fb
สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีชั่วคราวสำหรับแคปซูลชนิดเปลือกแข็งนำเข้าจากเวียดนาม
โดย
ลงเมื่อ 08 เมษายน 2568 11:17
9
เนื้อข่าว

หน่วยงานกำกับดูแลด้านมาตรการเยียวยาทางการค้าของเวียดนาม (Trade Remedies Authority of Vietnam: TRAV) กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา (Department of Commerce: DOC) ได้ออกข้อสรุปเบื้องต้นในการไต่สวนกรณีการใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (anti-subsidy) กับผลิตภัณฑ์แคปซูลชนิดเปลือกแข็ง (hard capsule shell products) พิกัดศุลกากร 9602.00.1040 และ 9602.00.5010 ที่นำเข้าจากเวียดนาม

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาได้เริ่มการไต่สวนกรณีดังกล่าวตามคำร้องของภาคการผลิตภายในประเทศ โดยในระหว่างกระบวนการไต่สวน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้เชิญผู้ถูกกล่าวหา (mandatory defendants) จำนวน 2 ราย เข้าร่วมการสอบสวน แต่หนึ่งในนั้นได้แจ้งว่าไม่ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปยังสหรัฐฯ ในช่วงระยะเวลาการไต่สวน ส่งผลให้เหลือผู้ถูกกล่าวหาหลักเพียงรายเดียวในกรณีนี้

ตามข้อสรุปเบื้องต้นที่ได้มีการเผยแพร่ล่าสุด อัตราภาษีตอบโต้การอุดหนุนชั่วคราว (temporary anti-subsidy tax) ในกรณีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 2.15 และคาดว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลแบบภาคสนาม (on-site inspections) เพื่อยืนยันข้อมูลที่ได้รับจากผู้ประกอบการเวียดนาม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการออกข้อสรุปสุดท้ายและการกำหนดอัตราภาษีอย่างเป็นทางการสำหรับผู้ประกอบการเวียดนาม ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถยื่นข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ได้ภายใน 7 วันหลังจากการเผยแพร่รายงานการตรวจสอบขั้นสุดท้าย ส่วนข้อโต้แย้งต่อข้อคิดเห็นจากฝ่ายอื่นจะต้องยื่นภายใน 5 วันหลังจากเส้นตายการยื่นข้อคิดเห็น

ตามข้อสรุปเบื้องต้นที่เพิ่งเผยแพร่ออกมา อัตราการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนชั่วคราว (he temporary anti-subsidy tax) ในกรณีดังกล่าวจะอยู่ที่ร้อยละ 2.15 และคาดว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะดำเนินการตรวจสอบแบบ on-site inspections เพื่อยืนยันข้อมูลที่ได้รับจากผู้ประกอบการเวียดนาม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการออกข้อสรุปสุดท้ายและการกำหนดอัตราภาษีอย่างเป็นทางการสำหรับผู้ประกอบการเวียดนาม ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถยื่นข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ได้ภายใน 7 วันหลังจากวันที่รายงานการตรวจสอบขั้นสุดท้ายถูกเผยแพร่ ข้อโต้แย้งต่อข้อคิดเห็นจากฝ่ายอื่นจะต้องยื่นภายใน 5 วันหลังจากกำหนดเส้นตายสำหรับการยื่นข้อคิดเห็น หลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ อาจจัดการประชุมหารือหากมีคำร้องจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และจะออกข้อสรุปสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้น ในวันที่ 5 สิงหาคม 2568 หากไม่มีการขยายเวลา

TRAV ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมและให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ในการทบทวนครั้งถัดไป พร้อมทั้งยื่นข้อคิดเห็นเกี่ยวกับข้อสรุปเบื้องต้นของหน่วยงานหากเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็น

(แหล่งที่มา https://thesaigontimes.vn/ ฉบับวันที่ 29 มีนาคม 2568)

วิเคราะห์ผลกระทบ

สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินมาตรการจัดเก็บภาษีนำเข้าสำหรับผลิตภัณฑ์แคปซูลชนิดเปลือกแข็ง (hard capsule shell products) บางประเภทที่นำเข้าจากเวียดนาม อันเนื่องมาจากข้อกล่าวหาเรื่องการทุ่มตลาดและการได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอย่างไม่เป็นธรรม กรณีดังกล่าวถูกยื่นโดยบริษัท Lonza Greenwood LLC เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (DOC) และคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (ITC) ซึ่งมีหน้าที่ในการสอบสวนพฤติกรรมการทุ่มตลาดและการอุดหนุน รวมถึงการประเมินผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศสหรัฐฯ

ตามคำกล่าวหาของบริษัท Lonza Greenwood LLC เวียดนามส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 12 ของการนำเข้าทั้งหมด และอาจถูกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในอัตราร้อยละ 65.97 ถึง 89.33 เนื่องจากสหรัฐฯ ถือว่าเวียดนามเป็นประเทศที่ไม่ใช่เศรษฐกิจแบบตลาด (Non-Market Economy) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จึงใช้มูลค่าทดแทนจากประเทศที่สาม เช่น อินโดนีเซีย ในการคำนวณอัตราการทุ่มตลาด โดยให้เหตุผลว่าอินโดนีเซียมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจใกล้เคียงกับเวียดนามและมีผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แคปซูลชนิดเปลือกแข็ง จำนวนมาก นอกจากข้อกล่าวหาการทุ่มตลาดแล้ว เวียดนามยังถูกกล่าวหาว่าได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลผ่านโครงการต่าง ๆ จำนวน 23 โครงการ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญหรือเป็นภัยคุกคามต่ออุตสาหกรรมการผลิตแคปซูลชนิดเปลือกแข็งของสหรัฐฯ

มาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจเวียดนาม โดยอัตราภาษีที่สูงขึ้นจะทำให้ผลิตภัณฑ์จากเวียดนามมีราคาแพงขึ้นในตลาดสหรัฐฯ ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงอาจทำให้ผู้ส่งออกสูญเสียตลาดและรายได้ลดลง นอกจากนี้ มาตรการนี้อาจมีผลกระทบทางจิตวิทยาต่ออุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ ของเวียดนามที่อาจถูกตรวจสอบเพิ่มเติม การสูญเสียตลาดสหรัฐฯ อาจทำให้เวียดนามต้องเร่งหาตลาดใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยง รวมถึงการปรับกลยุทธ์ด้านการผลิตและการกำหนดราคาเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้ทางการค้าในอนาคต

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

จากกรณีที่สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินมาตรการจัดเก็บภาษีนำเข้าชั่วคราวกับผลิตภัณฑ์แคปซูลชนิดเปลือกแข็งจากเวียดนาม เนื่องจากข้อกล่าวหาเรื่องการทุ่มตลาดและการได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล อาจส่งผลให้ต้นทุนการส่งออกของเวียดนามสูงขึ้นและความสามารถในการแข่งขันลดลงในตลาดสหรัฐฯ สถานการณ์นี้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดและเพิ่มส่วนแบ่งในสหรัฐฯ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรการตอบโต้ทางการค้าเช่นเดียวกัน จึงสามารถใช้จุดแข็งด้านต้นทุนที่แข่งขันได้มากกว่า ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drung Administration: FDA) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดเป้าหมาย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับแนวโน้มความต้องการของตลาด เช่น แคปซูลจากพืชหรือวัสดุชีวภาพ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มและตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการเสริมสร้างมาตรฐานการผลิตให้ได้รับการรับรองระดับสากล เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือในสายตาผู้นำเข้า นอกจากนี้ควรใช้ประโยชน์จากช่องทางอื่น เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้โครงการ GSP (หากยังมีผลใช้บังคับในสินค้านั้น) การร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ รวมถึงการลงทุนใน R&D เพื่อสร้างความแตกต่างและหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาเพียงอย่างเดียว เพื่อรองรับการขยายตลาดในระยะยาวอย่างยั่งยืน

News-31-March-4-April-US-imposes-tax-on-Vietnamese-capsule-shells-Edit.pdf
Share :
Instagram