ตลาดรถยนต์ในชิลี โดยเฉพาะรถยนต์ใหม่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2560 – 2563 โดยยอดการจัดจำหน่ายรถยนต์ทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางมีจำนวนเฉลี่ยมากกว่า 1 พันคันต่อวัน และหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) กอปรกับการที่รัฐบาลชิลีอนุญาตให้ประชาชนสามารถถอนเงินจากเงินกอกงทุนบำเหน็จบำนาญ ทำให้ยอดการจำหน่ายรถยนต์ใหม่ดังกล่าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2564 – 2565 และยอดการจำหน่ายรถยนต์รวมทั้งสิ้น 426,777 คัน
ข้อมูลของสมาคมยานยนต์ของชิลี พบว่าแม้ยอดการจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2568 จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หากพิจารณาในเชิงปริมาณ ยอดการจำหน่ายดังกล่าวเพิ่มขึ้นเพียง 24,337 คัน โดยคิดเป็นจำนวน 785 คันต่อวัน ทั้งนี้ สมาคมยานยนต์ของชิลี และหอการค้ายานยนต์ของชิลี ให้ความเห็นว่ายอดการจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่ลดลงดังกล่าว มาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ (1) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระดับต่ำต่อสภาพเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากตลาดรถยนต์มีการตอบสนองที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ (2) การเพิ่มจำนวนระบบขนส่งสาธารณะในประเทศ ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ชะลอการซื้อรถยนต์ใหม่ที่มีขนาดเล็กสำหรับการใช้สัญจรไปยังสถานที่ทำงาน และ (3) เงื่อนไขที่เข้มงวดของธนาคารในการให้สินเชื่อ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2568 ชิลีจะมียอดการจำหน่ายรถยนต์ใหม่รวมที่จำนวน 300,000 – 310,000 คัน ลดลงจากการคาดการณ์ในเดือนก่อนหน้า ที่คาดว่าจะมีจำนวน 320,000 คัน
ข้อมูลเพิ่มเติมจากสมาคมยานยนต์ของชิลี ล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม 2568 พบว่า รถยนต์เพื่อการพาณิชย์มียอดการจำหน่ายสะสมขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุด หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.9 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และรถยนต์เอนกประสงค์ (SUV) มีการขยายตัวที่ร้อยละ 5.3 โดยรถยนต์เอนกประสงค์ในชิลีมีสัดส่วนร้อยละ 50 ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมดในประเทศ ในขณะที่ รถยนต์โดยสารส่วนบุคคล และรถกระบะมียอดการจำหน่ายลดลง คิดเป้นสัดส่วนร้อยละ 10.7 และ 0.6 ตามลำดับ ยอดการจัดจำหน่ายสะสมของรถยนต์ใหม่ตามประเภทของยานพาหนะ ได้แก่ รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ รถยนต์เอนกประสงค์ รถยนต์โดยสารส่วนบุคคล และรถกระบะ รวมกันจนถึงเดือนพฤษภาคม 2568 พบว่า แบรนด์รถยนต์จากญี่ปุ่นมียอดการจำหน่ายสูงที่สุด (โตโยต้า และซูซูกิ) รองลงไปคือแบรนด์รถยนต์จากเกาหลีใต้ (ฮุนได และเกียร์) นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน 2568 รถยนต์ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศจีน สามารถครองตลาดรถยนต์ในชิลี โดยมีสัดส่วนร้อยละ 38.7 รองลงไปคือรถยนต์ที่มีแหล่งกำเนิดจากอินเดียและญี่ปุ่น มีสัดส่วนร้อยละ 10.4 และ 7.8 ตามลำดับ รวมทั้ง จำนวนแบรนด์รถยนต์จากจีนสามารถครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ในชิลีเป็นอันดับที่ 1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.7
บทวิเคราะห์ / ความเห็น สคต. ณ กรุงซันติอาโก
ตลาดรถยนต์ของชิลีในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2566 ประสบกับยอดการจัดจำหน่ายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2566 มียอดการจัดจำหน่ายลดลงมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และในปี 2567 ลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.7 รวมจำนวนรถยนต์ใหม่ที่มีการจำหน่าย ในปี 2566 – 2567 ที่ 302,366 คัน โดยสาเหตุหลักของการลดลงดังกล่าวมาจากสภาพการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของชิลี[1] อย่างไรก็ดี ยังคงมีสัญญาณที่ดีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่มียอดการจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 183 ในปี 