Chilean Chamber of Construction (CChc)[1] หรือสภาอุตสาหกรรมก่อสร้างของชิลีรายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างที่พักอาศัยในประเทศยังคงหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากสถิติการขออนุญาตก่อสร้างที่พักอาศัยระหว่างปี 2564 - 2567 โดยลดลงเฉลี่ยร้อยละ 15.5 ต่อปี และเมื่อพิจารณาสถิติล่าสุดระหว่างเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2568 พบว่าการขออนุญาตก่อสร้างที่พักอาศัยลดลงจาก 2.45 ล้านตารางเมตร มาอยู่ที่ 2.1 ล้านตารางเมตร หรือลดลงร้อยละ 14.3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ด้านยอดขายที่พักอาศัยในปี 2567 ลดลงร้อยละ 8.0 โดยมีที่พักอาศัยสร้างเสร็จใหม่ที่รอการขายถึง 264,037 ยูนิต แบ่งเป็นบ้าน 18,854 ยูนิต และอพาร์ตเมนต์ 245,183 ยูนิต แต่ขายได้เพียง 23,969 ยูนิต หรือคิดเป็นร้อยละ 9.1 เท่านั้น ขณะเดียวกันจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จใหม่ทั่วประเทศที่สะสมถึงไตรมาสแรกของปี 2568 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 308,291 ยูนิต ซึ่งทางสภาฯ คาดการณ์ว่าอาจต้องใช้เวลาอีกกว่า 45 เดือนในการระบายที่พักอาศัยที่เหลือทั้งหมด ประธานสภาอุตสาหกรรมก่อสร้างของชิลี (นาย Alfredo Echavarría) แจ้งว่าสภาฯ อยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับภาครัฐบาล สถาบันการเงิน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินมาตรการกระตุ้นความต้องการที่อยู่อาศัย อาทิ การอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การปรับปรุงขั้นตอนการขออนุญาตและกฎระเบียบในการก่อสร้าง รวมถึงการเสนอให้พิจารณายกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์และการลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อที่พักอาศัย[2]
บทวิเคราะห์ / ความเห็นของ สคต. ณกรุงซันติอาโก
ที่พักอาศัยเป็นภาคส่วนที่มีสัดส่วนการก่อสร้างมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของชิลี[1] มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 69 ของการก่อสร้างทั้งหมดภายในประเทศ โดยในปี 2567 มูลค่าตลาดก่อสร้างที่อยู่อาศัยมีมูลค่าประมาณ 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ[2] ซึ่งสถานการณ์อุปทานที่พักอาศัยล้นตลาดในปัจจุบัน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างที่พักอาศัย ทั้งนี้ สคต.ฯ คาดว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุปทานที่พักอาศัยล้นตลาดเกิดจากกระแสการลงทุนและความต้องการที่พักอาศัยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นระหว่างปี 2559 - 2562 ที่กระตุ้นให้เกิดโครงการก่อสร้างจำนวนมากพร้อมกัน หลังจากนั้น ในช่วงปลายปี 2562 เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ทำให้โครงการก่อสร้างและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก และภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ชิลีก็ต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อภายในประเทศทำให้บริษัทก่อสร้างต้องปรับขึ้นราคาขาย เพื่อชดเชยต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นจากความล่าช้าในการก่อสร้าง สะท้อนจากดัชนีราคาผู้บริโภคในหมวดที่พักอาศัยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.5[3] โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 72,000 บาทต่อตารางเมตรสำหรับอพาร์ตเมนต์ และ 45,000 บาท ต่อตารางเมตรสำหรับบ้าน
จากการที่โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยต่าง ๆ สร้างเสร็จออกมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้มีจำนวนที่พักอาศัยสร้างเสร็จใหม่เข้าสู่ตลาดระหว่างปี 2564 - 2567 เฉลี่ยกว่า 251,460 ยูนิตต่อปี[4] ในขณะที่ยอดขายเฉลี่ยมีเพียง 25,182 ยูนิตต่อปี เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวชิลียังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่จากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และในปี 2567 อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 0.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.0 รวมทั้งสถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้นในการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ส่งผลให้อัตราการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวลดลงร้อยละ 9.1 จากปีก่อนหน้า ด้วยปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้จำนวนการขออนุญาตก่อสร้างโครงการที่พักอาศัยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ผลกระทบต่อประเทศไทย ภาคการก่อสร้างที่พักอาศัยต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมย่อยที่เกี่ยวข้องอีกนับร้อยประเภท เช่น เครื่องจักรเพื่อการก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ เหล็ก หลังคา กระเบื้อง ไม้ กระจก อุปกรณ์สุขภัณฑ์ สีทาอาคาร เป็นต้น จากการสืบค้นข้อมูลของ สคต.ฯ พบว่าในปี 2567 ชิลีนำเข้าปูนซีเมนต์ เครื่องจักรเพื่อการก่อสร้าง วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างจากทั่วโลกลดลงร้อยละ 25.5, 7.8, และ 4.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ สคต.ฯ คาดว่าอุตสาหกรรมดังกล่าว ของไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากไม่ใช่สินค้าส่งออกหลักของไทยมายังประเทศชิลี
อย่างไรก็ตาม สินค้าในกลุ่มอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (พิกัดศุลกากรที่ 85) อาจได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังชิลี และเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคที่พักอาศัย โดยข้อมูลล่าสุดจาก Global Trade Atlas ในปี 2568 (มกราคม-พฤษภาคม) พบว่ายอดการนำเข้าสินค้าในกลุ่มดังกล่าวมีมูลค่าการนำเข้าที่ 12 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงถึงร้อยละ 41.9 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ผู้ประกอบการไทยในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จึงควรเตรียมแผนรับมือและหาตลาดรองรับเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยสคต.ฯ เห็นว่าความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและการปรับปรุงนโยบายที่เหมาะสมจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการฟื้นตัวของภาคการก่อสร้างที่พักอาศัยในระยะยาวและยังช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยในการลงทุนมากขึ้นด้วย
_______________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
กรฎาคม 2568
[1] https://cchc.cl/indicadores
[2] https://www.informesdeexpertos.com/informes/mercado-inmobiliario-en-chile#:~:text=%C2%BFCu%C3%A1l%20fue%20el%20valor%20del,millones%20en%20el%20a%C3%B1o%202024
[3] https://www.ine.gob.cl/docs/default-source/%C3%ADndice-de-precios-al-consumidor/boletines/espa%C3%B1ol/2025/boletin-ipc-junio-2025.pdf
[4] https://cchc.cl/indicadores