เนื้อข่าว
เนื่องจากความตระหนักและความห่วงกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารในประเทศเวียดนามที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายภาคส่วนคาดหวังว่าผู้บริโภคจะหันมาให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านสุขอนามัยที่เคร่งครัดมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีของเนื้อหมู ซึ่งถือเป็นเนื้อสัตว์ที่มีการบริโภคมากที่สุดในประเทศ กลับสะท้อนให้เห็นถึงภาวะย้อนแย้งที่น่าสนใจ กล่าวคือ แม้เนื้อหมูที่ผ่านการแช่เย็นหรือแช่แข็ง (Chilled and frozen pork) จะมีความปลอดภัยทางสุขอนามัยมากกว่า และสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างชัดเจน แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงให้ความนิยมต่อการบริโภคเนื้อหมูชำแหละสด (Hot meat) ซึ่งหมายถึงเนื้อหมูที่ชำแหละในช่วงเช้าตรู่และนำออกจำหน่ายภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง โดยมิได้ผ่านกระบวนการทำความเย็นแต่อย่างใด
จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยปศุสัตว์นานาชาติ (International Livestock Research Institute) พบว่า อัตราการปนเปื้อนเชื้อ ซัลโมเนลลา (Salmonella) ในโรงชำแหละสัตว์แบบดั้งเดิมอาจสูงถึงร้อยละ 52 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 ในกรณีที่มีการขนส่งเนื้อหมูภายในเขตเมืองโดยใช้รถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นวิธีการขนส่งที่ไม่ได้ควบคุมอุณหภูมิอย่างเหมาะสม แม้ว่าจะมีความพยายามจากผู้ผลิตรายใหญ่ที่ดำเนินกิจการภายใต้ระบบมาตรฐานสากล เช่น บริษัท Masan MEATLife และบริษัท BAF Vietnam ซึ่งได้พัฒนาระบบปิดแบบครบวงจร ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสุกรที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bio-secure barns) ไปจนถึงโรงฆ่าสัตว์ที่เป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป ระบบดังกล่าวยังสามารถรองรับได้เพียงบางส่วนของตลาดภายในประเทศเท่านั้น ทั้งนี้ ในนครโฮจิมินห์ ซึ่งมีปริมาณการบริโภคเนื้อหมูเฉลี่ยประมาณ 10,000 ตัวต่อวัน พบว่ามีเพียงร้อยละ 70–80 ของเนื้อหมูทั้งหมดเท่านั้นที่มาจากห่วงโซ่อุปทานที่อยู่ภายใต้ระบบควบคุมอย่างเป็นทางการ ส่วนที่เหลือยังคงเป็นเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้รับการควบคุมตามมาตรฐาน (Uncontrolled meat) ซึ่งเข้าสู่ตลาดผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่ไม่เป็นทางการและอยู่นอกเหนือการกำกับดูแลของภาครัฐ
แม้ว่าความต้องการบริโภคเนื้อหมูในเวียดนามจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากประมาณ 30 กิโลกรัมต่อคนต่อปีใน 2564 เป็นมากกว่า 37 กิโลกรัมในปี 2567 ตามข้อมูลจากกรมการปศุสัตว์ (Department of Livestock Production) กระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อม (Ministry of Agriculture and Environment) แต่เนื้อหมูแช่เย็นและแช่แข็งกลับมีสัดส่วนในตลาดรวมเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ความนิยมในเนื้อหมูชำแหละสดที่ไม่ผ่านการแช่เย็น ยังคงฝังรากลึกในหมู่ผู้บริโภคเวียดนาม ส่งผลให้ฟาร์มรายย่อย โรงฆ่าสัตว์แบบดั้งเดิม และระบบขนส่งที่ไม่ได้มาตรฐานสามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมที่ชัดเจน
นาย Nguyen Huu Hoai Phu รองผู้อำนวยการสำนักงานเกษตรและสิ่งแวดล้อมนครโฮจิมินห์ (The Ho Chi Minh City Department of Agriculture and Environment) ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาสำคัญเกิดขึ้นจากฟาร์มขนาดเล็ก แม้จำนวนจะไม่มากนัก แต่บางแห่งมีการนำของเสียทางการเกษตรมาใช้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งขาดความน่าเชื่อถือในด้านความปลอดภัย และนำไปสู่ความเสี่ยงในการปนเปื้อนของเนื้อหมู นอกจากนี้ แม้ว่าจะมีการเลี้ยงและชำแหละสุกรอย่างถูกสุขลักษณะ แต่หากไม่มีระบบขนส่งและเก็บรักษาในลักษณะห่วงโซ่ความเย็น (Cold-chain transport and storage) ความเสี่ยงในการปนเปื้อนจุลินทรีย์ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในช่วงการกระจายสินค้าไปยังตลาดค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ต
เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว รัฐบาลเวียดนามได้กำหนดมาตรการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น โดยกระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดระยะเวลาการจำหน่ายเนื้อหมูชำแหละสดที่ไม่ผ่านการแช่เย็น ให้ต้องอยู่ภายใน 8 ชั่วโมงหลังการชำแหละ และกำหนดให้เนื้อหมูแช่เย็นต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส และต้องนำออกจากชั้นวางภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่ปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยใช้ระบบบาร์โค้ด เครื่องตรวจจับโลหะ และมีนโยบายเรียกคืนสินค้า อย่างไรก็ดี ในตลาดสด เมื่อเนื้อหมูถูกแบ่งออกเป็นชิ้นย่อย ข้อมูลที่ใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับมักสูญหายหรือไม่สามารถติดตามได้
ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตบางรายได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค เช่น บริษัท BAF Vietnam ซึ่งดำเนินโมเดลเนื้อหมูเลี้ยงด้วยอาหารจากพืช (Vegetarian-fed Pig Model) โดยใช้จุลินทรีย์แทนการใช้ยาปฏิชีวนะ พร้อมทั้งมีระบบติดตามกระบวนการผ่านโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรอง ส่วนบริษัท MEATDeli ได้รับการรับรองจาก British Retail Consortium และใช้เทคโนโลยีการทำให้สัตว์หมดสติด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 stunning) การบรรจุสูญญากาศ (Vacuum sealing) และระบบควบคุมอายุสินค้า (Shelf-life monitoring) โดยมีนโยบายเรียกคืนหากสินค้าไม่จำหน่ายหมดภายใน 72 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ปัญหาช่องว่างระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบมักมีกำลังคนจำกัด ต้องรับภาระในการตรวจเอกสาร การเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ และในบางกรณีอาจจำเป็นต้องสั่งทำลายสัตว์ทั้งฝูงหากพบการใช้สารต้องห้าม นาย Tran Minh Thanh รองหัวหน้ากองปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์และสุขภาพสัตว์จังหวัดด่งนาย (Dong Nai Sub-Department of Livestock Production and Animal Health) ระบุว่า การเข้าไปเก็บตัวอย่างจากฟาร์มรายย่อยมักเป็นเรื่องยากลำบาก และในบางสถานการณ์จำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ความท้าทายหลักไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในด้านการกำกับดูแลเชิงนโยบายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในระยะยาว ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเนื้อหมูต่างเห็นพ้องว่า การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจำเป็นต้องดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัท MEATDeli ซึ่งใช้การสื่อสารผ่าน QR code ควบคู่กับภาพลักษณ์ของชนบทที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่าเนื้อหมูแช่เย็นยังคงรักษาความสดใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับกลุ่มผู้บริโภคในเขตเมืองบางส่วนเริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความปลอดภัยและความสะดวก ส่งผลให้การเลือกซื้อเนื้อหมูที่มีตราสินค้าและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าเนื้อหมูสดที่ไม่ผ่านการแช่เย็นยังคงเป็นที่นิยมในตลาดแบบดั้งเดิม แต่ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแช่เย็นที่ผ่านการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางอาหาร นาย Nguyen