การประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่ 17 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2025 ณ นครรีโอเดจาเนโร ภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานของประเทศบราซิล โดยการประชุมสุดยอดนี้อยู่ภายใต้หัวข้อ "Strengthening Global South Cooperation for Inclusive and Sustainable Governance” ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ การประชุมครั้งนี้ได้รวบรวมผู้นำระดับรัฐและรัฐบาลจากสมาชิกทั้ง 11 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ อียิปต์ เอธิโอเปีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แม้ว่าจะมีข้อสังเกตที่น่าสนใจในการเข้าร่วมครั้งนี้ คือ ผู้นำจีนประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกและประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียไม่ได้เข้าร่วมเช่นกัน
ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำ ได้มีการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม BRICS ขึ้นเมื่อวันที่ 28–29 เมษายน 2025 ณ เมืองรีโอเดจาเนโร แม้ว่ารัฐมนตรีจะไม่สามารถตกลงร่วมกันในถ้อยแถลงร่วมได้ แต่ต่างพร้อมที่จะแสดงความกังวลที่มีต่อแนวโน้มการค้าลักษณะปกป้องตนเองมากขึ้น(Protectionism) โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกา
สำหรับวาระการเป็นประธานกลุ่ม BRICS ประจำปี 2025 ภายใต้การนำของประเทศบราซิล ประธานได้เสนอกรอบยุทธศาสตร์ที่เน้นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มโลกใต้ (Global South) พร้อมกับส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนอย่างครอบคลุมในมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศสมาชิก บราซิลได้เสนอประเด็นความร่วมมือสำคัญ 6 ด้าน เพื่อยกระดับการดำเนินงานร่วมกันของกลุ่ม ได้แก่ 1) ความร่วมมือด้านสุขภาพระดับโลก 2) การค้า การลงทุน และการบูรณาการทางการเงิน 3) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 4) ธรรมาภิบาลของปัญญาประดิษฐ์ (AI) 5) การปฏิรูปกรอบความร่วมมือด้านสันติภาพและความมั่นคงพหุภาคี 6) การพัฒนาเชิงสถาบันและกลไกภายในของกลุ่ม BRICS อย่างไรก็ดี ภายหลังการขยายสมาชิกภาพครั้งล่าสุด กลุ่ม BRICS มีเป้าหมายในการยกระดับความสำคัญของประเทศในกลุ่มโลกใต้หรือ Global South ให้เป็นที่เคารพบนเวทีระหว่างประเทศ และวางบทบาทให้เป็นกลุ่มที่สามารถถ่วงดุลกับอิทธิพลของโลกตะวันตก การหารือในการประชุมสุดยอดครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่ประเด็นการระบุขอบเขตของศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สามารถเกื้อหนุนกัน การกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาร่วมกัน และการเปิดรับโอกาสใหม่ในการความร่วมมือข้ามพรมแดน ทั้งนี้ การประชุมสุดยอด BRICS ประจำปี 2025 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนผ่านของกลุ่ม จากพันธมิตรของห้าเศรษฐกิจเกิดใหม่ สู่การเป็นพันธมิตรที่กว้างขวางมากขึ้นถึง 11 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งมีเจตนาร่วมกันในการส่งเสริมระเบียบโลกแบบพหุขั้ว และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับสากล
ท่าทีและการดำเนินการของอินเดีย
1.การเข้าร่วมของนายกรัฐมนตรีโมดี: นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่ 17 และมีการหารือที่มีประสิทธิผลในประเด็นต่างๆ รวมถึงการปฏิรูปการกำกับดูแลระดับโลก การเสริมสร้างเสียงของกลุ่มโลกใต้ และประเด็นด้านสันติภาพ การเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ที่นรม.โมดีเดินทางไปบราซิล และเป็นการเยือนระดับรัฐบาลไปยังบราซิลครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีอินเดียในรอบเกือบ 60 ปี
2.บทบาทในอนาคตของอินเดีย: อินเดียจะเป็นประธานของ BRICS ในปี 2026 ซึ่งทำให้การเข้าร่วมของนรม.โมดีในการประชุมครั้งนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ
3.ประเด็นสำคัญ: ระหว่างการประชุมอินเดียได้หยิบยกประเด็นการปฏิรูปการกำกับดูแลระดับโลก ความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญญาประดิษฐ์ และอื่นๆ โดยอินเดียมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการหารือประเด็นเหล่านี้ตามความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือของกลุ่ม Global South อนึ่ง การประชุมครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการวางตำแหน่งของ กลุ่ม BRICS ในฐานะกลุ่มทางเลือกเชิงสถาบันระหว่างประเทศที่ไม่ยึดโยงกับโลกตะวันตก ในการกำกับดูแลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลก โดยอินเดียมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านพหุภาคีนิยม (multilateralism) และการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศในกลุ่มโลกใต้ (Global South) อย่างชัดเจน
