สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ก้าวสู่การปฏิรูปภาษีสรรพสามิต (Excise Tax) ครั้งใหญ่ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มและตลาดส่งออกทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกเครื่องดื่มไปยังยูเออีซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าของตลาดในภูมิภาคตะวันออกกลาง
เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2568 สำนักงานภาษีของรัฐบาลกลางยูเออี (Federal Tax Authority - FTA) ได้ประกาศนโยบายใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2569 โดยเปลี่ยนจากระบบภาษีแบบเรทเดียวที่เก็บภาษี 50% สำหรับเครื่องดื่มหวานทุกประเภท มาเป็นระบบภาษีแบบขั้นบันได (Progressive Tax) ซึ่งคำนวณตามปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์จริง ทั้งนี้ ภาคธุรกิจจะได้รับการแจ้งรายละเอียดจาก FTA ล่วงหน้าเพื่อการเตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสม ส่วนรายละเอียดวิธีการดำเนินงานและอัตราภาษีแต่ละระดับจะประกาศให้ทราบต่อไป
ภาษีสรรพสามิตในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์: ครอบคลุมอะไร และเหตุใดจึงสำคัญ
ภาษีสรรพสามิตในยูเออีอยู่ภายใต้กฎหมายพระราชกฤษฎีกาแห่งสหพันธ์ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2560 (Federal Decree-Law No. 7 of 2017) ซึ่งเป็นภาษีทางอ้อมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ:
• ลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดผลเสีย
• ส่งเสริมสุขภาพประชาชนในระยะยาว
• สนับสนุนการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดการใช้บุหรี่ไฟฟ้า
• กระจายแหล่งรายได้ของรัฐให้พ้นจากการพึ่งพาน้ำมัน
• วางกรอบการกำกับดูแลสินค้าอันตรายอย่างเข้มงวด
• สร้างความตระหนักแก่ผู้บริโภคผ่านการเปิดเผยราคาและการจัดเก็บภาษีเชิงยับยั้ง
ภาษีสรรพสามิตเริ่มปฎิบัติใช้ในปี 2560 กับสินค้าประเภท ยาสูบ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มชูกำลัง และต่อมาในปี 2563 ได้ขยายไปยังอุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล
ระบบภาษีใหม่: "ยิ่งหวาน ยิ่งแพง" คืออะไร?
หลักการพื้นฐานของระบบใหม่จะคำนวณภาษีสรรพสามิตใหม่จาก "ปริมาณน้ำตาลต่อ 100 มิลลิลิตร" ในแต่ละผลิตภัณฑ์ แทนการเก็บภาษีในอัตราเดียวกับสินค้าทุกประเภทอย่างเดิม ทำให้เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงจะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้น ในขณะที่เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลต่ำ จะเสียภาษีน้อยกว่า
ภาพรวมภาษีสรรพสามิตปัจจุบันในยูเออี
ประเภทสินค้า | อัตราภาษีสรรพสามิต |
ผลิตภัณฑ์ยาสูบ | 100% |
เครื่องดื่มชูกำลัง | 100% |
อุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า | 100% |
น้ำยาสำหรับอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า | 100% |
ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลหรือสารให้ความหวาน | 50% |
เครื่องดื่มอัดลม | 50% |
โครงสร้างภาษีสรรพสามิตของยูเออีต่อเครื่องดื่มรสหวาน
เครื่องดื่มอัดลม:หมายถึงเครื่องดื่มที่มีการเติมก๊าซยกเว้นน้ำอัดลมรสธรรมชาติ นอกจากนี้ยังรวมถึงผลิตภัณฑ์เข้มข้น ผง เจล หรือสารสกัดที่นำไปผสมกับน้ำเพื่อกลายเป็นเครื่องดื่มอัดลม
เครื่องดื่มชูกำลัง:หมายถึงเครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นเพื่อเพิ่มพลังงานให้ร่างกายและจิตใจ เช่น คาเฟอีน ทอรีน โสม และกัวรานา รวมถึงผลิตภัณฑ์เข้มข้น ผง เจล หรือสารสกัดที่ใช้ผสมเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง
