หากประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (หรือ NATO - North Atlantic Treaty Organization) ในยุโรปกำลังตกเป็นเป้าหมายการโจมตีทางอากาศจากรัสเซีย ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปกป้องเมืองและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่าง ๆ ของประเทศ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการทหาร เมื่อกล่าวถึงการป้องกันทางอากาศแล้ว ทั้งกองทัพเยอรมัน (Bundeswehr) และพันธมิตรฯ แทบไม่มีทรัพยากรที่จะใช้ป้องกันทางอากาศเลย แม้ผ่านมา 3 ปีแล้ว ที่รัสเซียรุกราน/ทำสงครามกับยูเครน ดังน้น ภายใต้การนำของเยอรมนี รัฐบาลเยอรมันและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ ต้องการสร้างระบบป้องกันขีปนาวุธของยุโรปขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ต้องเผชิญหน้ากับการขยายขีดความสามารถในด้านการป้องกันทางอากาศมากขึ้น ซึ่งตัวแทนบริษัท Rheinmetall, Hensoldt, MBDA, Diehl และผู้ผลิตหลายรายได้ออกมายืนยันแผนการดังกล่าวต่อสำนักข่าว Handelsblatt ซึ่งเวลาค่อย ๆ หมดลงเรื่อย ๆ โดยสัญญาการผลิตสินค้าล๊อตแรกได้รับอนุมัติจากกระทรวงกลาโหมเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ ตลาดหุ้นกำลังเดิมพันกับกระแสบูมของอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ โดยหุ้นของ Hensoldt ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเรดาร์ของเยอรมนีพุ่งขึ้นประมาณ 20% ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ภาคการเมืองและอุตสาหกรรมดังกล่าวยุทโธปกรณ์กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยเงินเพียงอย่างเดียว
ผ่านมา 3 ปีแล้ว ภายหลังจากที่รัสเซียเข้าโจมตียูเครน แต่สมาชิก NATO ของยุโรปก็ยังไม่มีระบบป้องกันการโจมตีจากโดรนที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น เหล่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของแต่ละประเทศสมาชิกฯ จึงได้กำหนดหัวข้อเรื่องนี้ไว้ก่อนการประชุมสุดยอดครั้งล่าสุด ด้วยเหตุนี้กลุ่มพันธมิตร NATO จึงเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันทางอากาศจากภาคพื้นดินเป็น 5 เท่า ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า เยอรมนีตั้งใจที่จะ “รับภาระหลัก” ด้านนาย Boris Pistorius รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในสังกัดพรรคสังคมนิยมเพื่อประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD - Sozialdemokratische Partei Deutschlands) เปิดเผยว่า “เรากำลังทำตามความรับผิดชอบในฐานะประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรป” โดยในช่วงเริ่มสงครามฯ กองทัพเยอรมันได้มอบรถถังต่อต้านอากาศแบบไร้คนขับ (โดรน) รุ่น “Gepard” ที่มีอยู่ให้กับยูเครน และยังได้มอบระบบป้องกันขีปนาวุธรุ่น “Iris-T” ที่พัฒนาโดยบริษัท Diehl ของยูเครนเช่นเดียวกับระบบป้องกันขีปนาวุธ “Patriot” ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ป้องกันขีปนาวุธพิสัยไกลอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ Bundeswehr จึงได้สั่งซื้อระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศเพิ่มเติม ซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้สั่งซื้อรถถังต่อต้านอากาศยานที่การป้องกันผ่านปืนใหญ่รุ่น Skyranger จำนวน 18 คัน จากบริษัท Rheinmetall และทำสัญญาว่ามีทางเลือกที่สามารถซื้อเพิ่มอีก 30 คัน อีกด้วย นอกจากนี้ สำหรับรับมือกับขีปนาวุธครูซ (เยอรมัน : Marschflugkörper