fb
อียิปต์ในเวที BRICS: บทบาทเชิงรุกและโอกาสสำหรับเศรษฐกิจโลก

อียิปต์ในเวที BRICS: บทบาทเชิงรุกและโอกาสสำหรับเศรษฐกิจโลก

โดย
teraponb@ditp.go.th
ลงเมื่อ 15 กรกฎาคม 2568 14:00
21

 

Screenshot 2568-07-15 at 13.13.58.png

 

  • การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS อย่างเป็นทางการของอียิปต์เมื่อต้นปี 2567 ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับอียิปต์ ทั้งในด้านนโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการเพิ่มสมาชิกให้กับกลุ่ม BRICS เท่านั้น แต่เป็นการเติมเต็มยุทธศาสตร์เชิงภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจที่มุ่งลดการพึ่งพิงขั้วอำนาจเดิม และเสริมสร้างบทบาทในฐานะผู้เล่นหลักในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ของอียิปต์  การประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่ 17 ที่ริโอเดจาเนโร บราซิล เมื่อวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2568 จึงเป็นเวทีแรกที่อียิปต์ได้แสดงวิสัยทัศน์และจุดยืนในฐานะสมาชิก BRICS อย่างเต็มตัว
  • แรงจูงใจสำคัญของการเข้าเป็นสมาชิก BRICS ของอียิปต์ คือ ต้องการจะผนึกกำลังทางเศรษฐกิจกับประเทศสมาชิกที่มีขนาดตลาดใหญ่อยู่แล้ว โดยในปี 2565 มูลค่าการค้ารวมระหว่างอียิปต์กับประเทศ BRICS (เดิม) พุ่งสูงถึง 36.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 25% ของการค้ารวมทั้งหมดของอียิปต์ แม้จะเผชิญความท้าทายในปีต่อมา แต่ในปี 2566 มูลค่าการค้ายังคงรักษาระดับไว้ที่ 31.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  อีกทั้งการเพิ่มสมาชิกใหม่เข้ามาในกลุ่ม BRICS+ ซึ่งรวมถึงประเทศเศรษฐกิจสำคัญอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย คาดว่าจะผลักดันมูลค่าการค้ารวมให้เพิ่มขึ้นในระดับ 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มนี้คือฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอียิปต์ในปัจจุบันและอนาคต
  • นอกจากนี้ อียิปต์ยังใช้การเข้าร่วม BRICS เป็นโอกาสในการแสดงบทบาททางการเมืองและสร้างสมดุลอำนาจบนเวทีโลก โดยในการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีอียิปต์ได้ป่าวประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการเงินโลก โดยลดการพึ่งพิงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และส่งเสริมการชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่นระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินของอียิปต์ (2) การเร่งการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเน้นความร่วมมือในภาคส่วนสำคัญ เช่น พลังงาน การผลิต โครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการพัฒนาและถ่ายทอด เทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และการสนับสนุนการจัดหาเงินทุนที่เข้าถึงง่ายสำหรับประเทศกำลังพัฒนาผ่านบทบาทของธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (NDB) และ (3) การแสดงจุดยืนอันแข็งขันในประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา อียิปต์เรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันทีและปฏิเสธการพลัดถิ่นของชาวปาเลสไตน์อย่างเด็ดขาด บทบาทนี้สะท้อนให้เห็นว่า BRICS เป็นมากกว่ากลุ่มเศรษฐกิจ แต่เป็นเวทีที่ช่วยเสริมสร้างเสียงของกลุ่มประเทศโลกใต้ในประเด็นที่เปราะบางและซับซ้อน

ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ

  • BRICS+ คือตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง ด้วยจำนวนประชากรมหาศาลและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไทยอาจใช้โอกาสนี้เพื่อผลักดันสินค้าส่งออกของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดอียิปต์และกลุ่ม BRICS
  • ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (NDB) เป็นแหล่งเงินทุนสำคัญสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศสมาชิก การที่อียิปต์เป็นสมาชิก NDB จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไทยที่เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน และพลังงานหมุนเวียน สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในอียิปต์และประเทศสมาชิก BRICS อื่น ๆ ได้มากขึ้น
  • ประเทศไทยอาจพิจารณาส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของไทยในอียิปต์หรือการลงทุนของอียิปต์ในไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เช่น การท่องเที่ยว พลังงานหมุนเวียน และการเกษตรแปรรูป
  • ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาสำรวจช่องทางการค้าใหม่ๆ ที่เกิดจากการรวมกลุ่มของ BRICS+ รวมถึงการศึกษาข้อตกลงทางการค้าและลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อให้เกิดความเข้าใจในข้อจำกัดและสิทธิประโยชน์ในการทำการค้าระหว่างประเทศกับกลุ่ม BRICS ต่อไป 

ที่มา

 

 

Share :
Instagram