fb
แกะรอยวิสัยทัศน์จีนจากการประชุม Summer Davos 2025
โดย
Boochitai@ditp.go.th
ลงเมื่อ 16 กรกฎาคม 2568 23:00
18

การประชุม The 16th Annual Meeting of the New Champions 2025 หรือเป็นที่รู้จักในชื่อSummer Davos จัดโดย WEF เมื่อวันที่ 24 - 26 มิถุนายน 2568 ณ นครเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ในหัวข้อ “Entrepreneurship for a New Era” ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงสมดุลแห่งอำนาจ คลื่นลูกใหม่ของการเติบโต การฟื้นฟูการเติบโตอย่างยั่งยืน และการเป็นผู้ประกอบการในยุคใหม่ที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

 

ทั้งนี้ เวที Summer Davos ของ WEF ได้เริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จัดสลับกันระหว่างเมืองต้าเหลียนและเทียนจิน โดย WEF ได้มุ่งเน้นไปที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตและบริษัทที่กำลังเติบโต และจีนได้กลายเป็นหนึ่งในผู้นำยุคใหม่ ในปีนี้มีการหารือใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การตีความเศรษฐกิจโลก (2) แนวโน้มของจีน (3) อุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (4) การลงทุนในมนุษยชาติและโลก และ (5) พลังงานและวัสดุใหม่ ภายในงานได้มีการหารือแนวคิดนวัตกรรมของจีนจากทฤษฎีสู่แนวปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งการประชุมย่อยอีกกว่า 25 หัวข้อที่มุ่งเน้นไปที่ประเทศจีน ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีผู้นำทางการเมือง นักธุรกิจ และนักวิชาการทั่วโลกกว่า 1,700 คน จาก 90 ประเทศเข้าร่วม โดยในจำนวนนี้มีผู้เข้าร่วมจากภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือประมาณ 120 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปีที่แล้ว โดยมีแขกกิตติมศักดิ์ที่เข้าร่วมงาน อาทิ นายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง ของจีน นายกรัฐมนตรี ลอว์เรนซ์ หว่อง ของสิงคโปร์ และนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มินห์ จิ่ง ของเวียดนาม

 

summer Davos2025.2.jpg

 

  • วิสัยทัศน์ของผู้นำระดับสูงของจีน

ในการนี้ นายกรัฐมนตรีจีน นายหลี่ เฉียง ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในวันที่ 25 มิถุนายน 2568 โดยใจความสำคัญ ได้กล่าวถึงแนวคิด 3 ประการ ในการรับมือกับความท้าทาย และส่งเสริมการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันกับจีน

 

ประการแรก รูปแบบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลง 

(1) ระบบเศรษฐกิจและการค้ามีความหลากหลายมากขึ้น ตลาดของประเทศซีกโลกใต้ซึ่งคิดเป็น 70% ของประชากรโลก กำลังเฟื่องฟู และสัดส่วนการค้าโลกเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 45% กลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโตของการค้าโลก 

(2) อัตราการเติบโตของการค้าแบบดั้งเดิมชะลอตัวลงแต่การค้ายุดใหม่ขยายตัว การค้าสินค้าโลกจะเติบโตเพียง 2% ขณะที่การค้าบริการจะเติบโต 8.8% ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 60% การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีได้ขยายขอบเขตการค้าดิจิทัลและการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การส่งออกบริการดิจิทัลทั่วโลกจะเพิ่มเป็นสองเท่าจากเมื่อสิบปีก่อน 

(3) มาตรการกีดกันทางการค้าได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มากกว่า 1,200 รายการในปี 2567 (สูงกว่าช่วงก่อนโควิด19) แต่ก็มีความตกลงทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคีขนาดเล็กก็เพิ่มขึ้น

(4) สถานการณ์การค้าที่ตึงเครียด ทำให้บริษัทข้ามชาติมีความระมัดระวังในการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น โดยในปี 2567 ลดลงประมาณ 40%

 

ประการที่สอง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศต้องการการดำเนินการที่สร้างสรรค์มากขึ้น โดยข้ามผ่านความขัดแย้งในอดีต และริเริ่มใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อปกป้องการค้าเสรีและพหุภาคี และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจโลกที่มั่นคง

(1) กลไกการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศ โดยจีนร่วมกับ 32 ประเทศได้ร่วมกันจัดตั้งศาลไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศขึ้นที่ฮ่องกง

(2) การปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันเมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายระดับโลก โดยผ่านกลไกความร่วมมือพหุภาคี เช่น องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ กลุ่ม BRICS และกลุ่ม G20 และ BRI

(3) บรรลุความสำเร็จร่วมกัน ไม่ใช่กฎแห่งป่าที่ผู้แข็งแกร่งล่าเหยื่อผู้อ่อนแอ แต่คือการบรรลุความสำเร็จร่วมกันผ่านการบูรณาการและการเชื่อมต่อกับตลาดโลกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 

ประการที่สาม เศรษฐกิจจีนจะยังคงพัฒนาศักยภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจโลก จีนมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการแก้ไขปัญหาความท้าทายที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญอยู่

