นครซีอาน เมืองเอกของมณฑลส่านซี เดินหน้ายกระดับบทบาทสู่การเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมบนเวทีโลก โดยเปิดตัว “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฉางอัน” (Xi’an Silk Road Arts & Culture Center) ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ริมแม่น้ำปาเหอ ครอบคลุมพื้นที่ก่อสร้างกว่า 143,900 ตารางเมตร โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับบทบาทของซีอานในฐานะเวทีสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศ โดยผสานศิลปะร่วมสมัยเข้ากับมรดกทางวัฒนธรรมของจีน นำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของนครซีอานที่ทันสมัย แต่ยังคงรักษารากเหง้าทางประวัติศาสตร์ไว้อย่างโดดเด่น
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น กลุ่มอาคารศิลปะขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันตกของจีน อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของโรงอุปรากรขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลท้องถิ่นในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านวัฒนธรรมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฉางอัน ประกอบด้วยอาคารหลัก 5 แห่ง ได้แก่ โรงอุปรากร หอแสดงดนตรี หออเนกประสงค์ โรงภาพยนตร์ และศูนย์สื่อสารมวลชน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจด้านการออกแบบจาก “ซวิน” (埙) เครื่องดนตรีเป่าดินเผาโบราณของจีนที่มีบทบาทในพิธีกรรมและวัฒนธรรมดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน
ทั้งนี้ การผสมผสานสัญลักษณ์วัฒนธรรมดั้งเดิมเข้ากับแนวคิดสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของนครซีอาน ในการเสริมภาพลักษณ์เมืองในฐานะจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมโบราณที่กลับมามีบทบาทอีกครั้ง ผ่านแนวทางการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งด้านศิลปะ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจสร้างสรรค์
จุดเชื่อมระหว่างวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ที่มาภาพ : https://frameweb.com/project/changan-yue-the-belt-and-road-culture-arts-centre
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฉางอัน ได้รับการพัฒนาอย่างครบวงจร เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของนครซีอาน และภูมิภาคตะวันตกของจีน โดยภายในศูนย์มีการจัดแสดงงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ทั้ง อุปรากรจีนแบบดั้งเดิม ละครเพลง ละครเวทีสมัยใหม่ คอนเสิร์ต รวมถึงการแสดง แนวร่วมสมัย ที่ใช้เทคนิคการผลิตระดับโลก หนึ่งในการแสดงที่ได้รับความนิยมอย่างสูง อย่าง “Omni Chang’an” ผลงานของผู้กำกับชื่อดังระดับนานาชาติ จาง อี้โหมว (Zhang Yimou) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ของเมืองฉางอันและเส้นทางสายไหม การแสดงชุดนี้ผสมผสานระหว่างศิลปะการแสดง เทคโนโลยี และมัลติมีเดีย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวในรูปแบบร่วมสมัยได้อย่างกลมกลืน โดยการแสดงชิ้นนี้ได้รับการจัดแสดงนับพันครั้งและได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวางทั้งผู้ชมภายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ในด้านการบริหารจัดการพื้นที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ได้ผสานโครงสร้างการใช้สอยเชิงพาณิชย์เข้ากับการให้บริการทางวัฒนธรรม โดยพื้นที่ภายในประกอบด้วยโซนจัดแสดงงานศิลปะ ร้านค้าจำหน่าย ของที่ระลึกและสินค้าท้องถิ่น พื้นที่พักผ่อนสำหรับครอบครัวและนักท่องเที่ยว ตลอดจนองค์ประกอบเชิงนิเวศเมือง (urban ecology) ที่ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ องค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น แต่ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งจากในประเทศและต่างประเทศให้เดินทางมาเยี่ยมชม ส่งผลโดยตรงต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) และการสร้างรายได้ในภาคบริการ ตลอดจนการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ ในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคได้อย่างเป็นรูปธรรม ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฉางอันจึงเป็นตัวอย่างของการนำวัฒนธรรมมาผสานเข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ได้อย่างลงตัว และถือเป็นหนึ่งในต้นแบบของโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สามารถประยุกต์ใช้ในเมืองอื่น ๆ ทั้งในจีนและระดับนานาชาติ
บทบาทสำคัญในยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”
โครงการศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฉางอัน นับเป็นหนึ่งในโครงการเชิงวัฒนธรรมที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ของรัฐบาลจีน โดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นเวทีกลางในการส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศ และเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในการถ่ายทอดแนวคิดการพัฒนาที่มีมิติหลากหลาย ทั้งทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม บทบาทของนครซีอานในฐานะจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมโบราณ ได้รับการยกระดับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญผ่านโครงการนี้ โดยเฉพาะการนำร่องแนวคิดการใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรต่าง ๆ ที่อยู่ในเส้นทาง BRI ซึ่งครอบคลุมทั้งเอเชียกลาง ยุโรป และอาเซียน
ด้วยศักยภาพที่โดดเด่นในด้านสถาปัตยกรรม การออกแบบเชิงสัญลักษณ์ เทคโนโลยีการจัดการอาคารและการนำเสนอศิลปะที่มีคุณภาพและสร้างสรรค์ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฉางอันจึงไม่เพียงเป็นแลนด์มาร์ก ทางวัฒนธรรมของนครซีอานเท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับชาติของจีน และเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของ “Soft Power” จีนบนเวทีนานาชาติ นอกจากนี้ ศูนย์แห่งนี้ยังมีศักยภาพในการขยายบทบาทในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมวัฒนธรรมนานาชาติ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การจัดนิทรรศการสร้างสรรค์ รวมถึงการเชื่อมโยงภาคธุรกิจวัฒนธรรมเข้ากับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในระยะยาว ภายใต้แนวทางของ BRI ที่เน้นความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศ
ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
การเปิดตัวศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฉางอัน ถือเป็นโอกาสเชิงยุทธศาสตร์ที่ผู้ประกอบการไทยควรจับตามองเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ งานหัตถกรรม อาหารแปรรูป และบริการด้านสุขภาพ ซึ่งล้วนเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจน และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนระดับบนที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพ ความเป็นเอกลักษณ์ และเรื่องราวของสินค้า ทั้งยังตอบโจทย์แนวโน้มของจีนในปัจจุบันซึ่งเปิดรับสินค้าต่างประเทศที่มีมูลค่าทางวัฒนธรรมสูง พร้อมทั้งสามารถสร้างประสบการณ์อันมีความหมายแก่ผู้บริโภคได้
นอกจากจะเป็นพื้นที่จัดแสดงทางวัฒนธรรมแล้ว ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฉางอันยังเป็นเวทีสำหรับการจัดกิจกรรมสำคัญระดับนานาชาติ เช่น เทศกาลวัฒนธรรมนานาชาติ นิทรรศการสินค้า ในกลุ่ม Belt and Road Initiative (BRI) และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะร่วมสมัย การออกแบบ แฟชั่น อาหารวัฒนธรรม หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งล้วนเป็นโอกาส ในการเข้าถึงตลาดใหม่ของจีน ขยายฐานลูกค้าในเมืองรอง และสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศและเปิดกว้างต่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ สคต.เฉิงตู จึงขอแนะนำให้ผู้ประกอบการไทย หน่วยงานด้านการค้า และภาควัฒนธรรมของไทย พิจารณาใช้ศูนย์แห่งนี้เป็นเวทีในการนำเสนอสินค้าและบริการไทยสู่ตลาดจีนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแสดงสินค้านานาชาติ การจับคู่ธุรกิจด้านวัฒนธรรม และเวทีหารือ ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างการรับรู้แบรนด์ ขยายตลาด และเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจระยะยาวในจีน ทั้งยังสามารถใช้ศูนย์แห่งนี้เป็นพื้นที่ทดลองตลาด (pilot market) สำหรับสินค้าไทยที่เน้นนวัตกรรม วัตถุดิบธรรมชาติ หรือแนวคิดความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับความสนใจของผู้บริโภครุ่นใหม่ในจีนอย่างชัดเจน
-----------------------------------
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
กรกฎาคม 2568
แหล่งข้อมูล
https://i.ifeng.com/c/8kaC1576KPz
https://frameweb.com/project/changan-yue-the-belt-and-road-culture-arts-centre