fb
3 สัปดาห์สำคัญของการเจรจาภาษีระหว่างเกาหลีใต้-สหรัฐฯ

3 สัปดาห์สำคัญของการเจรจาภาษีระหว่างเกาหลีใต้-สหรัฐฯ

โดย
Sangminl@ditp.go.th
ลงเมื่อ 10 กรกฎาคม 2568 15:00
11

         สามสัปดาห์ต่อจากนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้าและเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ โดยเกาหลีใต้อยู่ระหว่างการพยายามหาทางออกที่เป็นรูปธรรมในการเจรจาต่อรองเพื่อลดภาษีกับสหรัฐอเมริกา หลังจากรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ขยายเวลาการเริ่มเก็บภาษีออกไปเป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2568

          แม้ว่าเกาหลีใต้พยายามหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ส่งผลทันทีจากภาษีตอบโต้ 25% แต่รัฐบาลก็เตรียมเร่งการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อเจรจาขอให้ลดอัตราภาษีลง ซึ่งหากมีการบังคับใช้อัตราภาษีดังกล่าวตามที่ประกาศไว้ ก็จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ซึ่งต้องพึ่งพาการส่งออก ผู้เชี่ยวชาญต่างเรียกร้องให้รัฐบาลของประธานาธิบดีอีแจมยองใช้กลยุทธ์จะเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อที่จะโน้มน้าวรัฐบาลวอชิงตัน 

          ทำเนียบขาวแถลงเมื่อวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2568 (ตามเวลาท้องถิ่น) ว่า ทรัมป์ได้ส่งจดหมายแจ้งอัตราภาษีของแต่ละประเทศถึงผู้นำของ 14 ประเทศ รวมถึงเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งทั้งสองประเทศกำลังเผชิญกับภาษีตอบโต้ 25% เนื้อหาบางส่วนในจดหมายที่ส่งถึงประธานาธิบดีอีแจมยองระบุว่า การจัดเก็บภาษีดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อแก้ไขนโยบายด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี รวมถึงอุปสรรคทางการค้าที่เกาหลีใต้ใช้มายาวนาน ซึ่งก่อให้เกิดการขาดดุลการค้าที่ไม่ยั่งยืนกับสหรัฐอเมริกาอย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังได้ส่งสัญญาณว่า อาจมีช่องทางให้เจรจาต่อรอง และให้สัมภาษณ์ กับผู้สื่อข่าวในเวลาต่อมาว่า อัตราภาษีดังกล่าวยังไม่เป็นที่แน่นอน 100%

          นายชาง ซัง-ชิก ผู้อำนวยการสถาบันการค้าระหว่างประเทศแห่งสมาคมการค้าระหว่างประเทศเกาหลีใต้ (KITA) แนะนำให้รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อ สร้างความพึงพอใจให้ทรัมป์ด้วยการเพิ่มการนำเข้าพลังงาน และระบบป้องกันประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลควรวางแผนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อส่งเสริมการนำเข้าสินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค และเครื่องจักรกลด้วย และควรพิจารณาลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อให้ทรัมป์สามารถนำไปอ้างเป็นผลสำเร็จได้ โดยมาตรการพิเศษ อาทิ การเพิ่มการซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากอลาสก้า และการพิจารณาแผนที่จะควบคุมการผูกขาดในตลาด ออนไลน์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นความต้องการจากฝั่งอเมริกา   

ท่ามกลางความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง นายคิม ยง-บอม หัวหน้าคณะทำงานด้านนโยบายของ ประธานาธิบดี ได้เรียกประชุมฉุกเฉินร่วมกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมกล่าวว่า รัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่ในการเจรจาในระดับต่างๆ และตามเวทีต่างๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นธรรม นับตั้งแต่รัฐบาลชุดใหม่เริ่มเข้ารับตำแหน่งเมื่อประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา แต่เวลาก็ยังไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม การปกป้องผลประโยชน์ของชาติเป็นสิ่งสำคัญกว่าการเร่งเจรจาในทันที

เมื่อวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม นายวี ซอง-ลัก ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติเกาหลีใต้ ได้พบกับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์โก รูบิโอ ที่กรุงวอชิงตัน เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ ซึ่งเกาหลีใต้เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมความคืบหน้าใน การเจรจาภาษี

ในวันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายยอ ฮัน-กู รัฐมนตรีการค้าเกาหลีใต้ได้พบกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ นายเจมิสัน กรีเออร์ ที่กรุงวอชิงตัน และในวันจันทร์ได้เข้าพบกับรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ โฮเวิร์ด ลุตนิก เพื่อย้ำอีกครั้งว่า การยกเว้นหรือการลดภาษีในบางภาคส่วน จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงสุดท้าย ระหว่างสองประเทศ

กระทรวงการค้าของเกาหลียังได้เรียกตัวแทนจากบริษัทฮุนไดมอเตอร์, พอสโก และแอลจี เอเนอร์จี โซลูชัน เข้าร่วมการประชุมฉุกเฉินในกรุงโซลเมื่อวันอังคาร เพื่อหารือมาตรการรับมือกับภาษีของทรัมป์

บทวิเคราะห์

จากการที่ปัจจุบัน เกาหลีใต้เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาในอัตราที่ต่ำอยู่แล้ว ทำให้อัตราการลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาจะมีได้ในอัตราที่ไม่มาก ทำให้การต่อรองเรื่องลดภาษีเห็นผลไม่มากเท่าที่ทรัมป์ต้องการ อย่างไรก็ดี เกาหลีใต้อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองกับสหรัฐอเมริกาเพื่อที่จะให้อัตราภาษีตอบโต้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดผลกระทบทางการค้า 

ผู้ประกอบการไทยควรติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินทั้งในประเทศไทยและประเทศคู่ค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบความผันผวนที่อาจเพิ่มขึ้นหลังจากการประกาศแผนจัดเก็บภาษีโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของค่าเงิน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อราคาส่งออก (FOB/CIF) ซึ่งอาจมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ หากเกาหลีใต้ถูกเก็บภาษี 25% จะทำให้กดกำลังผลิตและส่งออกของอุตสาหกรรมหลักเกาหลี อาทิ เหล็ก รถยนต์ แบตเตอรี่ ซึ่งอาจทำให้เกาหลีอาจลดการนำเข้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากไทย เช่น เหล็กแผ่น ยางพารา ปิโตรเคมี ผู้ประกอบการไทยควรติดตามข่าวอย่างต่อเนื่อง และหากอัตราภาษีน้อยกว่า 25% หรือน้อยกว่าคู่แข่งขัน ก็อาจจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเกาหลีใต้ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ 

(ที่มา : สำนักข่าว The Korea Times ฉบับวันที่ 8 กรกฎาคม 2568)

 

********************************************************************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

 

ข่าวเด่นประจำเดือนกรกฎาคม 2568 (1).pdf
Share :
Instagram