สถาบันวิจัยแห่งสำนักข่าว Handelsblatt (HRI- Handelsblatt Research Institute) ได้ปรับเพิ่มประมาณการทางเศรษฐกิจปี 2025 ขึ้นเล็กน้อย โดยคาดว่า ปีนี้เศรษฐกิจเยอรมนีน่าจะยังคงซบเซา โดยมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 0.0% หรือเพิ่มจากการคาดการณ์ก่อนหน้า ที่อยู่ที่ -0.1% สำหรับในปี 2026 HRI คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) น่าจะโตขึ้น 0.9% ซึ่งจะหมายความว่า ในปี 2025 เศรษฐกิจเยอรมนีไม่ขยายตัวเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเยอรมนีภายหลังสงคราม อย่างไรก็ดี อีกหลายปีเศรษฐกิจของเยอรมนีถึงจะฟื้นตัวจากความอ่อนแอได้มากกว่านี้ ตามการคาดการณ์ของ HRI ในปี 2026 อัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) น่าจะสูงกว่าปี 2019 หรือก่อนที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เกือบ 1% โดยเหตุผล ก็คือ ภาคเอกชนทยอยปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) มากขึ้น นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ถึง 8 ครั้ง (ที่ผ่านมา) ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต อีกทั้งโครงการของรัฐบาลทั้งในด้านการป้องกันประเทศและโครงสร้างพื้นฐานต่างก็มีส่วนช่วยเพิ่มอุปสงค์ทางเศรษฐกิจอีกด้วย ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่า โครงการตามแผนต่าง ๆ ของรัฐบาลนั้น จะขยายทุนเรือนหุ้น (Capital Stock) ได้ในระดับใด เช่น เพิ่มกำลังการผลิตของภาคเศรษฐกิจผ่านการปรับปรุงหรือสร้างโรงงาน และซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ ๆ เป็นต้น
ด้านนาย Bert Rürup หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ HRI ย้ำว่า “การปรับประมาณการครั้งก่อนในระดับปานกลางนั้น ส่วนใหญ่เป็นเชิงเทคนิค โดยเศรษฐกิจในไตรมาสแรกที่แข็งแกร่งขึ้นทำให้ผลประกอบการตลอดทั้งปีดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” สำนักงานสถิติประจำประเทศเยอรมนี (Statistisches Bundesamt) คำนวณการเติบโตทางเศรษฐกิจของไตรมาสแรกไว้ที่ 0.4% ซึ่งสูงกว่าที่ประมาณการครั้งก่อนมาก นาย Rürup กล่าวว่า “ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า นี่คือการพลิกฟื้นของภาคเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เมื่อพิจารณาจากนโยบายการค้าที่คาดเดาไม่ได้ของนาย Donald Trump ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ซึ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา ช่วงต้นปีเศรษฐกิจมักจะเริ่มต้นด้วยแนวโน้มเชิงบวกเสมอมา และบ่อยครั้งก็กลับมาถดถอยอีกครั้ง” และเมื่อพิจารณาจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่คาดว่า น่าจะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของเยอรมนีในไตรมาสแรกไว้ค่อนข้างมาก โดยในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา Trump ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแทบทุกวัน เศรษฐกิจของเยอรมนีได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาษีนำเข้าที่สูงของสหรัฐฯ เนื่องจาก (1) สหรัฐฯ เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของผลิตภัณฑ์ Made-in-Germany ในปี 2024 และ (2) ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ได้ทำให้อุปสงค์ในสหรัฐฯ ลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ เยอรมนีและยุโรปยังเสี่ยงที่จะตกอยู่ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังกำหนดข้อจำกัดทางการค้ากับบริษัทหรือสินค้าบางประเภทเพื่อกีดกันไม่ให้จีนตามเทคโนโลยีของส่วนอื่น ๆ ของโลกทัน ซึ่งบริษัทที่ไม่ได้เป็นของสหรัฐฯ อาจถูกประเด็นดังกล่าวคว่ำบาตรตามไปด้วย ในขณะเดียวกัน จีนเองก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเส้นทางการส่งออกสินค้า จากเดิมที่เคยขายให้สหรัฐฯ มายังยุโรปแทน เพราะในตลาดสหรัฐฯ มีกำแพงภาษีศุลกากรสูงเกินจริง จนอาจส่งผลให้ราคาและอัตรากำไรของผู้ประกอบการในยุโรปลดลง และกดดันผู้ผลิตในประเทศ แต่อิทธิพลทางเศรษฐกิจที่ทรงพลังที่สุดของจีน คือ การผูกขาดแร่ธาตุหายากหลายชนิด แร่ธาตุหายากเหล่านี้มีความจำเป็นสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ป้อนให้กับสายการผลิตสมาร์ทโฟนและรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยปักกิ่งอาจบังคับให้ภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญทั่วโลกหยุดการผลิตสินค้าต่าง ๆ ด้วยข้อจำกัดในการส่งออกที่เข้มงวดได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่า เป็นความท้าทายครั้งสำคัญต่อเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั่วโลก แต่ความหวังในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเยอรมนีกลับเพิ่มขึ้นทั้งในภาคเอกชนและผู้บริโภค ความหวังนี้ดูเหมือนจะได้รับการส่งเสริมจากประเด็นที่ว่า หลังจากที่การเมืองในเยอรมนีซบเซามานานกว่า 6 เดือน ในที่สุดเยอรมนีก็มีรัฐบาลที่ทำหน้าที่ได้อีกครั้ง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่ม Union หรือกลุ่มสหภาพที่ประกอบด้วยพรรคสหภาพคริสต์เตียนเพื่อประชาธิปไตยประเทศเยอรมนี (CDU - Christlich Demokratische Union Deutschlands) และพรรคสหภาพสังคมนิยมคริสต์เตียนแห่งนครรัฐบาวาเรีย (CSU - Christlich-Soziale Union in Bayern) พรรคสังคมนิยมเพื่อประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD - Sozialdemokratische Partei Deutschlands) พวกเขาต่างก็พยายามเผยแพร่ความหวังด้านบวกออกไปและก็ดูเหมือนว่า จะประสบความสำเร็จเสียด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจระดับผู้บริหาร (Geschäftsklimaindex) ที่จัดทำโดยสถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจมหาวิทยาลัยมิวนิค (Ifo – Institut für Wirtschaftsforschung an der Universität München) ได้ปรับตัวดีขึ้นเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว แม้ว่าจะเป็นการขยายตัวเพียงก้าวเล็ก ๆ ก็ตาม จากผลสำรวจพบว่า บริษัทในภาคอุตสาหกรรมต่างมองไปยังอนาคตเชิงบวกมากขึ้น สูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ดัชนีผู้บริโภคของสมาคมผู้ค้าปลีกชาวเยอรมัน (HDE – Handelsverband Deutschland) ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเวลา 5 เดือนติดต่อกัน และอยู่ที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2024 ในเดือนมิถุนายนนี้ ความคาดหวังของผู้บริโภคที่ได้รับการสำรวจเกี่ยวกับการเติบโตของรายได้ของตนเองนั้นสูงถึงระดับสูงสุดในรอบ 63 เดือน และจะเป็นครั้งแรกที่กลับมาอยู่ที่ระดับก่อนเกิดวิกฤติไวรัสโคโรนา อย่างไรก็ตาม ความหวังดังกล่าวดูเหมือนจะเกินจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากคลื่นการล้มละลายที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยในประเทศในขณะนี้
HRI คาดว่า ในแง่มูลค่าจริงของปีนี้การบริโภคส่วนบุคคลจะเติบโตขึ้น 0.7% และ 0.8% ในปี 2026 แต่เมื่อเทียบกับปีก่อนวิกฤติการระบาดของไวรัสโคโรนาในปี 2019 ตัวเลขดังกล่าวจะสอดคล้องกับการบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นจริงรายปีเฉลี่ยเพียงประมาณปีละ 0.25% เท่านั้น ในส่วนการบริโภคของภาครัฐ ซึ่งมักจะเป็นตัวรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจากการบริหารงบประมาณชั่วคราวของรัฐบาลกลาง คาดว่า จะเติบโตเพียง 0.4% ซึ่งน่าจะดำเนินต่อไปเช่นนี้จนถึงฤดูใบไม้ร่วงจนกว่าจะมีตัวเลขงบประมาณปกติ จากนั้นน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 2% ในปี 2026 ดังนั้น เมื่อนับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา การบริโภคของภาครัฐเติบโตขึ้นเฉลี่ยประมาณ 2% ต่อปี ซึ่งมากกว่าการบริโภคส่วนบุคคลถึง 8 เท่า จากการคาดการณ์ดังกล่าว การลงทุนด้านอุปกรณ์/เครื่องจักรจะยังคงอ่อนแอคงที่ต่อไปโดยเฉพาะในธุรกิจก่อสร้างที่กำลังประสบวิกฤติอย่างหนัก HRI ยังคาดว่า การลงทุนจะลดลงอีก 1.5% ในปี 2025 และน่าจะเพิ่มขึ้น 0.8% ในปี 2026 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการของรัฐบาลที่ดำเนินการอยู่ และแรงจูงใจในนโยบายการลดค่าเสื่อมราคาที่วางแผนไว้สำหรับภาคเอกชน อย่างไรก็ตามการลงทุนด้านอุปกรณ์/เครื่องจักรในปี 2026 จะลดลงเกือบ 11% เมื่อเที่ยบกับระดับก่อนเกิดวิกฤตฯ ในส่วนการค้าต่างประเทศซึ่งเคยเป็นตัวค้ำประกันการเติบโตทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในอดีต ยังเป็นตัวการหลักส่งผลกระทบต่อการพัฒนาตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2025 และ 2026 แต่เนื่องจากปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างหนัก ดุลการส่งออกสุทธิจึงมีแนวโน้มที่จะติดลบในปี 2025 ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำลง สาเหตุหลักมาจากเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งทำให้การส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ใช้เงินสกุลเหรียญสหรัฐมีราคาสูงขึ้น และการนำเข้าสินค้าจากพื้นที่ดังกล่าวมีราคาถูกลง ตลาดแรงงานเยอรมันซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของเศรษฐกิจเยอรมนีมาช้านาน ค่อย ๆ ทยอยกลายเป็นปัญหาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คาดว่า เหลือเวลาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้นก่อนที่อัตราการว่างงานในประเทศจะกลับมาเกินหลักสามล้านคนอีกครั้ง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2011 เลยทีเดียว โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักงานจัดหางานของรัฐบาลกลางเยอรมนี (BA - Bundesagentur für Arbeit) รายงานว่า มีผู้ว่างงาน 2.963 ล้านคน หลังจากหักลบอัตราแปรปรวนปรับตามฤดูกาล ซึ่งเพิ่มขึ้น 34,000 คน จากเดือนก่อนหน้า ภาวะเศรษฐกิจซบเซาหลายปีติดต่อกันทำให้จำนวนบริษัทที่ประกาศล้มละลายเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ และโครงการรัดเข็มขัดในภาคอุตสาหกรรมทำให้มีผู้ลงทะเบียนว่างงานเพิ่มขึ้นกว่าช่วงที่อัตราลงทะเบียนว่างงานต่ำสุดในฤดูใบไม้ผลิปี 2019 เกือบ 750,000 คน ตลอดปี 2025 HRI คาดว่า ผู้ว่างงานโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2.98 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 210,000 คน เมื่อเทียบกับปีก่อน และคาดว่า ในปี 2026 จะมีผู้ลงทะเบียนเป็นผู้ว่างงานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.1 ล้านคน ในขณะเดียวกัน ตัวเลขการจ้างงานก็ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ตามข้อมูลของ HRI การจ้างงานจะลดลง 62,000 คน ในปีนี้ และจะลดลงอีก 116,000 คน ในปี 2026 เหลือเพียง 45.9 ล้านคน เท่านั้น ซึ่งตัวเลขการว่างงาน และตัวเลขการจ้างงานสะท้อนให้เห็นเพียงบางส่วนของการพัฒนาตัวทางเศรษฐกิจเท่านั้น นอกจากนี้ งานในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่มีค่าจ้างที่ดีก็กำลังทยอยถูกยกเลิก