fb
ตลาดสินค้าเครื่องแต่งกายในตลาดสหราชอาณาจักร
โดย
Pacharam@ditp.go.th
ลงเมื่อ 02 กรกฎาคม 2568 17:00
19

แม้ว่าสหราชอาณาจักรจะต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ ต้นทุนด้านพลังงาน รวมถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ตลาดสินค้าแฟชั่นในสหราชอาณาจักรได้ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในปี 2566 ตลาดสินค้าแฟชั่นในสหราชอาณาจักรมียอดขายประมาณ 64,500 ล้านปอนด์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 กว่า พันล้านปอนด์ และคาดการณ์ว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และจะมีมูลค่ากว่า 79,000 ล้านปอนด์ภายในปี 2572

กลุ่มผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (sustainability) โดยแบรนด์ต่างๆ เริ่มใช้วัสดุที่ยั่งยืน และใช้วิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ เสื้อผ้าวินเทจและเสื้อผ้ามือสองกำลังกลายเป็น   เทรนด์ที่นิยม โดยเหตุผลที่ชาวสหราชอาณาจักรจำนวนมากชอบเสื้อผ้าวินเทจและเสื้อผ้ามือสอง เนื่องจากมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร และผู้บริโภคยุคใหม่เริ่มตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการซื้อสินค้าแฟชั่นมากขึ้น ซึ่งการใช้สินค้ามือสองยังเป็นการช่วยลดขยะ โดยเทรนด์เสื้อผ้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ เสื้อผ้าสตรีทแวร์ (Streetwear) และ เสื้อผ้าที่ใส่สบาย จึงทำให้เทรนด์ชุดลำลองและชุดออกกำลัง (Loungewear & Athleisure) ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

ที่มา: omnishopapp.com

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความเห็น สคต. ในปี 2568 ผู้บริโภคและเทคโนโลยียังคงมีบทบาทในการกำหนดเทรนด์แฟชั่น โดยเฉพาะการใช้อินฟลูเอนเซอร์ซึ่งเป็นผู้นำกระแสที่มีผู้ติดตามนำสไตล์มาใช้ทันที นอกจากนี้เทคโนโลยียังได้เปลี่ยนแปลงประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์อย่างสิ้นเชิง โดยผู้บริโภคหันมาช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้นเนื่องจากความสะดวกสบาย ทั้งนี้ แบรนด์ต่างๆ เริ่มนำเครื่องมือ AI มาใช้ และเน้นช่องทางการจำหน่ายผ่านมือถือมากขึ้น นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียยังคงมีความสำคัญต่อวงการแฟชั่นในการกำหนดเทรนด์แฟชั่น และอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้ง (Influencer Marketing) ยังคงเป็นวิธีที่ใช้ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ แต่เนื่องจากปัจจุบันมีอินฟลูเอนเซอร์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แบรนด์จึงควรเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของแบรนด์ มีผู้ติดตามที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และมีความน่าเชื่อถือและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค

Share :
Instagram