หรือกิจกรรมส่งเสริมการค้าของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) การมีส่วนร่วมในเวทีเหล่านี้ไม่เพียงช่วยสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและเข้าถึงข้อมูลตลาดเวียดนาม แต่ยังช่วยให้สามารถพัฒนาความร่วมมือในระดับปฏิบัติ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ และยกระดับบทบาทของไทยในอุตสาหกรรมฮาลาลในเวทีภูมิภาคและระดับโลกได้อย่างยั่งยืน

News 30 June - 4 July - VN taps halal market to boost agricultural exports-Edit.pdf
Share :
Instagram