อย่างไรก็ตาม ก็มักมีการสร้างการจ้างงานใหม่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจด้านสังคมหรือธุรกิจบริการที่ไม่ต้องการความซับซ้อน เช่น อุตสาหกรรมร้านอาหารหรือการจัดเลี้ยง ซึ่งค่าจ้างต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรม และการจ้างงานนอกเวลาเป็นเรื่องปกติ นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้จำนวนชั่วโมงการทำงานลดลงเล็กน้อยในปี 2024 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสฯ เป็นต้นมา โดยลดลง 0.1% เหลือ 61,370 ล้านชั่วโมง แม้จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยก็ตาม ในปี 2024 จำนวนพนักงานประจำลดลง 0.2% ในทางตรงกันข้ามจำนวนพนักงานพาร์ทไทม์เพิ่มขึ้น 1.2% อัตราการจ้างงานพาร์ทไทม์อยู่ที่ 39.5% เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉลี่ยแล้วในปี 2024 ผู้มีงานทำจะทำงานโดยเฉลี่ยประมาณ 1,332 ชั่วโมง น้อยกว่าปีก่อน 3.5 ชั่วโมง โดยในปี 2024ชั่วโมงการทำงานของพนักงานทั้งหมดรวมถึงพนักงานพาร์ทไทม์ลดลง 1.2 ชั่วโมง ทำให้ชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยเหลือต่ำกว่า 1,294 ชั่วโมง/คน นาย Rürup หัวหน้าทีมเศรษฐศาสตร์ของ HRI กล่าวว่า “ข้อเรียกร้องของนาย Friedrich Merz นายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ชาวเยอรมันทำงานมากขึ้น นั้นดูเหมือนจะถูกต้องในประการแรก อย่างไรก็ตามข้อเรียกร้องดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอ” ปัญหาที่ Merz ชี้ให้เห็น ในปัจจุบันนั้นไม่ได้อยู่ที่ขาดแรงจูงใจในการทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจำนวนการจ้างงานเต็มเวลาที่ลดน้อยลงด้วย ในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในภาคการผลิต ตามการคาดการณ์ของ BA ในช่วง 12 เดือน ที่ผ่านมา ตำแหน่งการจ้างงานที่จ่ายเงินสมทบเข้าสู่ระบบประกันสังคมหายไป 127,000 ตำแหน่ง ในขณะเดียวกันปริมาณตำแหน่งงานในปริมาณที่ใกล้เคียงกันถูกสร้างขึ้นในฝ่ายบริหารสาธารณะ (หน่วยงานรัฐ) และในภาคธุรกิจการดูแล และบริการสังคม ตั้งแต่ปี 2018 ภาคอุตสาหกรรมเยอรมันประสบกับภาวะซบเซาเป็นเวลานานผิดปกติ โดยในช่วงแรกภาวะซบเซาเกิดจากผลกระทบของคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน และการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการจดทะเบียนรถยนต์ อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังประสบกับวิกฤตโครงสร้างที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุตสาหกรรมนี้สูญเสียการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง และให้ความสำคัญกับแนวโน้มของการพัฒนาตัวของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ช้าเกินไป
ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมวิศวกรรมเครื่องกลและวิศวกรรมไฟฟ้ากำลังประสบปัญหาที่เกิดจากการก้าวเข้ามาของเทคโนโลยีจากคู่แข่งชาวจีนที่มีต้นทุนต่ำกว่าของตนอย่างมาก อีกทั้งอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานจำนวนมากต้องลดกำลังการผลิตในประเทศลงอย่างถาวรเนื่องมาจากประสบกับปัญหาราคาไฟฟ้าและก๊าซที่เพิ่มขึ้นสูง หลังจากที่สงครามในยูเครนปะทุขึ้น ได้มีการตัดสินใจที่ไม่แน่นอนของรัฐบาลกลางเยอรมันชุดก่อน ๆ ได้ทำให้เยอรมนีสูญเสียความเชื่อมั่นในฐานะศูนย์ที่ตั้งธุรกิจอย่างหนัก โดยความหวังเชิงบวกซึ่งเกิดขึ้นในขณะนี้มีมีพื้นฐานมาจากความหวังที่ว่า รัฐบาลกลางชุดใหม่ภายใต้การนำ Merz จะไม่เพียงแค่ตระหนักถึงปัญหาเรื่องศูนย์ที่ตั้งธุรกิจเท่านั้น