ข้อมูลเพิ่มเติม
1.นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย นำคณะเข้าร่วมการประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2568 นับเป็นครั้งแรกที่ไทยเข้าร่วมเวทีนี้ในฐานะประเทศพันธมิตร โดยได้ร่วมหารือเกี่ยวกับแนวทางการเสริมสร้างระบบพหุภาคีที่เอื้อต่อประโยชน์ร่วมของประเทศกำลังพัฒนา โครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเงินโลก และแนวทางการส่งเสริมธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ รัฐมนตรีได้นำเสนอบทบาทของไทยในเรื่องการระดมทุนเพื่อการพัฒนา การปฏิรูปโครงสร้างสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ และได้ผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การฟอกเงิน และอาชญากรรมทางดิจิทัล
2. กระทรวงการต่างประเทศเสนอให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ BRICS และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างจดหมายแสดงเจตนาของไทยในปี 2024 ซึ่งไทยได้เข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นมา (รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากรัสเซีย ในฐานะประธานกลุ่ม BRICS ปี 2567 ) ในขณะที่อินโดนีเซียได้เป็นสมาชิกเต็มรูปแบบเรียบร้อยแล้ว
ผลกระทบทางเศรษฐกิจและความท้าทาย
แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ แห่งสหรัฐฯจะได้ประกาศว่า "ประเทศใดที่จัดแนวร่วมกับนโยบายต่อต้านอเมริกาภายใต้ความร่วมมือของ BRICS จะถูกเก็บภาษีเพิ่มเติม 10% โดยจะไม่มีข้อยกเว้น" ผ่านโซเชียลมีเดีย Truth Social โดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่าหมายถึงนโยบายใด แต่สถานการณ์ของอินเดียไม่ได้ออกมาตอบโต้โดยตรงต่อการประกาศภาษีของทรัมป์ในช่วงการประชุม ในขณะที่รัฐบาลไทยภายหลังการเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยังคงสงวนท่าทีต่อการประกาศภาษีของทรัมป์ในช่วงการประชุม BRICS 2025
ข้อคิดเห็น
BRICS มีความสำคัญทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสมาชิกกลุ่ม BRICS มีประชากรรวมกันเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก มี GDP รวมกันคิดเป็นร้อยละ 27.1 ของ GDP โลก และในปี 2568 IMF ประมาณการว่า เศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS จะขยายตัวที่อัตราร้อยละ 4.2 สำหรับอินเดีย นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความร่วมมือที่สำคัญในประเด็น 1) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ของ BRICS ควรดำเนินโครงการตามหลักความต้องการที่แท้จริง (demand-driven) 2) การจัดตั้งฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัย 3) ความสำคัญกับการสร้างห่วงโซ่อุปทานของแร่ธาตุที่สำคัญให้มีความมั่นคง 4) การส่งเสริมการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ ควบคู่ไปกับประเด็นด้านธรรมาภิบาล AI ซึ่งเป็นที่สังเกตว่า รัฐบาลไทยมีความเห็นด้านการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก การเสริมสร้างความร่วมมือพหุภาคี และการส่งเสริมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ กลายเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับนโยบายของฝ่ายอินเดีย ซึ่งหากพิจารณาแล้วการแสดงบทบาทของไทยในเวทีต่างประเทศที่มีความสมดุล จะเป็นการส่งเสริมบทบาทของไทยในกรอบความร่วมมือพหุภาคี ซึ่งไทยต้องการผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาได้รับความสำคัญมากขึ้น นอกจากนี้ การเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS ก็จะเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก BRICS ซึ่งเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ตลอดจนเชื่อมโยงกับกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ไทยมีบทบาทสำคัญ อาทิ อาเซียน เอเปค ACD และ BIMSTEC ได้ต่อไป
ที่มา: 1. https://www.mea.gov.in/Portal/ForeignRelation/BRICS-2025.pdf
2. https://thailand.prd.go.th/en/content/category/detail/id/2078/iid/403382