fb
9 ธุรกิจที่จะกำหนดทิศทางใหม่ของแผนการเติบโตทางเศรษฐกิจอินเดีย ด้วยมูลค่าสูงถึง 7.38 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

9 ธุรกิจที่จะกำหนดทิศทางใหม่ของแผนการเติบโตทางเศรษฐกิจอินเดีย ด้วยมูลค่าสูงถึง 7.38 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

โดย
chalotorns@ditp.go.th
ลงเมื่อ 07 กรกฎาคม 2568 13:00
32

   ธุรกิจอินเดียใน 9 ภาคส่วนที่มีศักยภาพ คาดว่าจะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีพลวัตในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประเทศ โดยบริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company ให้ข้อมูลว่า ธุรกิจทั้งเก้าจะสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศประมาณ 588,000 - 738,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2030 หรือเติบโตมากกว่า 3.5 เท่าจากปี 2023 ที่มีรายได้รวมระหว่าง 164,000 ถึง 206,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
     กลไกการเติบโตดังกล่าวขับเคลื่อนโดยธุรกิจทั้ง 9 ภาคส่วน ได้แก่ E-commerce เซมิคอนดักเตอร์ การให้บริการระบบคลาวด์ ความมั่นคงทางไซเบอร์  ยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่  เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI)  อวกาศ  ฟิชชันนิวเคลียร์  หุ่นยนต์  ซึ่งธุรกิจดังกล่าวที่ได้ถูกคัดเลือก จะถูกพิจารณาจากเกณฑ์ ได้แก่ 1 ) กิจกรรม ทางเศรษฐกิจที่มาจากการจดสิทธิบัตร ในจำนวนที่สูงกว่าค่ามัธยฐานถึงสองเท่า หรือ 2) การลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับชาติสองเท่า ตัวอย่าง  จากรายงานของบริษัท McKinsey คาดว่าธุรกิจ E-commerce จะมี รายได้เพิ่มขึ้น 4 เท่าจาก 60–70 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2023 เป็น 240–300 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2030 โดยคิดเป็นสัดส่วน 7–9% ของยอดค้าปลีกทั้งหมดในปี 2022–23 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 15–17% ภายในปี 2030 ทั้งนี้ ธุรกิจ E-commerce จะคิดเป็นสัดส่วน 40% ของรายได้รวมจากทั้ง 9 ภาคส่วนธุรกิจ สำหรับธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า จากมูลค่า 40–45 พันล้านเหรียญในปี 2023 เป็น 100–120 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2030

