ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนามสะท้อนหนึ่งในเป้าหมายหลักของทำเนียบขาวในช่วงเร่งทำข้อตกลงทางการค้าทั่วโลก นั่นคือ การปิดช่องทางลัดที่อาจเปิดโอกาสให้สินค้าจากจีนหลบเลี่ยงภาษีนำเข้าเพื่อเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ
ในข้อตกลงการค้าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเมื่อวันพุธที่ 2 กรกฎาคม 2568 มีสาระสำคัญข้อหนึ่งที่ระบุว่าสินค้าที่ส่งผ่าน (Transhipping) จากเวียดนามมายังสหรัฐฯ จะถูกเก็บภาษีในอัตราสูงถึง 40% ซึ่งมากเป็นสองเท่าของอัตรา 20% ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่าใช้กับสินค้านำเข้าทั่วไปจากเวียดนาม
แม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะไม่ได้กล่าวถึงจีนโดยตรง รวมทั้ง รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบและบังคับใช้กฎเกี่ยวกับการเลี่ยงภาษียังไม่ชัดเจน แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่ามาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทต่างๆ ใช้เวียดนามเป็นจุดพักสินค้าในการส่งออกสินค้าจากจีนไปยังสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรที่สูงกว่าซึ่งโดยทั่วไปจะบังคับใช้กับสินค้าจากจีน
ข้อกำหนดในข้อตกลงการค้ากับเวียดนามนี้แสดงให้เห็นว่า จีนยังคงเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีข้อตกลงสงบศึกทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ แล้ว แต่การเจรจากับประเทศคู่ค้ารายอื่นยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งสื่อถึงความคาดหวังว่านานาประเทศที่ต้องการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ จะต้องจำกัดบทบาทของจีนในห่วงโซ่เศรษฐกิจของประเทศตน อาทิ ข้อตกลงการค้าล่าสุดระหว่างสหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักรก็มีข้อกำหนดให้สหราชอาณาจักรเพิ่มความเข้มงวดด้านความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งถูกมองว่าเป็นการมุ่งเป้าไปที่จีนเช่นกัน
นายเฟรเดอริก นอยมัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียแห่งธนาคาร HSBC ในฮ่องกงกล่าวว่า "ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ จะมีเจตนาเชิงกลยุทธ์มากขึ้นในการจำกัดการส่งออกของจีนที่เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ผ่านช่องทางลับ”
ด้านนางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า จีนไม่พอใจต่อแนวทางของสหรัฐฯ โดยย้ำว่า "การเจรจาและข้อตกลงทางการค้าไม่ควรมีเป้าหมายทำลายผลประโยชน์ของประเทศที่สาม"
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน นางเหมา หนิงกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า จีนไม่พอใจต่อแนวทางของสหรัฐฯ โดยย้ำว่า "การเจรจาและข้อตกลงทางการค้าไม่ควรมีเป้าหมายทำลายผลประโยชน์ของประเทศที่สาม" อย่างไรก็ดี รัฐบาลเวียดนามได้ออกมากล่าวว่ายินดีกับข้อตกลงดังกล่าว
เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานโลกหลังจากนโยบายการค้าในสมัยแรกของประธานาธิบดีทรัมป์และการระบาดของโควิด-19 โดยโรงงานต่างๆ ผุดขึ้นรอบกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ในช่วงที่บริษัทจากจีนและชาติตะวันตกพยายามกระจายฐานการผลิตเพื่อลดความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และผลกระทบของโรคระบาด
สำหรับผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ การที่เวียดนามก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกทำให้มีสินค้าราคาไม่แพงเข้ามาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อบริษัทต่างๆ เช่น Nike และ Apple ขยายฐานการผลิตในเวียดนาม ซึ่งหลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศข้อตกลงการค้ากับเวียดนาม หุ้นของทั้ง 2 บริษัทก็ปรับตัวสูงขึ้นทันทีในวันต่อมา