(1) การเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีนจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยในปี 2568 ไตรมาสแรก GDP จีนเติบโต 5.4% และในปีนี้จะจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจจีนฉบับที่ 15 (ระยะ 5 ปี) ที่มุ่งเป้าหมายการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจโลก

(2) การขยายตัวและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของตลาดจีนจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจโลก จากการที่จีนเป็นตลาดผู้บริโภคและนำเข้าที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีมูลค่าการบริโภคเกือบ 50 ล้านล้านหยวน การลงทุนมากกว่า 50 ล้านล้านหยวน การนำเข้ามากกว่า 20 ล้านล้านหยวน และกำลังมุ่งหน้าสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งจีนมีความต้องการยกระดับการบริโภคที่แข็งแกร่ง ครอบคลุมทั้งการบริโภคแบบดั้งเดิม เช่น อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และการขนส่ง รวมถึงการบริโภคสมัยใหม่ เช่น ระบบอัจฉริยะและทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ รัฐบาลเร่งขยายอุปสงค์ภายในประเทศ ผ่านมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการบริโภค จะส่งเสริมให้จีนเป็น "พลังผู้บริโภค" ขนาดใหญ่บนรากฐานที่มั่นคงของ "พลังการผลิต" ซึ่งจะนำไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้นสำหรับวิสาหกิจจากทุกประเทศ

(3) นวัตกรรมของจีนยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องและก้าวกระโดดไปข้างหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มพลังขับเคลื่อนใหม่ๆ ในระดับโลกอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นเวลาหลายปีที่จีนถือว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพลังการผลิตหลัก และได้ก้าวสู่เส้นทางการเป็นผู้นำนวัตกรรม ปัจจุบันจีนพัฒนารถไฟความเร็วสูง รถยนต์ไฟฟ้า ปัญญาประดิษฐ์ช่วยเสริมศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมหลายพันแห่ง และระดับเทคโนโลยีในหลายสาขา เช่น พลังงานสีเขียวและการผลิตขั้นสูง ซึ่งจีนยินดีร่วมมือในการส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาในประเทศต่างๆ ผ่านความร่วมมือที่เปิดกว้าง

 

summer Davos2025.3.jpg

 

  • ปัญญาประดิษฐ์เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความสนใจมากที่สุด

จีนอาจค้นพบกุญแจสำคัญในการเริ่มต้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง นั่นคือ AI+ ผสมผสานระหว่างปัญญาประดิษฐ์และเศรษฐกิจที่แท้จริงก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการวิจัยและพัฒนาวัสดุใหม่ได้ 100 ถึง 1000 เท่า การเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงานอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์แบบดั้งเดิม และการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น หุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพ และเทคโนโลยีการเชื่อมต่อระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น  โดยเฉิน เหอเฉียง รองประธาน GE Healthcare China กล่าวว่า ธุรกิจบำรุงรักษาอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับโลกนี้เอื้อต่อบริษัทต่างๆ ที่กำลังสำรวจแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการยกระดับและการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ประสิทธิภาพสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจะเพิ่มการลงทุนอีก 500 ล้านหยวนในสำนักงานใหญ่ที่เทียนจินในอนาคต อย่างไรก็ดี การพัฒนา AI จำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือระดับโลก เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระเบียบ และปลอดภัยร่วมกัน 

 

  • โครงการ Belt and Road Initiative ขับเคลื่อนโลกด้วยแรงผลักดันใหม่

ท่ามกลางข้อกังวลของทุกภาคส่วนต่อความไม่แน่นอน ทั้งนโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่กลับฉุดรั้งอัตราการเติบโตของ GDP ของทั้งสหรัฐฯ เองและประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง จีนพยายามสร้างความเชื่อมั่นว่าจีนจะนำพาความแน่นอนสู่โลก โดยการสร้างบทบาทนำด้านความร่วมมือ นวัตกรรม และการเปิดกว้างผ่านโครงการ Belt and Road Initiative โดยตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีนับแต่ดำเนินโครงการนี้ได้เอื้อให้เกิดการลงทุนรวมกันมากกว่า 380,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสร้างประโยชน์ระหว่างจีนและประเทศพันธมิตร

 

 

ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

การประชุม Summer Davos ที่จัดขึ้นในประเทศจีนไม่เพียงแต่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดระดับโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศอีกด้วย จีนได้ใช้โอกาสนี้ในการสร้างความเชื่อมั่นว่าเอเชียจะขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกเกือบ 60% ในปี 2568 และจีนจะมีส่วนร่วมถึงครึ่งหนึ่ง ด้วยวิสัยทัศน์ Go Global ของจีน ซึ่งอยู่ใน DNA ของผู้ประกอบการจีนยุคใหม่ และการก้าวสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีของโลก ซึ่งเปิดรับความร่วมมือจากทุกประเทศ

 

ที่มา:

http://www.tj.xinhuanet.com/20250625/e95e1d43caf54745a9bbc0078f5fdb05/c.html

http://www.sic.gov.cn/sic/81/456/0701/20250701095726171306517_pc.html

https://www.ndrc.gov.cn/wsdwhfz/202507/t20250703_1398949.html

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1835867765991083648&wfr=spider&for=pc

https://www.gov.cn/gongbao/2025/issue_12146/202507/content_7030985.html


 

Share :
Instagram