fb
ผลไม้แช่แข็ง ราคาเพิ่มขึ้น 80% ในรอบ 5 ปี
ลงเมื่อ 15 กรกฎาคม 2568 07:00
41

image.png

ผลไม้แช่แข็ง ราคาเพิ่มขึ้น 80% ในรอบ 5 ปี

ราคาของผลไม้แช่แข็งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้ราคาผลไม้สดสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปรับขึ้นราคา แต่ความต้องการของผู้บริโภคก็ยังเพิ่มสูงขึ้น

ผลไม้แช่แข็งกลายเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตเร่งรีบ เพราะสามารถนำมาปรับแต่งได้ง่าย และถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ความนิยมของเครื่องดื่มสมูทตี้ก็มีส่วนช่วยเพิ่มความต้องการผลไม้แช่แข็งด้วยเช่นกัน

ยอดขายผลไม้แช่แข็งในร้านค้าทั่วประเทศยังคงเติบโต จากข้อมูลการขายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วญี่ปุ่น พบว่าความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่าระหว่างปี 2564 ถึงปัจจุบัน ขณะที่สถาบันวิจัยคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะเติบโตจาก 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2568 เป็น 824 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2576

image.png

จุดเริ่มต้นของการขยายตัวในตลาดผลไม้แช่แข็งคือ “สมูทตี้จากร้านสะดวกซื้อ” โดยเฉพาะเมื่อร้าน Lawson เปิดตัว “กรีนสมูทตี้” ในปี 2558 ซึ่งต่อมาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปี 2561 

image.png

จากนั้นในปี 2566 ร้าน 7 – Eleven ก็เริ่มวางจำหน่ายสมูทตี้เช่นกัน โดยสามารถเจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นและนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มีบางบริษัทที่หันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจผลไม้แช่แข็งมากขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัท Aohata ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ผลไม้แช่แข็ง ให้เพิ่มจาก 2.2% (ตามผลประกอบการปีงบประมาณ 2567) เป็น 10% ภายในปี 2571

สาเหตุที่บริษัทต้องเร่งขยายตลาดใหม่คือ ตลาดผลิตภัณฑ์หลักอย่าง “แยม” กำลังหดตัวลง Aohata จึงพยายามผลักดันยอดขายของผลิตภัณฑ์ผลไม้แช่แข็งแบรนด์ “Kuchidoke Frozen” ให้เติบโตขึ้น 

image.pngimage.pngไม่เพียงแต่ใช้สำหรับสมูทตี้เท่านั้น แต่ยังเป็นที่นิยมในการใส่ในน้ำโซดา ชา หรือใช้เป็นท็อปปิ้งของแพนเค้กและของหวานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติและความสวยงาม

ในช่วง 5 ปี ระหว่างปี 2563 ถึง 2568 ราคาของผลไม้แช่แข็งได้เพิ่มขึ้นถึง 1.79 เท่า บริษัท Fruta Fruta ซึ่งดำเนินธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายผลไม้ ได้ปรับราคาสินค้า "อะซาอีโบลในบ้านคุณ" (おうちでアサイーボウル) ต่อแพ็คขึ้นในเดือนตุลาคม 2567 โดยมีราคาสูงกว่าตอนเปิดตัวในปี 2555 ถึง 20% แม้ยอดขายจะลดลงในช่วงแรกหลังการปรับราคา แต่ปัจจุบันความต้องการของผู้บริโภคได้กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ญี่ปุ่นนำเข้าผลไม้แช่แข็งจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยระหว่างปี 2564 ถึง 2567 ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น 126% ในเชิงปริมาณ และเพิ่มขึ้น 148% ในเชิงมูลค่า

สินค้าที่นำเข้าหลัก ได้แก่ มะม่วง สตรอว์เบอร์รี สับปะรด และผลไม้อื่น ๆ โดยที่ มะม่วงครองสัดส่วนสูงสุดถึง 80% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดจากไทย ความต้องการที่มั่นคงจากญี่ปุ่นนี้ได้ช่วยสนับสนุนรายได้ของเกษตรกรไทย โรงงานแปรรูป และผู้ส่งออกอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นไม่ได้พึ่งพาการนำเข้าจากไทยเพียงประเทศเดียว แต่ยังนำเข้าผลไม้แช่แข็งจากประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอเมริกาใต้ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา และไทยอาจสู้ไม่ได้

ดังนั้น การรักษาคุณภาพและสร้างแบรนด์ผ่านมาตรฐานสินค้าที่สูง รวมถึงการพัฒนาและรักษาระบบโซ่ความเย็น (Cold Chain) ให้มีเสถียรภาพ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาและขยายปริมาณการส่งออกของไทยในระยะยาว

image.png

image.png

ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต. 

ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาดและเริ่มต้นการค้ากับลูกค้าใหม่ในญี่ปุ่น สิ่งสำคัญคือผู้ผลิตต้องมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหารในระดับสากล เช่น HACCP และ GMP พร้อมทั้งต้องมีระบบ การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ของผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน โดยต้องระมัดระวังการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ให้เกินปริมาณที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยสุขอนามัยอาหารของญี่ปุ่น ผู้ส่งออกจึงควรหารือกับผู้นำเข้า เพื่อยืนยันให้แน่ชัดว่าสินค้าเป็นไปตามข้อกำหนด และควรเตรียมแนวทางรับมือไว้ล่วงหน้าในกรณีที่เกิดปัญหาด้านกฎหมายหรือการตรวจสอบ

 

            นอกจากรสชาติแล้ว สิ่งที่ผู้ซื้อชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมากคือ “ความน่าเชื่อถือ” ซึ่งรวมถึงความสามารถในการจัดส่งสินค้าอย่างสม่ำเสมอในปริมาณที่แน่นอน   และการตอบกลับหรือสื่อสารกับผู้ซื้ออย่างใส่ใจและรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจอย่างยั่งยืน            

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

แปลและเรียบเรียงจาก

หนังสือพิมพ์ Nikkei Shimbun ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม 2568

ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์

https://travel.marumura.com/recommend-smoothie-in-lawson-japan/

https://www.planmyjapan.com/7-eleven-smoothies-japan/

ฉบับที่ 41 ประจำวันที่ 5 -11 กรกฎาคม 2568.pdf
Share :
Instagram