2568 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงดียวกันของปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่า 4,500 คัน หากพิจารณา ประเภทของรถยนต์ไฟฟ้า พบว่า รถยนต์ไฮบริดมียอดการจำหน่ายเพิ่มขึ้นคิดเป้นสัดส่วนร้อยละ 114 ในช่วงเวลา 1 ปี สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคของชิลีให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลชิลีได้กำหนดนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดของภาครัฐ[2] อย่างไรก็ดี ปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าในชิลี ยังถือว่ามีจำนวนน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนรถยนต์ทั้งหมดในประเทศ
ข้อมูลจากการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่พบว่า ยอดการจำหน่ายรถยนต์ขนาดเล็กและขนาดกลางในเดือนพฤษภาคม 2568 มีการขยายตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นจำนวน 24,337 คัน และยอดการจำหน่ายรถยนต์สะสมในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 มีการขยายตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.2 หรือคิดเป็นจำนวนรวม 121,347 คัน ซึ่งการขยายตัวของยอดการจัดจำหน่ายดังกล่าว มีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพเศรษฐกิจของชิลีที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นในเดือนเมษายน 2568 โดยตัวชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการขายตัวที่ร้อยละ 2.5 และส่งผลให้ยอดการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.6 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
จากสภาพการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของชิลีและแนวโน้มการจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ของไทย โดยเฉพาะรถกระบะที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นของไทยไปยังชิลี ในขณะที่ตลาดรถยนต์มือสองในชิลียังคงมีการเติบโตที่ดี ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับสินค้าในกลุ่มอะไหล่ อุปกรณ์ และชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับการบำรุงรักษารถยนต์
ข้อมูลจากหอการค้ายานยนต์แห่งชาติของชิลี ระบุว่า ในช่วงปี 2567 รถยนต์มือสองขนาดเล็กและขนาดกลางมีการขยายตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.1 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การจดทะเบียนรถยนต์มือสองมีสัดส่วน รถยนต์มือสอง 3.3 คันต่อรถยนต์ใหม่ 1 คัน ทั้งนี้ รถยนต์ขนาดเล็กและขนาดกลางมีสัดส่วนถึงร้อยละ 76.62 ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมดในตลาดรถยนต์มือสอง และจากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าชิลีมีแนวโน้มที่จะนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าอะไหล่ อุปกรณ์ และชิ้นส่วนยานยนต์ สอดคล้องกับข้อมูลการนำเข้าสินค้าในกลุ่มดังกล่าว ในปี 2567 ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8 แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และบราซิล ซึ่งสินค้าจากจีนสามารถครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับที่ 1 เนื่องจากราคาสินค้าที่แข่งขันได้ และความหลากหลายของประเภทสินค้า โดยสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดมากที่สุดคือ เครื่องยนต์ ระบบไฟฟ้า และระบบเบรก ทั้งนี้ ในส่วนของ OEM หรือ Origianl Equipment Manufacturer[1] มีสัดส่วนร้อยละ 30 ของตลาดอะไหล่ อุปกรณ์ และชิ้นส่วนยานยนต์ และอะไหล่ อุปกรณ์แบบดั้งเดิมของแบรนด์รถยนต์นั้น ๆ ที่ใช้สำหรับการบำรุงรักษาหลังการขายมีสัดส่วนร้อยละ 70 ในปี 2567 ชิลีมีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยคิดเป็นมูลค่า 5.95 ล้านเหรียญสหรัฐ[2] การจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ในปี 2567 มีจำนวน 306,046 คัน ในขณะที่ การโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์มือสอง มีจำนวนถึง 1,003,038 คัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพตลาดรถยนต์ในชิลี ที่ประชาชนยังคงให้ระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกและคุณภาพที่เหมาะสม เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งความต้องการรถยนต์ยังคงมีอยู่ ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยอดการจำหน่ายรถยนต์ในชิลีลดลงอย่างต่อเนื่อง
ตลาดรถยนต์ของชิลีเริ่มเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวในเดือนพฤษภาคมปีนี้ และคาดว่ายอดการจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในชิลีจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งภายในสิ้นปีนี้ ที่อัตราร้อยละ 4.4 อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวดังกล่าว ยังคงต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และความผันผวนของค่าเงิน เป็นต้น ทั้งนี้ ตลาดอะไหล่ อุปกรณ์ และชิ้นส่วนยานยนต์ในชิลีมีส่วนสำคัญในในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ในชิลี และชิลีต้องอาศัยการนำเข้าสินค้าดังกล่าวทั้งหมดจากต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีโรงงานผลิตในประเทศ ในขณะที่ตลาดยังคงมีความต้องการสินค้าดังกล่าวสำหรับการบำรุงรักษาหลังการขายรถยนต์ใหม่และการบำรุงซ่อมแซมรถยนต์เก่าและรถยนต์มือสอง นอกจากนี้ รัฐบาลชิลีมีการกำหนดให้รถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 2 ปี ต้องดำเนินการตรวจเช็คสภาพ และรถยนต์มือสองที่มีอายุมากกว่า 5 ปี จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนอะไหล่และชิ้นส่วนทดแทนของเดิม ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตอะไหล่ อุปกรณ์ และชิ้นส่วนยานยนต์จากทั่วโลกได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ในตลาดชิลี
สำหรับการนำเข้าอะไหล่ และชิ้นส่วนยานยนต์จากไทยนั้น ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการนำเข้าจากจีน สหรัฐอเมริกา และบราซิล อย่างไรก็ดี ในมุมมองของผู้นำเข้าชิลี ไทยยังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพและสามารถเติบโตได้เพิ่มขึ้นในการผลิตสินค้าคุณภาพดีที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง กอปรกับการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทย - ชิลี เป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับอะไหล่ และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยสินค้าดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องในชิลี นอกจากนี้ หากไทยสามารถขยายตลาดอะไหล่ และชิ้นส่วนยานยนต์มายังชิลีได้ ก็จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการใช้มาตรการทางการค้าในตลาดหลักของไทย อาทิ การใช้มาตรการปกป้องทางการค้าในหลายประเทศ ซึ่งอาจกระทบการส่งออกชิ้นส่วนฯ จากไทยไปยังประเทศดังกล่าว อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยอาจต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น (1) การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีมาสู่ยานยนต์สมัยใหม่ เช่น รถยนต์เครื่องยนต์ไฟฟ้า ที่เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคต่ออะไหล่และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย และ (2) ต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะวัตถุดิบกลุ่มโลหะยังมีแนวโน้มสูงขึ้น
______________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
กรกฎาคม 2568
[1] คือ ผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตัวเอง
[2] An online platform that provides economic data, financial indicators, forecasts, and news for 196 countries - https://tradingeconomics.com/chile/imports/thailand/parts-accessories-motor-vehicles-headings-8701-8705
[1] A business magazine. It focuses on analyzing business, economics, and finance in Latin America - https://www.americaeconomia.com/en/node/290030 - https://www.americaeconomia.com/en/node/290050
A specialized data analytics platform focused on the global automotive industry - https://www.focus2move.com/chilean-vehicles-market/
[2] A leading Latin American platform dedicated to sustainable mobility and the promotion of clean transportation technologies - https://latamobility.com/en/chile-records-a-183-increase-in-electric-car-sales/