ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2568 ได้มีมติอนุมัติยกเลิกมาตรการการห้ามนำเข้าข้าวในฤดูกาลเก็บเกี่ยว และรัฐบาลเห็นชอบให้มีการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศได้อย่างเสรี ซึ่งจะมีผลบังคับใช้จนถึงสิ้นปีงบประมาณอิหร่าน (ประมาณปลายเดือนมีนาคม 2569) และเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างทันท่วงที
อนึ่ง การห้ามนำเข้าข้าวตามฤดูกาลเป็นนโยบายที่บังคับใช้ทุกปีในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวของอิหร่าน เพื่อสนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศ ปกติการห้ามนำเข้าข้าวจากต่างประเทศจะเริ่มขึ้นประมาณช่วงต้นเดือนสิงหาคมถึงปลายเดือนพฤศจิกายนของทุกปี นั่นคือช่วงที่ผลผลิตข้าวในอิหร่านส่วนใหญ่ออกสู่ตลาดและถูกส่งขายทั่วประเทศ โดยในช่วงที่มีการห้ามนำเข้าข้าวระยะสี่เดือนนี้ จะไม่มีการอนุญาตให้ขนถ่ายสินค้าข้าวจากต่างประเทศออกจากกรมศุลกากรอิหร่าน ซึ่งผู้นำเข้าข้าวชาวอิหร่านต้องถือปฏิบัติตามมาโดยตลอด มาตรการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อให้ตลาดอิ่มตัวด้วยข้าวที่ผลิตได้ในประเทศ และเกษตรกรสามารถขายผลผลิตของตนได้ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งผู้กำหนดนโยบายมองว่าการห้ามนำเข้าข้าวนี้เป็นหนทางที่จะป้องกันไม่ให้ราคาข้าวอิหร่านลดลง และเป็นการรักษาแรงจูงใจในการปลูกข้าวของเกษตรกรชาวอิหร่าน
แม้ว่าก่อนหน้านี้การห้ามนำเข้าข้าวในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาของฝ่ายบริหารระหว่างกระทรวงเกษตรอิหร่านและกระทรวงอุตสาหกรรมและเหมืองแร่อิหร่าน ซึ่งปัจจุบันมาตรการดังกล่าวได้ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นทางการในหมายเหตุประกอบบทที่ 10 วรรคที่ (8) ของหนังสือระเบียบการส่งออกและการนำเข้าสินค้าอิหร่าน
Mr. Majid Reza Khaki เลขาธิการสมาคมผู้นำเข้าข้าวอิหร่าน เปิดเผยว่า การตัดสินใจให้มีการนำเข้าข้าวในฤดูกาลเก็บเกี่ยวดังกล่าวเกิดขึ้นตรงกับในช่วงเวลาที่ตลาดมีความต้องการบริโภคข้าวสูง คือ ช่วงเทศกาลเดือนมุฮัรรอมและเดือนซาฟาร์ (เดือนแห่งการไว้อาลัยและการแสวงบุญทางศาสนาในนิการยชีอะห์) ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ การพึ่งพาผลผลิตในประเทศเพียงอย่างเดียวนั้นอาจไม่พอเพียง รวมถึงนโยบายการไม่กักตุนสินค้าไว้ล่วงหน้ายามเกิดเหตุวิกฤต เป็นสาเหตุให้ในปัจจุบันเกิดการขาดแคลนข้าวและราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้นเหมือนกับปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ตามสติถิของกระทรวงเกษตรอิหร่านปริมาณการผลิตข้าวอิหร่านในปีปัจจุบัน มีปริมาณ 1.8 ล้านตัน ซึ่งการยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าข้าวดังกล่าวจะช่วยรักษาวงจรอุปทานและเป็นการป้องกันภาวะตลาดตึงตัวที่เกิดจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ อีกนัยหนึ่งเรียกได้ว่า คือ การติดตามดูแลการนำเข้าข้าวอย่างใกล้ชิดและอยู่ในกรอบเฉพาะ แทนที่จะปิดกั้นการนำเข้าโดยสิ้นเชิง เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดและการผลิตในประเทศให้สามารถดำเนินไปตามธรรมชาติโดยไม่มีแรงกดดัน
Mr. Khaki เลขาธิการสมาคมผู้นำเข้าข้าวอิหร่าน เปิดเผยว่า อิหร่านมีความต้องการบริโภคข้าวปีละประมาณ 3.5 ล้านตัน คาดว่าจะมีการนำเข้าข้าวประมาณ 1.4 ล้านตัน ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ยังไม่รวมปริมาณข้าวที่ใช้เพื่อการสำรองทางยุทธศาสตร์
Mr. Khaki เลขาธิการสมาคมผู้นำเข้าข้าวอิหร่าน กล่าวว่า จากสถิติของกระทรวงเกษตรอิหร่านแสดงให้เห็นว่า จนถึงปัจจุบัน มีการลงทะเบียนแจ้งความประสงค์จากผู้นำเข้าที่จะนำเข้าข้าวขาวแล้วปริมาณ 250,000 ตัน และข้าวที่ยังไม่ผ่านการสีจำนวน 25,000 ตัน และ Mr. Khaki เลขาธิการสมาคมผู้นำเข้าข้าวอิหร่าน แสดงความคิดเห็นว่า การที่กระทรวงเกษตรอิหร่านตัดสินใจที่จะไม่นำเข้าข้าวบาสมาติอินเดียพันธ์ 1121 ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 60 ของข้าวนำเข้าทั้งหมดนั้นจะส่งผลกระทบในเชิงลบ และความไม่สมดุลของตลาดและสร้างความเสียหายต่อ ผู้นำเข้าข้าว ซึ่งทาง Mr. Khaki เลขาธิการสมาคมผู้นำเข้าข้าวอิหร่าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องนี้จะได้รับการพิจารณาใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตามการไม่นำเข้าข้าวบาสมาติอินเดียพันธ์ 1121 ตามการพิจารณาของกระทรวงเกษตรอิหร่านนั้น มีสาเหตุอันเนื่องมาจากการตรวจสอบพบว่า มีการปลอมแปลงและผสมผสานพันธ์ข้าวชนิดอื่นที่มีคุณภาพต่ำและลักษณะเมล็ดข้าวใกล้เคียงกับข้าวบาสมาติอินเดียพันธ์ 1121 จริง