สารให้ความหวานทั้งสังเคราะห์และธรรมชาติ เช่น Saccharin, Aspartame, Sorbitol และ Neotame
สินค้าที่ได้รับยกเว้น (ไม่เปลี่ยนแปลง)
เครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของนมหรือสารทดแทนนมอย่างน้อย 75%
อาหารทารกและนมผงสำหรับทารก
ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อการแพทย์หรือโภชนาการเฉพาะทาง
ถึงเวลาที่ผู้ผลิตเครื่องดื่มหวานต้องปรับตัว
สำนักงานภาษีของยูเออี (FTA) ได้ประกาศให้เวลาผู้ผลิตเครื่องดื่มในประเทศได้เตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อรองรับนโยบายใหม่ที่จะมีผลในปี 2569 โดยคาดว่าจะประกาศรายละเอียดอัตราภาษีแต่ละระดับในไตรมาสที่ 4 ของปี 2568
ก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ในยูเออีได้พยายามลดปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ของตน หรือเปลี่ยนไปใช้สารให้ความหวานทางเลือก เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มด้านสุขภาพของภาครัฐ รวมถึงการต่อสู้กับโรคเบาหวานและโรคอ้วนในประเทศผู้ผลิตเครื่องดื่มรายหนึ่งกล่าวว่า"เราได้ลดปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพราะเป็นสิ่งที่เหมาะสมทั้งในด้านสังคมและธุรกิจและการที่รัฐบาลประกาศใช้โครงสร้างภาษีที่ยืดหยุ่นมากขึ้นก็เป็นรางวัลสำหรับความพยายามของเรา"
นอกจากนี้รัฐบาลยูเออียังสนับสนุนให้บริษัทในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มผลิตสินค้าในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งแนวทางนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ซึ่งได้มีการลงทุนในโครงการใหญ่หลายโครงการในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเป็นการสนับสนุนธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของผู้บริโภคอย่างแท้จริง
ผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทย
โอกาส: ตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจะเติบโตขึ้นอย่างมาก ความต้องการเครื่องดื่มน้ำตาลต่ำ หรือไม่มีน้ำตาลจะเพิ่มขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เช่น น้ำมะพร้าว น้ำผลไม้แท้ จะได้เปรียบในด้านต้นทุนและความนิยม
ความท้าทาย: ต้องลงทุนในการวิจัยและพัฒนาสูตรใหม่ รวมถึงการทดสอบและรับรองมาตรฐาน ปรับเปลี่ยนสายการผลิตเพื่อรองรับสูตรใหม่และกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนไป รวมถึงการแข่งขันในตลาดเครื่องดื่ม เพื่อสุขภาพที่เข้มข้นขึ้นทั่วโลก
ความเห็นของ สคต.ดูไบ
การปรับปรุงระบบภาษีสรรพสามิตของยูเออีไม่ใช่แค่การเปลี่ยนกฎหมายเท่านั้นแต่เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มในอนาคตผู้ส่งออกไทยที่สามารถปรับตัวอย่างรวดเร็วและมีแนวคิดสร้างสรรค์จะได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่ผู้ที่ยังยึดติดกับแนวทางเดิมอาจเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้น
สิ่งสำคัญคือ การเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ เพราะระยะเวลา 18 เดือนผ่านไปอย่างรวดเร็วการลงทุนในนวัตกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในตอนนี้จะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการขยายตลาดในอนาคต รวมถึงเป็นโอกาสในการเปิดตลาดใหม่ในประเทศอื่นๆ ที่มีนโยบายด้านสาธารณสุขในทิศทางเดียวกัน
นโยบายใหม่ของยูเออีไม่ใช่อุปสรรคแต่เป็นโอกาสสำหรับผู้ที่พร้อมเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้ทันยุค
-------------------------------------------------------------------------