พลเอกอาวุโส มิน ออง ไลง์ ประธานสภาบริหารแห่งรัฐและนายกรัฐมนตรีของเมียนมา ลงนามหนังสือเมียนมา ส่งถึงสหรัฐฯ เรื่อง "ภาษีนำเข้าสหรัฐฯ" ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุป ได้แก่ 1. เมียนมาขอบคุณสหรัฐฯ ที่ลดภาษีนำเข้าจาก 44% เหลือล่าสุด 40% (หนังสือสหรัฐฯ ถึงเมียนมา 7 ก.ค. 68) 2. เมียนมาเสนอให้สหรัฐฯ พิจารณาลดภาษีนำเข้าเพิ่มเติม จากล่าสุด 40% เหลือ 10-20% โดยเมียนมาจะลดภาษีนำเข้าของเมียนมาให้สหรัฐฯ เหลือ 0-10% ซึ่งเมียนมามีทีมเจรจาระดับสูง ยินดีและพร้อมจะไปเจรจากับสหรัฐฯ ต่อไป 3. เมียนมาให้ข้อมูลเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) เมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) ซึ่งประสบความท้าทายต่างๆ เช่น ผลกระทบจากโควิด 19 แผ่นดินไหวรุนแรง พายุไต้ฝุ่น 2) เมียนมาอยู่ระหว่างเตรียมจัดการเลือกตั้งปลายปีนี้ 3) เมียนมาต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศ รวมถึงความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ 4) เมียนมาต้องการรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยเมียนมายินดีเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ต่อไป
ผลกระทบ/โอกาส นับว่าเป็นท่าทีที่ดี ที่เมียนมาส่งสัญญาณว่ายินดีและพร้อมจะเจรจากับสหรัฐฯ รวมทั้งต้องการมีความสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศ รักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ รวมถึงต้องการได้รับการยอมรับในเวทีโลกต่อไป ทั้งนี้ การส่งหนังสือของสหรัฐฯ ถึงเมียนมา สะท้อนว่าอาจมีโอกาสเปิดให้เมียนมาเจรจา ทั้งนี้ การมีโอกาสเจรจากับสหรัฐฯ อาจไม่ง่ายนัก เพราะทุกประเทศพุ่งเป้าไปสหรัฐฯ (ยังรอคิวเจรจาอีกหลายประเทศ) และสถานะของเมียนมาในเวทีโลกไม่ค่อยดีนัก เพราะเป็นรัฐบาลทหาร ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการเจรจากับสหรัฐฯ หากสหรัฐฯ นำเรื่องดังกล่าวเป็นข้อจำกัดในการพิจารณา อย่างไรก็ตาม เมียนมากำลังจะจัดเลือกตั้งปลายปีนี้ อาจเป็นแนวโน้มที่ดีต่อสถานะเมียนมาในเวทีโลก หากเมียนมาจัดเลือกตั้งได้ราบรื่นและได้รับการยอมรับ ซึ่งอาจเปิดโอกาสเมียนมาในเวทีโลกมากขึ้น ประการสำคัญ คือเรื่องดีลเจรจา ขึ้นอยู่กับว่าเมียนมาจะนำเรื่องใดไปเจรจา และเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการหรือไม่ ทั้งดีลการค้าหรือดีลความมั่นคง ซึ่งทุกประเด็นไม่ง่าย เนื่องจากมีมิติเรื่อง Geo-Politics, Geo-Economics, Global Value Chain ในสมการเจรจาดังกล่าวด้วย
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ ขอให้ผู้ประกอบการไทยติดตามสถานการณ์และพิจารณาประเด็นทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สำหรับเรื่องการเจรจาของเมียนมากับสหรัฐฯ เรื่องดังกล่าว เห็นว่า “อาจไม่ง่ายนัก” ทั้งโอกาสเจรจาและดีลเจรจา “แต่ก็มีโอกาส” หาก สหรัฐฯ เปิดโอกาสให้เจรจา และเมียนมามีสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการ (ดีลการค้าและดีลความมั่นคง) ซึ่งอาจมีเงื่อนไขต่างๆ ทั้งเรื่อง Geo-Politics, Geo-Economics, Global Value Chain ในการเจรจา
********************************************
ที่มา: นสพ.Global New Light of Myanmar
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง