- รูปแบบฉลากสินค้าและกฎระเบียบ
การระบุข้อมูลขั้นต่ำในฉลากของบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภค-บริโภค เป็นข้อกำหนดที่มีเหมือนกันทั่วไปในสหภาพยุโรป ตามข้อบังคับ (Official Journal) เลขที่ (EU) 1169/2011
[1] ว่าด้วยเรื่อง ข้อบังคับด้านการให้ข้อมูลด้านอาหารแก่ผู้บริโภค ( Ger: LMIV - die europäische Lebensmittel-Informationsverordnung) (Eng: the provision of food information to consumers) ซึ่งข้อกำหนดนี้ มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2014 (ข้อบังคับด้านฉลากโภชนาการตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2016) เป็นต้นมา โดยบังคับใช้เป็นกฎหมายขั้นพื้นฐานในทุกประเทศสมาชิก EU อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิกต่าง ๆ อาจจะสามารถเพิ่มเติมข้อกำหนดที่จะนำไปใช้ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นได้ สำหรับข้อกำหนดในกฎหมายดังกล่าวได้ระบุข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้
- ความสามารถในการอ่านข้อมูลที่จำเป็น
การพิมพ์ข้อมูลที่สำคัญ (หรือจำเป็น) จะต้องพิมพ์ให้สามารถอ่านได้ชัดเจนและหากเป็นไปได้ต้องติดข้อมูลนี้ไว้เป็นการถาวร ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ห้ามนำข้อมูลอื่นมาปิดทับ (ปิดบัง) หรือใช้ชิ้นส่วนของบรรจุภัณฑ์ที่ปิดทับหรือทำให้เกิดความไม่ชัดเจนหรือแยกออกจากกันหรือดึงความสนใจ อีกทั้งข้อมูลส่วนนี้ต้องมีขนาดขั้นต่ำ 1.2 มิลลิเมตร โดยใช้ตัว “x” เล็ก เป็นเกณฑ์ในการวัดขนาด สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กกว่า 80 ตารางเซนติเมตร (ขนาดครึ่งหนึ่งของไปรษณียบัตรมาตรฐาน) ตัวอักษรของข้อมูลที่สำคัญ (หรือจำเป็น) จะต้องมีขนาดขั้นต่ำที่ 0.9 มิลลิเมตร
การระบุชื่ออาหาร ประเภท และคุณสมบัติพิเศษของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต้องมีความชัดเจน อย่างไรก็ตามในอาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต หรือชีส มีข้อกำหนดพิเศษในข้อบังคับเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ รวมไปถึงการกำหนดชื่อพิเศษอื่น ๆ อย่างเช่น Spaetzle จะต้องระบุตามหนังสือว่าด้วยเรื่องอาหารเยอรมัน (das Deutsche Lebensmittelbuch หรืออยู่ใน www.dlmbk.de) แต่หากชื่ออาหารเหล่านี้ไม่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมาย จะต้องระบุชื่ออาหารในลักษณะที่สื่อความหมายอย่างชัดเจนเพื่อให้ทราบว่า ต้องการสื่อถึงอาหารประเภทใดอย่างชัดเจน
โดยปกติแล้วก็ต้องระบุทุกส่วนผสมไว้บนบรรจุภัณฑ์ โดยจะเรียงจากสัดส่วน (ร้อยละ) ที่มากไปหาน้อย โดยในรายการส่วนผสมจะต้องระบุสารปรุงแต่งอาหาร และเครื่องปรุง ที่ใช้ไว้อย่างชัดเจน โดยสารปรุงแต่งจะต้องแสดงชื่อประเภทอาหาร และมีรหัสบ่งชี้ประเภท E ไว้ชัดเจนด้วย (E ย่อมาจากยุโรป เป็นรหัสที่ใช้บ่งชี้วัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ในสหภาพยุโรป และสวิตเซอร์แลนด์ โดยวัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้ต้องผ่านการรับรองจาก EFSA - หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป) โดยชื่อส่วนผสมจะต้องมีความชัดเจนว่ามีหน้าที่อะไรในอาหารนั้น เช่น สีผสมอาหาร ในส่วนส่วนผสมทางเคมี หรือ รหัสบ่งชี้ประเภท E จะต้องแสดงให้ชัดเจนว่า เป็นสารประเภทใดอย่างชัดเจน เช่น เคอร์คูมิน หรือ E 100 เช่นกัน
จะต้องมีการระบุสารหรือผลิตภัณฑ์ที่สำคัญที่สุด 14 ชนิด ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ หรือแพ้ได้ เช่น ถั่ว หรือถั่วเหลือง อย่างชัดเจน และยังต้องเน้นชัด แสดงให้เห็นถึง สารและผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในรายการส่วนผสมอีกด้วย โดยผ่านรูปแบบต่าง ๆ ในฉลาก เช่น ใช้อักษรอื่นแตกต่างออกไป รูปแบบอักษรต่างออกไป (เช่น ตัวหนา) หรือ สีพื้นหลังแตกต่างออกไป เป็นต้น
การระบุน้ำหนักสุทธิ มีวัตถุประสงค์เพื่อแจ้งผู้บริโภคให้ทราบว่า จะได้รับสินค้าในปริมาณใด เช่น จำนวนชิ้น (ผลไม้) น้ำหนัก (กรัม หรือ กิโลกรัม) ปริมาณ (มิลลิลิตรหรือลิตร) เป็นต้น
การระบุอายุสินค้าถือเป็นเรื่องสำคัญว่า จะสามารถเก็บรักษาสินค้าไว้ในรูปแบบใด และได้นานขนาดไหน และมีคุณสมบัติเฉพาะอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ ในส่วนสินค้าบริโภคที่เน่าเสียงานจะใช้ “ควรบริโภคก่อน” แทน “อายุการเก็บรักษา” ในสินค้าบริโภคจำนวนมาก แม้ว่าจะเกินกำหนดอายุการเก็บรักษาแล้วก็ยังสามารถบริโภคได้ แต่ในส่วนสินค้าบริโภคที่มีการระบุ “ควรบริโภคก่อน” หากเกินวันที่ระบุก็ควรที่จะกำจัดสินค้าเหล่านี้เสีย
บนฉลากสินค้าบริโภคจะต้องมีการระบุ ชื่อ หรือบริษัท ที่รับผิดชอบต่อสินค้าดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน
ข้อบังคับด้านฉลากโภชนาการได้กำหนดว่า จะต้องระบุแหล่งกำเนิดให้ชัดเจน เพื่อผู้บริโภคจะสามารถอ่านหรือเห็นได้ง่าย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ข้อมูลนี้ร่วมในการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น สำหรับสินค้าบริโภคนั้น จะบังคับให้ระบุประเทศต้นกำเนิดหรือแหล่งกำเนิดไว้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดถึงประเทศต้นกำเนิดหรือแหล่งกำเนิด โดยมีการบังคับให้ระบุแหล่งกำเนิดของสินค้าจำพวกหมู แกะ แพะ และสัตว์ปีก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ สด แช่เย็น หรือ แช่แข็ง โดยเฉพาะอีกด้วย นอกจากนี้ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2020 เป็นต้นมา ส่วนผสมหลักของสินค้าบริโภคจะต้องมีการระบุให้ชัดเจน หากสิ่งนี้ไม่ได้สอดคล้องกับประเทศต้นกำเนิดหรือแหล่งกำเนิดสินค้า โดยสามารถดูได้จากรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน กกต. ดำเนินการตามระเบียบ (Commission Implementing Regulation) เลขที่ (EU) 2018/775
[2]
หากการใช้งานสินค้าทำได้ยากก็ต้องมีคำแนะนำในการใช้งานที่ชัดเจนระบุไปด้วย อย่างเช่น ในซุปกึ่งสำเร็จรูป หรือ ส่วนผสมสำหรับทำขนมอบ เป็นต้น ซึ่งจะต้องระบุให้ทราบว่า ควรใช้งานสินค้านี้อย่างไร
ในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เกิน 1.2% อาทิเช่น ไวน์ เบียร์ เหล้า หรือไวน์ผลไม้ จะต้องระบุร้อยละความเข็มข้น (% vol.) ไว้ด้วย
- การแสดงค่าโภชนาการ (Big 7)
ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2016 สินค้าบริโภคที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์จะต้องมีการแจ้งค่าโภชนาการไว้บนฉลากสินค้าด้วย โดยปกติแล้ว จะจัดแสดงในรูปแบบตาราง และเพื่อที่จะสามารถเข้าใจง่ายค่าโภชนาการเหล่านี้จะต้องเทียบกับอัตรา 100 กรัม หรือ 100 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตาม สามารถเพิ่มเติมข้อมูลเชิงบรรจุ หรือปริมาณการบริโภคต่อครั้ง (ชิ้น หรือ แผ่น) ได้เช่นกัน
โดยตารางค่าโภชนาการจะต้องมี 7 หัวข้อสำคัญ (Big 7) ได้แก่ (1) อัตราการเผาผลาญ (2) ไขมัน (3) ไขมันอิ่มตัว (4) คาร์โบไฮเดรต (5) น้ำตาล (6) โปรตีน และ (7) เกลือ สำหรับปริมาณวิตามินหรือสารอาหารอื่น ๆ (เส้นใย) จะต้องแสดงให้ชัดเจนด้วยหากมีการกล่าวบนบรรจุภัณฑ์ โดยในส่วน Big 7 นั้นจะระบุเป็นค่าร้อยละเที่ยบกับอัตรา 100 กรัม หรือ 100 มิลลิลิตร เป็นต้น หากต้องการที่จะแจ้งค่าเหล่านี้เชิงพลังงาน หรือเชิงปริมาณของ ไขมัน ไขมันอิ่มตัว น้ำตาล หรือ เกลือ อีกครั้งด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ ข้อมูลเหล่านี้จะต้องเป็นการแสดงเปรียบเทียบกับปริมาณการบริโภค และเทียบกับอัตรา 100 กรัม หรือ 100 มิลลิลิตรเท่านั้น
เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและป้องกันการหลอกลวง อาหารเลียนแบบ (อาทิ ไขมันจากพืชในรูปแบบชีสบนพิซซ่า) จะต้องแจ้งให้ทราบเป็นพิเศษ โดยหากมีการใช้อาหารเลียนแบบในการผลิตสินค้า จะต้องแจ้งถึงวัตถุที่ใช้อย่างชัดเจนติด ๆ กับชื่อสินค้า
- น้ำมันพืชและไขมันที่ผ่านการกลั่นแล้ว
สำหรับน้ำมันพืชและไขมันที่ผ่านการกลั่นแล้ว จะต้องแจ้งแหล่งที่มาของวัตถุดิบให้ทราบ (น้ำมันปาล์ม หรือ ไขมันมะพร้าว) โดยหากมีการระบุในรายการส่วนผสมว่า “น้ำมันพืช” หรือ “ไขมันที่ผ่านการกลั่นแล้ว” ก็จะต้องแจ้งแหล่งที่มาของพืชดังกล่าวติดต่อกันด้วย (น้ำมันปาล์ม น้ำมันถัวเหลือง) หลังจากนั้นก็สามารถดำเนินการตามสัดส่วนปริมาณรายการส่วนผสมต่อได้
- เนื้อสัตว์บกและสัตว์น้ำอัดก้อน
เนื้อสัตว์ที่จำหน่ายบางชนิดมองดูผิวเผินเหมือนกับเป็นเนื้อสัตว์แบบเป็นชิ้นใหญ่ ๆ แต่จริง ๆ แล้วเป็นการนำเนื้อชิ้นเล็ก ๆ จำนวนมากมาอัดรวมกันเป็นก้อน ซึ่งหากสินค้านี้มีวัตถุดิบดังกล่าวจะต้องแสดงให้ทราบอย่างชัดเจนว่าเป็น “เนื้อสัตว์บกและสัตว์น้ำอัดก้อน” ด้วย
สำหรับเนื้อแช่แข็ง เนื้อแช่แข็งที่แปรรูปแล้ว และผลิตภัณฑ์ประมงที่ยังไม่แปรรูปแช่แข็ง จะต้องระบุวันที่แช่แข็ง ทำได้โดยการระบุ "แช่แข็งเมื่อ..." ตามด้วยวันที่แช่แข็งครั้งแรก
เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนในระดับสูงอย่าง เครื่องดื่มชูกำลัง จะต้องแสดงอย่างชัดเจนบนฉลากว่าไม่เหมาะสำหรับ เด็ก เยาวชน ผู้ตั้งครรภ์ และ ผู้ที่กำลังให้นมเด็ก ในส่วนสินค้าที่มีคำว่า กาแฟ หรือ ชา อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องติดป้ายเตือนข้างต้น ในส่วนสินค้าบริโภคที่ไม่ใช่เครื่องดื่ม แต่มีส่วนผสมของคาเฟอีน ก็ต้องมีคำเตือนเช่นกัน อีกทั้งยังต้องแจ้งปริมาณคาเฟอีนในสินค้าอีกด้วย
- การติดฉลากสินค้าที่มีวัสดุนาโน
ส่วนผสมทั้งหมดที่มีอยู่ในอาหารที่ถูกผลิตขึ้นในรูปของวัสดุนาโนจะต้องระบุไว้อย่างชัดเจนในรายการส่วนผสม โดยการระบุส่วนผสมดังกล่าวต้องตามด้วยคำว่า "นาโน" ในวงเล็บ
- การซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต
ในกรณีของอาหารบรรจุสำเร็จรูปที่จำหน่ายทางอินเทอร์เน็ต ข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมด รวมไปถึง“ควรบริโภคก่อน” แทน “อายุการเก็บรักษา” ให้ชัดเจนก่อนที่ผู้บริโภคจะเสร็จสินการสั่งซื้อสินค้า โดยจะต้องปรากฏบนเว็บไซต์ หรือจัดทำโดยวิธีอื่นใดที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้บริโภคเห็นอย่างชัดเจน โดยผู้ผลิตสินค้าบริโภคจะต้องไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมใด ๆ จากผู้บริโภคสำหรับสิ่งนี้ อีกทั้งข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดจะต้องแสดงให้เห็นในช่วงเวลาที่จัดส่งสินค้าเรียบร้อยแล้วด้วย
ในกรณีของอาหารที่แช่แข็งก่อนขาจำหน่าย และถูกนำมาละลายเพื่อจำหน่าย คำว่า "ถูกละลายแล้ว" จะถูกต้องเพิ่มเข้าไปในฉลากของอาหารก่อนบรรจุหีบห่อ
ข้อกำหนดนี้ใช้ไม่ได้กับ : (1) ส่วนผสมแช่แข็งที่ใช้ในการแปรรูปอาหารและรวมอยู่ในผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย (2) อาหารที่แช่แข็งมีขั้นตอนที่จำเป็นทางเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต และ (3) อาหารที่ละลายแล้วไม่ส่งผลเสียต่อความปลอดภัยหรือคุณภาพของอาหาร
- กฎหมาย กฎ ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเพิ่มเติมของประเทศเยอรมนี
LMIV ถูกเพิ่มเติมในกฎหมายเยอรมนี ผ่าน “ข้อบังคับการดำเนินงานด้านข้อมูลอาหารแห่งชาติ (LMIDV - die nationale Lebensmittelinformations-Durchführungsverordnung)” ด้วย LMIDV จะใช้อำนาจกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย และอำนาจต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก โดย
- LMIDV กำหนดว่า อาหารที่จำหน่ายในเยอรมนีจะต้องมีฉลากเป็นภาษาเยอรมันเสมอ
- ยังคงรักษาสถานภาพทางกฎหมายที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1994 เกี่ยวกับเบียร์ต่อไป ซึ่งเบียร์ที่จำหน่ายในเยอรมนีจะต้องระบุรายการส่วนผสมให้ชัดเจน (ตามกฎข้อบังคับของยุโรป ไม่บังคับว่าจะต้องแจ้งรายการส่วนผสมสำหรับเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่า 1.2 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร)
- สำหรับอาหารที่บรรจุหีบห่อล่วงหน้าเพื่อจำหน่าย และอาหารในรูปแบบใช้งานบริการตนเอง องค์ประกอบการติดฉลากบางอย่างยังมีความจำเป็นแก่ผู้บริโภคขั้นสุดท้ายต่อไป
- มีการควบคุมวิธีการติดฉลากสารก่อภูมิแพ้สำหรับอาหารที่ไม่ได้บรรจุหีบห่อล่วงหน้า (Lose Ware)
- LMIDV ยังกำหนดบทลงโทษทางกฎหมายหากมีการละเมิด ตามข้อกำหนดของ LMIV และตามข้อบังคับ (Official Journal) เลขที่ (EU) 1337/2013
- กฎหมาย (กฎหมายการติดฉลากอาหาร, กฎหมายการติดฉลากคุณค่าทางโภชนาการ และ VorlLMIEV) ที่เกินความจำเป็นได้ถูกยกเลิกเมื่อ LMIDV มีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2017 เป็นต้นมา
- นอกเหนือจากตารางคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ยังสามารถแสดงอัตราการเผาผลาญ และปริมาณสารอาหารในรูปแบบอื่นตามข้อ 35 ย่อหน้าที่ 1 ของ LMIV ได้ โดยรูปแบบการนำเสนอนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อดำเนินการตามข้อกำหนดบางประการ โดยการใช้รูปแบบการติดฉลากดังกล่าวนี้เป็นไปโดยสมัครใจและสามารถได้รับการแนะนำจากประเทศสมาชิกได้
การเพิ่มเติมของฉลากโภชนาการสำหรับอาหารแปรรูปและอาหารบรรจุหีบห่อได้รับความเห็นชอบในสัญญาเพื่อการจัดตั้งรัฐบาล (Koalitionsvertrag) ฉบับที่ 19 ของรัฐสภาเยอรมัน ซึ่งรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการติดฉลากโภชนาการเพิ่มเติมนี้ ได้ถูกพัฒนาผ่านความร่วมมือกับ สมาคมอาหาร และผู้บริโภค อีกทั้งยังคำนึงถึงผลประโยชน์พิเศษของบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางแล้ว สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่ Extended Nutrition Labelling: Nutri-Score
[3] (ภาษาเยอรมัน)
- ทิศทางและแนวโน้มการจัดการฉลากอัจฉริยะในเยอรมนี
การติดฉลากทุกอย่างได้ถูกระบุ และกำหนดไว้ใน LMIV และ LMIDV แล้ว ซึ่งหากจะมีการใช้งานฉลากอัจฉริยะเพิ่มเติมก็สามารถปฏิบัติได้ตาม ตามข้อ 35 ย่อหน้าที่ 1 ของ LMIV ได้ โดยรูปแบบการนำเสนอนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อดำเนินการตามข้อกำหนดบางประการ ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องทราบถึงข้อกำหนดบางประการนี้ให้ชัดเจน
โดยฉลากอัจฉริยะในเยอรมนีในเวลานี้ ยังเป็นเพียงเรื่องสมัครใจและสามารถได้รับการแนะนำจากประเทศสมาชิกได้
- แนวทางการใช้ฉลากอัจฉริยะเพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดในเยอรมนี
โดยการติดฉลากอัจฉริยะได้รับการออกแบบให้มีความใกล้ชิดกับลักษณะทางกายภาพของผลิตภัณฑ์ แน่นอนที่ฉลากอัจฉริยะจะสามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้ซื้อออนไลน์ และออฟไลน์ การติดฉลากอัจฉริยะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์ได้ด้วยตนเอง ณ จุดขายผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์แสดงผลแบบโต้ตอบ โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดในด้านนี้ในปัจจุบันก็คือ (1) QR code ซึ่งพบเห็นการใช้งานบนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์บางประเภท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในไวน์และสุรา เพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดเป็นหลัก รหัส QR code จะถูกพิมพ์อยู่บนบรรจุภัณฑ์ซึ่งผู้ซื้อในร้านขายของจะสามารถสแกน QR code โดยใช้แอพสแกนผ่านสมาร์ทโฟน รหัสนี้จะนำผู้ใช้ไปยังหน้าเว็บหรือหน้าจอแอปที่มี Smart Label ของผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีอีกเทคโนโลยีหนึ่ง และอาจมีแนวโน้มที่ดีกว่าคือ (2) Near Field Communication (NFC) โดยการแตะสมาร์ทโฟนง่าย ๆ บนผลิตภัณฑ์ที่มีการฝัง RFID ซึ่งโดยปกติจะอยู่ที่ระยะห่าง 10 ซม. หรือน้อยกว่า จะทริกเกอร์การเข้าถึงฉลากอัจฉริยะบนหน้าจอ โซลูชันนี้มีแนวโน้มที่จะกำหนดข้อจำกัดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์หรือความน่าสนใจของชั้นวางน้อยกว่ารหัส QR เนื่องจากสามารถซ่อนการเข้ารหัส NFC ไว้ภายในบรรจุภัณฑ์ได้ เทคโนโลยีนี้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในระดับการผลิตแล้ว แต่ยังไม่มีมากในการกระจายไปยังผู้ใช้ปลายทางมากนัก
โดยในตลาดเยอรมนีแทบจะไม่มีทั้ง 2 เทคโนโลยีให้ใช้งานมากนักเพราะผู้บริโภคยังคงความอนุรักษ์นิยมไว้มาก อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคลสูง และไม่ทำการสแกนหรือรับทริกเกอร์อะไรง่าย ๆ อีกทั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในประเทศเยอรมันยังเรียกได้ว่าล้าหลังอยู่ ในบางห้างร้านค้าที่อยู่ในชั้นล่างหรือชั้นใต้ดินก็จะไม่สามารถรับสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งกว่าจะมีความนิยมใช้ฉลากอัจฉริยะอย่างแพร่หลายในประเทศเยอรมนีก็น่าจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะ จึงจะสามารใช้ได้จริงในอนาคต
[1] https://eur-lex.europa.eu/legal-content/DE/TXT/?uri=celex%3A32011R1169
[2] https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/?uri=CELEX%3A32018R0775&qid=1671288694977
[3] https://www.bmel.de/DE/themen/ernaehrung/lebensmittel-kennzeichnung/freiwillige-angaben-und-label/nutri-score/naehrwertkennzeichnungs-modelle-nutriscore.html