ประเทศออสเตรียได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มภาคภูมิ ข้อมูลล่าสุดจากผลสำรวจในปี 2568 ของสถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ (FiBL) ยืนยันว่า พื้นที่เกษตรกรรมกว่า 27.3% ของประเทศเป็นฟาร์มออร์แกนิค ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในสหภาพยุโรป และเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศลิกเตนสไตน์ และสินค้า “Bio” มีส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีกถึง 11-12% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลก ตลาดนี้มีมูลค่ารวมกว่า 2.5 พันล้านยูโรเลยทีเดียว
สินค้า "Bio" ในภาษาเยอรมัน หมายถึง สินค้า "ออร์แกนิค" (Organic) นั่นเอง ความหมายคือ ผลิตภัณฑ์จากการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง และไม่ตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) โดยเน้นกระบวนการทางธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หัวใจสำคัญที่ทำให้วิถีเกษตรอินทรีย์เติบโตในออสเตรีย คือ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ชาวออสเตรียไม่ได้มองแค่ราคา แต่ให้ความสำคัญกับคุณค่าอื่นที่มาพร้อมกับสินค้า ได้แก่ ความเชื่อมั่นว่าอาหารออร์แกนิคปลอดสารเคมีและดีต่อสุขภาพ ความต้องการสนับสนุนการเกษตรที่ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและแหล่งน้ำ ความใส่ใจต่อความยั่งยืนของธรรมชาติและมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งชาวออสเตรียมีความเชื่อมั่นในเกษตรกรท้องถิ่นสูงมาก สัญลักษณ์ตราออร์แกนิคของสหภาพยุโรป (Euro-leaf) และเครื่องหมาย Bio aus Österreich (สินค้าออร์แกนิคจากออสเตรีย) จึงเป็นเหมือนเครื่องหมายการันตีคุณภาพของสินค้าที่ผู้บริโภคที่นี่มองหา
ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของ สคต.
ถึงแม้ตลาดจะแข็งแกร่ง แต่ก็ยังมี "ช่องว่าง" ที่สินค้าไทยสามารถเข้ามาเติมเต็มได้ นั่นคือการนำเสนอในสิ่งที่ตลาดท้องถิ่นไม่มี เช่น
ผลไม้เขตร้อนที่ปลูกไม่ได้ในยุโรป: นี่คือโอกาสที่ชัดเจนที่สุด ไม่ว่าจะเป็น มะม่วง มังคุด เสาวรส มะพร้าวน้ำหอม ทั้งในรูปแบบผลไม้สดและแปรรูป (เช่น อบแห้ง หรือ น้ำผลไม้) เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่มองหาความแปลกใหม่และดีต่อสุขภาพ
วัตถุดิบสำหรับครัวเอเชีย: กระแสความนิยมในอาหารไทย ทำให้ความต้องการวัตถุดิบออร์แกนิคต้นตำรับเพิ่มสูงขึ้น เช่น ข้าวหอมมะลิไทย ตะไคร้ ข่า ใบมะกรูด พริก และที่สำคัญคือ เครื่องแกงและซอสปรุงรสสำเร็จรูป ที่ช่วยให้การทำอาหารไทยที่บ้านง่ายขึ้น
สินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม (Wellness & Superfoods):เทรนด์สุขภาพมาแรงทั่วโลก สินค้าอย่าง ขมิ้นชัน มะรุม ชาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สปาจากธรรมชาติของไทย สามารถเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มที่ยอมจ่ายเพื่อสุขภาพได้เป็นอย่างดี
เคล็ดลับคว้าใจตลาดออสเตรีย
มาตรฐานสากลคือใบเบิกทาง: สินค้าต้องได้รับการรับรองมาตรฐานออร์แกนิคของสหภาพยุโรป (EU Organic "Euro-leaf") เท่านั้น เพราะนี่คือสิ่งที่ผู้บริโภคเชื่อมั่น
เล่าเรื่องราวให้น่าสนใจ: ลค่าและความผูกพันกับผู้บริโภคได้
วางตัวเป็น "ส่วนเติมเต็มระดับพรีเมียม": สินค้าไทยไม่ได้มาแข่งขันกับนมหรือแอปเปิ้ลของออสเตรีย แต่มาเพื่อเพิ่มความพิเศษและความหลากหลายบนโต๊ะอาหาร
มองไกลกว่าแค่ "ออร์แกนิค": พิจารณาปัจจัยด้านความยั่งยืนอื่นๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อสร้างความได้เปรียบในระยะยาว