Van Minh รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท BAF Vietnam ได้เสนอแนะว่า การชำแหละสุกรทั้งหมดควรดำเนินการภายในโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเสนอให้รัฐบาลจัดทำแผนแม่บทระดับประเทศอย่างเป็นระบบ และออกนโยบายที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในโรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อเสริมสร้างระบบบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพและยกระดับความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศโดยรวม
(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม 2568)
วิเคราะห์ผลกระทบ
เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการบริโภคเนื้อหมูสูงที่สุดในโลก โดยในปี 2567 ปริมาณการบริโภคเนื้อหมูเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่มากกว่า 37 กิโลกรัมต่อปี ถือเป็นอันดับสองของโลก รองจากจีน และสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ ตามการคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture: USDA) ช่วงระหว่างปี 2566–2572 เวียดนามจะยังคงมีแนวโน้มการบริโภคเนื้อหมูเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2568 ประเทศจะมีปริมาณการผลิตเนื้อหมูสูงถึง 3.8 ล้านตัน สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของเนื้อหมูในระบบอาหารภายในประเทศ และความเกี่ยวโยงโดยตรงกับความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจครัวเรือน และการพัฒนาอุตสาหกรรมปศุสัตว์
อย่างไรก็ตาม แม้เวียดนามจะมีศักยภาพในการผลิตที่สูง แต่ระบบห่วงโซ่อุปทานด้านเนื้อหมูยังเผชิญข้อจำกัดด้านความปลอดภัยอาหารและการควบคุมมาตรฐาน โดยเฉพาะช่องว่างระหว่างผู้ผลิตรายใหญ่กับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย แม้บริษัทสมัยใหม่อย่าง บริษัท Masan MEATLife และบริษัท BAF Vietnam จะพัฒนาระบบการผลิตแบบครบวงจร ตั้งแต่ฟาร์มที่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ไปจนถึงโรงฆ่าสัตว์ที่ผ่านการรับรองในระดับยุโรป แต่ระบบเหล่านี้ยังสามารถครอบคลุมตลาดได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น ในนครโฮจิมินห์ ซึ่งมีการบริโภคเนื้อหมูมากกว่า 10,000 ตัวต่อวัน ยังคงมีสัดส่วนถึงร้อยละ 20–30 ที่มาจากแหล่งผลิตนอกระบบควบคุม ซึ่งขาดการตรวจสอบย้อนกลับและระบบรักษาอุณหภูมิอย่างเหมาะสม
พฤติกรรมการบริโภคแบบดั้งเดิมยังเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงนิยมเนื้อหมูชำแหละสด (Hot meat) ที่ชำแหละสดใหม่ในช่วงเช้ามืดและจำหน่ายโดยไม่ผ่านการแช่เย็น เนื่องจากเชื่อว่าเนื้อจะมีรสชาติดีกว่า สีสวย และราคาถูกกว่า ประกอบกับความสะดวกในการซื้อจากตลาดสด ส่งผลให้เนื้อหมูแช่เย็นและแช่แข็งมีส่วนแบ่งตลาดรวมเพียงร้อยละ 5 แม้จะมีความเสี่ยงด้านสุขอนามัยที่สูงก็ตาม เช่น การปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลาในตลาดสดซึ่งอาจพบได้สูงถึงร้อยละ 60 รัฐบาลเวียดนามจึงได้เร่งดำเนินมาตรการเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร เช่น การจำกัดระยะเวลาจำหน่ายเนื้อหมูชำแหละสดไม่เกิน 8 ชั่วโมงหลังการชำแหละ การควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียสในเนื้อแช่เย็น และการใช้ระบบ QR Code สำหรับการตรวจสอบย้อนกลับ ทั้งนี้ ภาคเอกชนเองก็มีบทบาทในการพัฒนานวัตกรรม เช่น โมเดลเนื้อหมูเลี้ยงด้วยอาหารจากพืช (Vegetarian-fed Pig Model) ของ BAF Vietnam และระบบควบคุมคุณภาพของ MEATDeli ที่เน้นกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยและมีการรับรองในระดับสากล
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการผลิตและการบริโภคที่ได้มาตรฐานยังคงเผชิญข้อจำกัด ทั้งจากโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานที่กระจัดกระจาย พึ่งพาฟาร์มรายย่อยที่ไม่ได้รับการกำกับดูแลอย่างทั่วถึง และข้อจำกัดด้านทรัพยากรของหน่วยงานรัฐในระดับท้องถิ่น การปฏิรูปตลาดเนื้อหมูเวียดนามจึงไม่ใช่เพียงการออกกฎระเบียบเท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมถึงการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่ระบบมาตรฐาน การสื่อสารเชิงพฤติกรรมกับผู้บริโภครุ่นใหม่ผ่านการตลาดที่ทันสมัย และการกำหนดแผนแม่บทระดับชาติเพื่อส่งเสริมการลงทุนในโรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปอาหารที่ได้รับการรับรอง ทั้งนี้ ข้อเสนอจากภาคเอกชน เช่น การจำกัดให้มีการชำแหละสัตว์เฉพาะในโรงฆ่าสัตว์ที่ผ่านการรับรอง เป็นแนวทางที่สะท้อนถึงความจำเป็นในการบูรณาการระหว่างเศรษฐกิจ การค้า และความปลอดภัยสาธารณะ เพื่อให้ระบบอาหารของเวียดนามสามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาค และสร้างความเชื่อมั่นในสายตาของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างยั่งยืน
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
แม้เวียดนามจะมีความตื่นตัวด้านความปลอดภัยทางอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ตลาดเนื้อหมูของประเทศยังคงสะท้อนภาพความย้อนแย้งระหว่างนโยบายภาครัฐกับพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกรณีการบริโภคเนื้อหมูชำแหละสด (Hot meat) ซึ่งเป็นเนื้อหมูที่ชำแหละในช่วงเช้ามืดและนำออกจำหน่ายทันทีโดยไม่ผ่านกระบวนการแช่เย็น แม้จะมีความเสี่ยงด้านสุขอนามัยสูงจากการปนเปื้อนจุลินทรีย์ เช่น เชื้อซัลโมเนลลา แต่ยังคงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในตลาดสดทั่วประเทศ ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมดังกล่าว ได้แก่ ความเชื่อเรื่องความสดใหม่ของเนื้อหมู ราคาที่เข้าถึงได้ง่าย และความสะดวกในการซื้อขายในตลาดชุมชน นอกจากนี้ ช่องว่างระหว่างนโยบายของรัฐกับการบังคับใช้ในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะในกลุ่มฟาร์มรายย่อยที่อยู่นอกระบบควบคุม และขาดทรัพยากรในการยกระดับมาตรฐานการผลิต ยิ่งทำให้ความพยายามในการผลักดันระบบห่วงโซ่ความเย็น (Cold chain) และมาตรการตรวจสอบย้อนกลับมีประสิทธิผลจำกัด
ขณะเดียวกัน เวียดนามยังคงใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมโรคสัตว์ระบาดและคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะการระงับการนำเข้าสุกรมีชีวิตจากประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2564 เนื่องจากตรวจพบการติดเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) รวมถึงการจำกัดการนำเข้าเนื้อสัตว์แปรรูปจากประเทศที่ไม่มีระบบการรับรองด้านสุขอนามัยที่ชัดเจน เวียดนามอนุญาตเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการ heat-treated หรือแช่เย็นสุญญากาศ พร้อมกับการห้ามนำเข้าเครื่องในขาว (white offal) จากบางประเทศ การดำเนินนโยบายในลักษณะนี้สะท้อนถึงความพยายามของเวียดนามในการยกระดับความมั่นคงทางอาหารและลดการพึ่งพาต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องพิจารณาในการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยควรมุ่งเน้นการพัฒนาและส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่ม ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล (GMP HACCP และ Halal) และตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวเวียดนามผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์ การผลิต และระบบติดตามย้อนกลับควบคู่กับการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในประเทศ หากดำเนินงานภายใต้กรอบกฎหมายของเวียดนามอย่างเหมาะสม ผู้ประกอบการไทยจะสามารถสร้างจุดแข็งใหม่ในตลาดเนื้อสัตว์ของเวียดนาม และต่อยอดความสามารถทางการแข่งขันในระดับภูมิภาคได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน