fb
แนวโน้มผู้บริโภคในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของแคนาดาในปี 2568

แนวโน้มผู้บริโภคในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของแคนาดาในปี 2568

โดย
rukchanam@ditp.go.th
ลงเมื่อ 11 กรกฎาคม 2568 11:00
4

            ในยุคปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มต้องปรับตัวตามให้ทัน แบรนด์ต้องคิดล่วงหน้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงทั้งในแง่สินค้า ประสบการณ์ในการบริโภค และช่องทางการจัดจำหน่าย นางโจแอน แมคอาร์เธอ (Jo-Ann McArthur) ประธานบริษัท Nourish Food Marketing กล่าวถึงแนวโน้มสำคัญ ของผู้บริโภค 7 ประการ ดังนี้

1. การกลับมาทำอาหารโดยใช้ประสบการณ์หรือความรู้สึกมากกว่าการทำตามสูตร

การทำอาหารแบบอิสระ กำลังกลายเป็นไวรัลจากการเติบโตของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้เปิดประตูให้ผู้คนทดลองทำอาหารแบบไม่ยึดติดกับสูตรตายตัว แทนที่จะทำตามสูตรคนหันมาแชร์เทคนิค การเปลี่ยนส่วนผสม และการทำอาหารแบบใช้สัญชาตญาณมากขึ้นในครัว คนรุ่นใหม่เรียนรู้การทำอาหารจากคลิปต่างๆ ในโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะใน TikTok  มีการแชร์สูตรที่เข้าถึงง่าย สนุกสนาน และช่วยสร้างความมั่นใจในครัว ส่งเสริมให้เกิดการทำอาหารแบบ “ใส่นู่นนิด ใส่นี่หน่อย” ซึ่งช่วยให้คนพัฒนาทักษะพื้นฐานในการทำอาหารมากกว่าจะตามสูตร สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ การท่องโลกผ่านครัวจากทั่วทุกมุมโลก โดยการใช้ฟังก์ชัน Duet และ Stitch ของ TikTok เพื่อสร้างสรรค์หรือปรับปรุงสูตรเดิมต่อยอดจากผู้อื่น เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วม และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์

2. เทรนด์การดื่มน้ำยุคใหม่ - H2O 2.0 

การดื่มน้ำกลายเป็นส่วนสำคัญของกระแสรักสุขภาพ ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการดื่มน้ำ โดยในยุคนี้ผู้บริโภคต้องการมากกว่าแค่ดื่มน้ำเปล่า ผู้บริโภคสนใจเครื่องดื่มที่มีการเติมรสชาติและคุณประโยชน์ให้น้ำมีคุณสมบัติพิเศษ เช่น บำรุงสมอง ให้พลังงาน กระตุ้นระบบย่อยอาหาร 

เครื่องดื่มจากเทรนด์ #WaterTok บน TikTok 

ทำให้น้ำกลายเป็นเรื่องสนุก ผ่านการเติมรสชาติด้วยสูตรสร้างสรรค์ และกระแสขวดน้ำยอดฮิต เช่น Stanley Quencher  ช่วยให้ผู้คนดื่มน้ำได้มากขึ้น และไม่รู้สึกน่าเบื่ออีกต่อไป ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับคุณภาพน้ำมากขึ้น โดยหันมาใช้ระบบกรองที่สามารถขจัดไมโคร-พลาสติกได้ รวมถึงความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมยังทำให้หลายครัวเรือนลดการใช้น้ำขวด และหันมาใช้น้ำกรอง พร้อมเติมฟังก์ชันเสริม เช่น วิตามิน แร่ธาตุ คาเฟอีน หรือพรีไบโอติก 

คนรุ่นใหม่ดื่มแอลกอฮอล์น้อยลงและสลับกับการดื่มเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ โอกาสใหญ่สำหรับแบรนด์ที่ให้ทางเลือกมากกว่า การทดแทน ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น Hop water (น้ำกลิ่นฮอปส์ ซึ่งไม่มีแคลอรีและกลูเตน) และ White Claw ซึ่งเป็น Hard Seltzer ผสมอิเล็กโทรไลต์

3. เทรนด์อาหารยั่งยืน - กินเพื่อยืดอายุ 

ผู้คนหันมาสนใจอาหารในพื้นที่ที่คนอายุยืน (Blue Zone Diet) เช่น Okinawa (ญี่ปุ่น), Sardinia (อิตาลี), Ikaria (กรีซ), Nicoya (คอสตาริกา), Loma Linda (แคลิฟอร์เนีย) โดยแนวทางการกินกลุ่มอาหารจากพืชและอาหารไม่แปรรูป การใช้ชีวิตเน้นกิจกรรมกลางแจ้งออกกำลังกายสม่ำเสมอ การมีเพื่อน ครอบครัว หรือกลุ่มสังคมที่สนับสนุนกันช่วยลดความเครียด ภาวะซึมเศร้า และเพิ่มความสุขในชีวิต

สุขภาพดีเป็นการลงทุนระยะยาว คือเป้าหมายใหม่ของของทุกวัย คนหันมาสนใจการดูแลสุขภาพแบบ “เชิงป้องกัน” ตั้งแต่อายุน้อย โดยเฉพาะอาหารที่ช่วย ชะลอวัย เสริมสุขภาพ และ ยืดอายุขัยอย่างมีคุณภาพ  ไม่ใช่แค่ “อยู่รอด” แต่ “อยู่อย่างแข็งแรง” โดยเน้นการออกกำลังกายและบริโภคโปรตีนมากขึ้น