semi conduct AI.jpeg


นอกจากนี้ ธุรกิจอื่นๆ ยังมีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด เช่น รายได้จากซอฟต์แวร์ AI (emerging AI software) คาดว่าจะเติบโต 5–8 เท่าในช่วง 7 ปีข้างหน้า โดยมีบริษัทอินเดียกว่า 77,000 แห่งที่เริ่มนำเทคโนโลยี Copilot มาใช้ และในขณะเดียวกัน การใช้ผู้ช่วย AI อัจฉริยะ (agentic AI) ก็กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันทำให้อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI เร่งระบบให้กลายเป็นระบบอัตโนมัติที่เร็วขึ้น ในขณะเดียวกัน รายได้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจคลาวด์ (ขับเคลื่อนด้วยระบบ AI) คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4–5 เท่า ระหว่างปี 2023 ถึง 2030 จนแตะระดับ 70–80 พันล้านเหรียญสหรัฐ 
    สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งกำลังเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองอย่างมาก กำลังเข้าสู่ช่วงขยายตัว โดยคาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น 6–8 เท่า แตะระดับ 40–60 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในสิ้นทศวรรษ นอกจากนี้ ภาคพลังงานนิวเคลียร์แบบฟิชชันมีแนวโน้มสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 4–5 เท่า ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอวกาศ รัฐบาลอินเดียกำลังผลักดันอย่างเต็มที่ ยังมีแนวโน้มที่จะสร้าง รายได้เพิ่มขึ้นในระดับเดียวกันภายในปี 2030 โดยทั้งสองภาคส่วนนี้จำเป็นต้องลงทุนด้าน R&D ในระดับสูง โดยเฉพาะฟิชชันนิวเคลียร์ที่ใช้สัดส่วนงบ R&D คิดเป็น 8–10% ของรายได้รวม และภาคอุตสาหกรรมอวกาศที่จะมีค่าใช้จ่ายคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมทั่วไปที่ประมาณ 2%
ข้อมูลเพิ่มเติม 
1.    บริษัทอินเดียหลายแห่งเร่งเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์เพื่อบุกตลาดเซมิคอนดักเตอร์ผ่านกลไกการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศ (Acquisition) เช่น บริษัท Tata Electronics และ L&T Semiconductor Technologies (LTSCT) ได้เร่งแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว มุ่งเติมเต็มช่องว่างด้านเทคโนโลยีและบุคลากรเพื่อสนับสนุนการลงทุนในโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าข้อตกลงทางธุรกิจเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทอินเดียเข้าถึงเทคโนโลยีเฉพาะทางได้ เช่น เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ขั้นสูง เครื่องมือความแม่นยำสูง และการสร้างทักษะให้เกิดความชำนาญ ตัวอย่างเช่น บริษัท LTSCT และ Kaynes Semicon ได้เข้าซื้อธุรกิจ power modules ของ Fujitsu General Electronics จากญี่ปุ่น มูลค่า 14.25 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 118.34 โครว์อินเดีย) เพื่อเสริมศักยภาพในด้าน Outsourced Semiconductor Assembly and Test (OSAT) ขณะที่บริษัท Polymatech ได้เข้าซื้อ Nisene Technology Group จากสหรัฐอเมริกาเพื่อตั้งฐานการผลิตแบบครบวงจร นอกจากนี้ Tata Electronics กำลังเจรจาเข้าซื้อโรงงานในมาเลเซียด้าน fabrication และ OSAT เพื่อเสริมองค์ความรู้และเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มดำเนินการผลิตในอินเดีย
2.    แม้อินเดียจะมีจุดแข็งด้านการออกแบบชิป แต่การยกระดับสู่วงจรการผลิตที่มีมูลค่าสูงต้องอาศัยความสามารถด้าน บรรจุภัณฑ์และการผลิตขั้นสูง ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนของอินเดีย ซึ่งบริษัท CDIL (ร่วมมือกับ Infineon จากเยอรมนี) ให้ข้อมูลว่า การถ่ายทอดความรู้จากต่างประเทศไปยังทีมในประเทศเป็นความท้าทายสำคัญ โดยบริษัท Counterpoint Research เสริมว่า อินเดียควรเน้นการเริ่มต้นในระดับโรงงาน (mature node foundries) และระดับการเตรียมความพร้อมด้านการประกอบ OSAT/ATMP ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าเทคโนโลยีล้ำสมัยที่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกยังเป็นผู้เล่นในตลาด เช่น TSMC, Samsung และ Intel  อนึ่งบริษัท Forrester ระบุว่า การเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ เช่น wafer-level packaging, 2.5D/3D integration และ chiplet-based design ผ่านการเข้าซื้อกิจการ จะลดการพึ่งพาการนำเข้า และรองรับความต้องการจากบริษัทชั้นนำอย่าง Apple และ Intel ได้ดีขึ้น โดยรวมแล้ว แม้อินเดียยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการสร้างระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ที่สมบูรณ์ แต่กลยุทธ์การเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเร่งสร้างศักยภาพและมาตรฐานระดับโลกในระยะยาว
ผลกระทบทางเศรษฐกิจและความท้าทาย
    1.ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับปัจจัยการนำเข้าเทคโนโลยีขั้นสูง: เมื่ออินเดียเร่งขยายภาคส่วนธุรกิจสำคัญอย่าง
เซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) และคลาวด์คอมพิวติ้ง ประเทศจะมีความต้องการเครื่องจักรเฉพาะทางที่บริหารจัดการตั้งแต่ชิ้นส่วนไปจนถึงวัสดุที่มีความซับซ้อน ซึ่งประเทศไทยสามารถตอบสนองได้ โดยเฉพาะในหมวดชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสำหรับการบรรจุภัณฑ์ขั้นสูง
    2.แรงผลักดันของอินเดียในการส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ (Atmanirbhar Bharat/Self-Reliant India): นโยบายของอินเดียที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง เพื่อทดแทนการนำเข้า โดยเฉพาะในสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ อาจส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าบางประเภทที่ไทยส่งออกในปัจจุบันลดลงในระยะยาว
ข้อคิดเห็น
          อินเดียตั้งเป้าหมายด้านอุตสาหกรรมชั้นสูง 9 ด้านที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีพลวัตและสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ 7.38 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ประเทศไทยสามารถส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยกว่า 80% ของการส่งออกอยู่ในกลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า (Integrated Circuits) ซึ่งมีตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และสิงคโปร์ เพื่อต่อยอดศักยภาพดังกล่าว รัฐบาลไทยควรส่งเสริมการลงทุนจากผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนในระดับโลก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยกระดับบทบาทธุรกิจ จัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วนเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ให้กับอินเดียได้ โดยควรมุ่งเน้นการจัดหาวัสดุเซมิคอนดักเตอร์ที่มีความจำเพาะ ตัวเชื่อมต่อ อุปกรณ์ทดสอบ ชิ้นส่วนพาสซีฟ และส่วนประกอบยานยนต์ไฟฟ้า ควบคู่กับการสร้างความร่วมมือผ่านการทำข้อตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือร่วมพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ระบบหุ่นยนต์ เซนเซอร์อัจฉริยะ และระบบอัตโนมัติ กับภาคเอกชนอินเดียที่ต้องการเร่งเสริมสมรรถนะ นอกจากนี้ สามารถพิจารณาจัดตั้งคลังสินค้า หน่วยประกอบ หรือความร่วมมือด้านวิจัยในอินเดียเพื่อใช้ประโยชน์จากมาตรการจูงใจ เช่น โครงการ PLI ของอินเดีย (ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี) รวมถึงแสวงหาโอกาสร่วมลงทุนในบริการด้าน AI คลาวด์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ในธุรกิตฟินเทค อีคอมเมิร์ซ และการผลิต พร้อมทั้งใช้ประโยชร์จากการเข้าร่วมเวทีแสดงสินค้าเทคโนโลยีในอินเดียเพื่อสร้างเครือข่ายกับผู้ซื้อ ผู้ผลิต และผู้รวมระบบรายสำคัญของอินเดีย

sector to Grow2-07-2025.png


 

ที่มา: 1. https://www.business-standard.com/markets/news/a-738-bn-potential-9-sectors-set-to-redaw-india-s-global-growth-map-125062900459_1.html 
2.https://economictimes.indiatimes.com/tech/technology/indian-firms-target-overseas-assets-to-fast-track-semiconductor-

Share :
Instagram