นางมิเชล แบรตช์ ผู้บริหารโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์เด็กในเวียดนามที่ส่งออกมายังสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกอื่นๆ ระบุว่าอัตราภาษี 20% จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าในตลาดสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เขามองว่าเวียดนามจะยังคงเป็นจุดหมายหลักของการผลิตต่อไป เนื่องจากสินค้าจีนยังคงถูกเก็บภาษีเฉลี่ยระหว่าง 40-50% ทำให้เวียดนามยังคงได้เปรียบแม้จะถูกเก็บภาษี 20% ทั้งนี้ ข้อได้เปรียบของเวียดนามในระยะยาวยังขึ้นอยู่กับอัตราภาษีที่กำหนดต่อประเทศคู่แข่งอื่น เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ด้วย "เราจำเป็นต้องรอดูว่าอัตราภาษีที่จะกำหนดกับประเทศอื่นจะเป็นเท่าใด แต่เรายังไม่คิดว่าเวียดนามจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก"
เมื่อปี 2018 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับเวียดนามน้อยกว่าญี่ปุ่นหรือเยอรมนี และยอดการขาดดุลเป็นเพียง 1 ใน 10 ของการขาดดุลกับจีน แต่ภายในสิ้นปี 2024 ที่ผ่านมาการขาดดุลกับเวียดนามพุ่งทะลุ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและเม็กซิโก การที่เวียดนามขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ ของการค้ากับสหรัฐฯ ได้สร้างความสนใจจากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าเวียดนามอาจเป็นศูนย์กลางในการเบี่ยงเบนเส้นทางของสินค้าที่ผลิตในจีนเพื่อเข้าสู่สหรัฐฯ โดยไม่ถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูง
ข้อมูลจากกรมศุลกากรจีนระบุว่าการส่งออกสินค้าจากจีนไปยังสหรัฐฯ ลดลงประมาณ 10% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 นี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาษีศุลกากรส่งผลกระทบต่อการค้าโดยตรงระหว่าง 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันการนำเข้าสินค้าจากจีนของเวียดนามเพิ่มขึ้น 28% ขณะที่การส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 26% ตามข้อมูลจากทางการเวียดนาม นางดีปาลี ภัรคาวา หัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของธนาคารเพื่อการลงทุน ING ระบุในรายงานเมื่อวันพฤหัสบดีว่า มีสัญญาณที่ชัดเจนของการถ่ายเทสินค้าโดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า และสายไฟ
ทางการเวียดนามได้ดำเนินมาตรการเข้มงวดมากขึ้นในการควบคุมการเบี่ยงเบนเส้นทางสินค้าด้วยการตรวจสอบใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) อย่างเข้มงวด โดยใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าจะให้ข้อมูลโดยละเอียดแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรว่าสินค้าและชิ้นส่วนต่างๆ ผลิตมาจากที่ใดเพื่อจัดเก็บภาษีได้อย่างเหมาะสม สินค้าประเภทต่างๆ มากมายที่ผลิตในเวียดนาม รวมถึงเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ต่างก็ใช้ส่วนประกอบที่ผลิตในจีน ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะใช้เกณฑ์ใดในการพิจารณาว่าสินค้าจากเวียดนามควรถูกจัดเก็บภาษีในอัตรา 20% หรือ 40% อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสหลายรายจาก Capital Economics ระบุในรายงานเมื่อวันพฤหัสบดีว่า "ข้อกำหนดเหล่านี้เป็นสัญญาณชัดเจนถึงบริษัททั่วโลกว่า การที่อัตราภาษีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนลดลงเมื่อเร็วๆ นี้ ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ จะเพิกเฉยต่อการสร้างห่วงโซ่อุปทานนอกประเทศจีนเพื่อส่งสินค้ามายังสหรัฐฯ"
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ข้อมูลอ้างอิง Wall Street Journal,