4. ประสบการณ์รับประทานอาหารที่ไม่ได้เน้นแค่รสชาติ แต่ครบทุกประสาทสัมผัส

ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการมากกว่าแค่รสชาติอาหาร ประสบการณ์กินแบบครบทุกประสาทสัมผัสได้หลายมิติ

แบรนด์ที่ต้องการสร้างความโดดเด่นควรสร้างประสบการณ์กินที่ ครบรส ครบสัมผัส และชวนจดจำ การสร้างประสบการณ์กินที่ดีไม่ได้จบที่ รสชาติเท่านั้น การมองเห็น เสียง และเนื้อสัมผัสล้วนมีผลอย่างมากต่อความรู้สึกและความพึงพอใจของผู้บริโภค กลิ่นมีอิทธิพลต่อรสชาติมากกว่าที่คิด การมองเห็นจากการจัดจานและสีของอาหารมีผลโดยตรงต่อความรู้สึกมากกว่าอาหารน่ากินสดใหม่หรือไม่ เสียงและสัมผัสในปาก เช่น กรอบ นุ่ม ละมุน หรือหนึบ มีผลต่อความอร่อย การจับคู่สัมผัส เช่น ไอศกรีมนุ่มกับท็อปปิ้งกรอบ สร้างประสบการณ์ที่หลากหลายและน่าจดจำ 

นอกจากนี้ การสร้างกิจวัตรในการบริโภคสินค้าเป็นการเพิ่มความผูกพันและความจำแบรนด์ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลังช่วยให้แบรนด์สร้างประสบการณ์ที่ลึกซึ้งโดยเฉพาะเมื่อผูกกับประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น การสั่ง Starbucks ด้วยภาษาเฉพาะ (Tall, Grande, Venti) การกิน Oreo แบบแยกชั้น ดิปนม ฯลฯ

5. การยกระดับการกินที่บ้าน ให้พิเศษเหมือนออกไปร้านอาหาร

กินหรูอยู่บ้าน เป็นเทรนด์ใหม่ของผู้บริโภคยุคนี้ ราคาการรับประทานอาหารนอกบ้านที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาทำอาหารเองมากขึ้น แต่ยังโหยหาประสบการณ์แบบร้านอาหารจึงเกิดเทรนด์ 
“กึ่งโฮมเมด” – ใช้วัตถุดิบกึ่งสำเร็จ เช่น ซอสสเต็กหรือแป้งพาย เพื่อให้มื้อธรรมดากลายเป็นมื้อพิเศษแบบไม่ยุ่งยาก ผู้บริโภคต้องการฉลองโมเมนต์เล็กๆ ในชีวิต เช่น มื้อค่ำวันศุกร์ หรืออาหารเช้ากับครอบครัว แบรนด์สามารถตอบโจทย์ด้วยสินค้าและไอเดียที่ช่วยยกระดับมื้ออาหาร พร้อมสร้างบรรยากาศหรูหราแบบอยู่บ้านง่าย ๆ

6. กระแสอาหารจากพืชเริ่มพัฒนาไปในทิศทางที่ใช่และเหมาะสมกับตลาดมากขึ้น

โปรตีนทางเลือก (alternative protein) กำลังเผชิญจุดเปลี่ยนสำคัญ สินค้าเลียนแบบเนื้อมียอดขายชะลอตัว ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการเลิกกินเนื้อ 100% แต่ต้องการทางเลือกเพิ่มเติม สินค้าพืชพื้นฐาน เช่น เต้าหู้ เทมเป้ ถั่วต่างๆ จึงเป็นสินค้าทางเลือกที่กำลังเติบโต โดยผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์จากพืชที่ไม่ต้องเลียนแบบเนื้อแต่ชูคุณค่าและอร่อยในแบบของตัวเอง เน้นความเป็นธรรมชาติ ไม่ผ่านกระบวนการมาก และเข้ากับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ โอกาสอยู่ที่การนำเสนอพืชในฐานะโปรตีนทางเลือกที่อร่อย คุ้มค่า ดีต่อสุขภาพ ช่วยให้แข็งแรง อายุยืน 

7. การเติบโตและการปรับตัวของร้านสะดวกซื้อ (C-Store)

ร้านสะดวกซื้อกำลังถูกปฏิรูปใหม่ให้เป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค โดยเปลี่ยนจากแค่จุดซื้อของเล็กๆ กลายเป็นศูนย์กลางไลฟ์สไตล์ครบวงจร ด้วยรูปแบบการทำงานแบบไฮบริด (Hybrid Working) ส่งผลให้ผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ Millennials และ Gen Z ที่ต้องการซื้อสินค้าแบบเร่งด่วนจากร้านใกล้บ้านและที่ทำงานตลอดทั้งวันและชอบซื้อของกินหรือดื่มระหว่างวันมากกว่าซื้อของครั้งใหญ่เป็นรายสัปดาห์ ร้านสะดวกซื้อสามารถตอบโจทย์ความสะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงง่ายกว่าร้านค้าปลีกทั่วไป โดยเฉพาะสินค้าขนมเพื่อสุขภาพ อาหารพร้อมทาน และกาแฟ
พรีเมียม

ความคิดเห็น สคต. 

แนวโน้มผู้บริโภคในแคนาดาสำหรับปี 2568 เปิดโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจในหลายด้าน โดยเฉพาะในตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร ขนมทานเล่นและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ สินค้าที่สะดวกง่ายต่อการปรุงหรือเตรียมอาหาร (Ready to Eat/Ready To Cook) และสินค้าโปรตีนทางเลือกจึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจและเพิ่มการส่งออกในกลุ่มสินค้าดังกล่าว

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

*****************************************

Share :
Instagram