แต่ยังจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างกล้าหาญด้วย “โครงการเร่งด่วน” ที่ประกาศออกมาเพื่อลดราคาไฟฟ้า และการปรับอัตราการคำนวณค่าเสื่อมราคาสำหรับภาคเอกชนที่สูงชั่วคราวนั้นน่าช่วยสนับสนุนความหวังนี้ ในขณะเดียวกันรัฐบาลฯ ตั้งใจที่จะกู้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อนำมาปรับปรุงกองทัพเยอรมัน และระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ควรละเลยว่า มาตรการกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจเหล่านี้น่าจะถูกหักลบด้วยภาระทางเศรษฐกิจจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ค่าจ้างขั้นต่ำที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น นอกจากนี้ แผนเกษียณอายุของรัฐบาลผสมยังจะทำให้เบี้ยประกันสังคมเพิ่มขึ้นอีก และด้วยเหตุนี้จะทำให้ต้นทุนด้านแรงงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในเวลานี้รัฐบาลฯ ยังไม่มีแผนที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันสุขภาพ และประกันการดูแลในยามแก่เฒ่าระยะยาวแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในระยะเร่งด่วน BA ยังต้องการเงินทุนจากรัฐบาลกลาง และอาจต้องการรายได้จากเงินสมทบทำให้ต้องปรับอัตราเบี้ยเงินประกันตกงานเพิ่มเติมในเร็ว ๆ นี้ก็ได้ ในเวลาเดียวกัน อุปทานแรงงานก็ลดลงเนื่องมาจากประชากรสูงอายุ ไม่เพียงแต่ในปริมาณเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคุณภาพแรงงานด้วย คนหนุ่มสาวจำนวนมากในปัจจุบันขาดทักษะพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อที่จะสามารถยืนหยัดต่อสู้ในตลาดแรงงานได้ ประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีเกือบ 3 ล้านคน ไม่มีวุฒิการศึกษาด้านวิชาชีพใด ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้ภายในระยะเวลา 1 ปีมีนักเรียนประมาณ 56,000 คน ที่ออกจากสถานศึกษาโดยไม่มีวุฒิการศึกษาใด ๆ จากข้อมูลของรัฐบาลกลางยังพบว่า คนในวัยทำงานกว่า 6.2 ล้านคน ที่อ่านหรือเขียนหนังสือไม่ได้ หรืออ่านและเขียนได้อย่างจำกัด ในเวลาเดียวกัน การแก่ชราของประชากรโดยเฉลี่ยทำให้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วลดลงอีก ภายในสิ้นทศวรรษนี้ ศักยภาพการผลิตหรือศักยภาพการเติบโตประจำปีของประเทศ เมื่อมีการใช้กำลังการผลิตปกติ คาดว่า จะเติบโตเพียง 0.3% ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอัตราเฉลี่ยของสามทศวรรษที่ผ่านมาประมาณ 1% โดยสาเหตุหลัก คือ อุปทานแรงงานที่ลดลง นอกจากนี้ ยังมีผลกำไรจากการผลิตลดลงและทุนเรือนหุ้น (Capital Stock) ที่เพิ่มขึ้นน้อยมาก นาย Rürup หัวหน้าทีมเศรษฐศาสตร์ของ HRI กล่าวว่า “ใน MOU ข้อตกลงร่วมเพื่อการจัดตั้งรัฐบาลระหว่าง CDU/CSUและ SPD สัญญาว่า ต้องการที่จะเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนผ่านการปฏิรูประบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่มีความสำคัญของประเทศ” นอกจากการให้ความช่วยเหลือแก่ภาคเอกชนแล้ว รัฐบาลกลางควรเน้นการใช้งานแรงงานที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ควรผลักดันให้ผู้ว่างงานเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมากขึ้น และทำให้การทำงานล่วงเวลาเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจสำหรับผู้ที่มีงานทำอยู่แล้ว นาย Rürup กล่าวส่งท้ายว่า “หากรัฐบาลไม่สามารถทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจที่ซบเซาในปัจจุบันปรับเพิ่มขยายตัวขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ซบเซาจะกลายเป็นสถานะถาวรใหม่ของประเทศ”
จาก Handelsblatt 11 กรกฎาคม 2568