อังกฤษ : Cruise missile)[1] กองทัพเยอรมันจึงได้สั่งซื้อระบบยิงขีปนาวุธรุ่น Iris-T SLM พิสัยกลาง 6 ระบบ จากบริษัท Diehl โดยขีปนาวุธครูซเป็นขีปนาวุธแบบร่อนเองได้ โดยมีวิถีการบินอยู่ภายใต้เรดาร์ตรวจจับได้ยากจากศัตรู นอกจากนี้ ยังมีการสั่งซื้อระบบ Arrow-3 ของอิสราเอล ซึ่งระบบดังกล่าวมีจุดประสงค์การใช้เพื่อป้องกันขีปนาวุธข้ามทวีป ในส่วนระบบ Patriot นั้น กำลังมีการสร้างโรงงาน MBDA ในเยอรมนีขึ้น ซึ่งจะเป็นโรงงานผลิตขีปนาวุธสกัดกั้น แห่งแรกนอกสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2026 จะเริ่มผลิตขีปนาวุธปีละ 1,000 ลูก ซึ่งจะทำให้มีการผลิตขีปนาวุธดังกล่าวทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าโดยอัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้บริษัท Rheinmetall (เยอรมัน) อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัท Lockheed Martin ซึ่งเป็นบริษัทผลิตผลิตภัณฑ์ด้านการป้องกันประเทศจากสหรัฐฯ เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อผลิตขีปนาวุธ โดยจะรวมถึงการผลิตขีปนาวุธรุ่น PAC-3 ซึ่งสามารถใช้ในระบบ Patriot ได้เช่นกัน ในวงการอุตสาหกรรมฯ เรียกการสั่งซื้อขีปนาวุธเหล่านี้ว่า “คำสั่งซื้อเบื้องต้น” และคาดว่า จะมีคำสั่งซื้อในปริมาณที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามมา โดยสงครามในยูเครนแสดงให้เห็นว่า การป้องกันการโจมตีจากทางอากาศมีความสำคัญมากแค่ไหน และการป้องกันการโจมตีจากทางอากาศไม่สามารถทำได้ด้วยระบบอาวุธเพียงอย่างเดียว ในเวลานี้ การทำสงครามอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ได้เข้ามาแทนที่เครื่องบินรบหรือเฮลิคอปเตอร์ที่บังคับโดยนักบินแล้วเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจากแหล่งข่าวในยูเครน พบว่า โดรนสามารถโจมตีเป้าหมายของรัสเซียสำเร็จถึง 89,000 ครั้ง ในเดือนพฤษภาคมเพียงเดือนเดียว ซึ่งจำนวนดังกล่าวรวมถึงการโจมตีด้วยขีปนาวุธปล่อยครูซอีกด้วย การโจมตีดังกล่าวสามารถสร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับศัตรูได้ ดังจะเห็นได้จาก “ปฏิบัติการเส้นใยแมงมุม” ของ SBU หน่วยข่าวกรองยูเครน ด้วยการใช้ฝูงโดรนขนาดเล็กจำนวนมาก โดย SBU ประสบความสำเร็จในการทำลายเครื่องบินทิ้งระเบิดเชิงยุทธศาสตร์ของรัสเซียอย่างน้อย 12 ลำ ที่สนามบินซึ่งอยู่ไกลจากแนวหน้ามาก
ตัวแทนของบริษัทผลิตอาวุธรายหนึ่งของเยอรมนีไดเแสดงความประหลาดใจที่ฐานทัพทหารรัสเซียไม่ได้รับการปกป้องที่เหมาะสม โดยกล่าวว่า “หากมีระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบปืนใหญ่ อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ที่ทยอยเคลื่อนตัวเข้าใกล้เครื่องบินทิ้งระเบิดอย่างช้า ๆ ก็สามารถถูกยิงตกได้โดยไม่มีปัญหาใด ๆ” อย่างไรก็ตาม ระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ใช้ปืนใหญ่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันการโจมตีทางอากาศได้เพียงพอ ระบบป้องกันภัยทางอากาศสมัยใหม่ประกอบด้วยหลาย ๆ ระบบ ที่มีความซ้อนทับกัน ทำให้มีราคาแพง เหตุนี้เองทำให้การสร้างเกราะป้องกันการโจมตีทางอากาศของยุโรปมีความยุ่งยากเป็นพิเศษ ระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศดังกล่าวจะต้องสามารถตรวจจับ และยิงทำลายอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ที่บินช้าและบินต่ำได้ รวมถึงยังต้องสามารถตรวจจับ และยิงทำลายขีปนาวุธปล่อยครูซที่บินได้เร็ว ขีปนาวุธพิสัยไกลที่สามารถบินไปถึงขอบอวกาศ และขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงที่บินต่ำได้ โดย รัสเซีย จีน อิหร่าน และพันธมิตร NATO ต่างมีอาวุธดังกล่าวอยู่ในคลังแสงทั้งสิ้น ซึ่งขนาดความเร็ว ความสูง และจำนวนวัตถุอาวุธที่บินได้นั้นมีความแตกต่างกัน ทำให้จำเป็นต้องมีการใช้งานระบบเซ็นเซอร์ที่ซับซ้อนซึ่งประกอบด้วย เรดาร์ อุปกรณ์ทัศนศาสตร์ (Optics) และไมโครโฟน รวมถึงมาตรการป้องกันต่าง ๆ เครือข่ายสัญญาณต่าง ๆ เครื่องรบกวนสัญญาณ กระสุนที่มีโลหะทังสเตนเป็นหลัก และขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานที่มีพิสัยการโจมตีต่าง ๆ กันจะถูกนำมาใช้ร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีการใช้งานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (EMP) และเลเซอร์เพิ่มมากขึ้นในการต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) อีกด้วย
ปัจจุบันอิสราเอลถือว่า เป็นประเทศเดียวในโลกที่สามารถป้องกันตนเองจากภัยคุกคามทุกประเภทได้อย่างครอบคลุม โดยระบบ “โดมเหล็ก” ของอิสราเอลเป็นต้นแบบของระบบ “โดมทอง” ที่นาย Donald Trump ออกมาประกาศว่า น่าจะสามารถใช้งานได้ภายในก่อนการสิ้นวาระการเป็นประธานาธิบดีของเขา มีการคาดว่า โล่ป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ นี้จะมีมูลค่าสูงถึง 175,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการสร้างเกราะป้องกันยุโรปนั้น รัฐบาลเยอรมนีและอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์จะเริ่มต้นด้วย “โดมเหล็ก” ก่อน ในปัจจุบันมีประเทศในยุโรปจำนวน 24 ประเทศเข้าร่วม “โครงการ European Sky Shield Initiative” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2022 จากแรงผลักดันของรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งรวมถึงประเทศที่มีภูมิศาสตร์อยู่ภายในระยะการโจมตีจากขีปนาวุธ และอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ของรัสเซียอยู่ด้วย อย่างช้าที่สุดภายในการประชุมสุดยอด NATO ครั้งต่อไปน่าจะสามารถสรุปปริมาณ รถถังต่อต้านอากาศยาน เซ็นเซอร์ และระบบป้องกันขีปนาวุธใหม่ที่ประเทศสมาชิก NATO ในยุโรปต้องการร่วมกัน ขณะเดียวกัน กลุ่มพันธมิตรฯ มีแผนที่จะลดการพึ่งพาเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และวัตถุดิบจากจีนลงอีกด้วย จากมุมมองของยุโรปในเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็นมาก ส่วนหนึ่งมาจากไม่ชัดเจนว่า การสนับสนุนทางทหารของสหรัฐฯ จะถูกตัดขาดในกรณีฉุกเฉินในระดับใด ในทางกลับกันจีนกำลังจำกัดการส่งออกวัตถุระเบิดและแร่ธาตุหายากที่สำคัญจำนวนมาก โดยปัญหาในปัจจุบันก็ คือ ผู้ผลิตระบบป้องกันภัยทางอากาศในยุโรปมีกำลังการผลิตที่จำกัด ตัวอย่างเช่นบริษัท Diehl ผู้ผลิต Iris-T วางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบันที่สามารถผลิต 4 ชุดยิง/ปี เป็น 10 ชุดยิง/ปี ในอนาคตอันใกล้นี้ บริษัทอาจขยายการผลิตออกไปอีก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลเยอรมนีได้พึ่งสัญญากับนาย Wolodymyr Selenskyj ประธานาธิบดีของยูเครนว่า จะจัดหาระบบ Iris-T เพิ่มอีก 4 ชุดยิง ซึ่งตามกำลังการผลิตในปัจจุบันหมายความว่า จะต้องใช้เวลา 1 ปีเต็ม ในเวลานี้ยูเครนมีชุดยิง Iris-T รวมประมาณ 20 ชุดยิง ผู้เชี่ยวชาญทางการทหาร ระบุว่า ระบบดังกล่าวเพียงพอที่จะป้องกันเมืองใหญ่ ๆ ในยูเครนได้ถึง 4 เมือง จากการโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซีย โดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมรายหนึ่งกล่าวว่า หากต้องการจะให้มีการป้องกันที่คล้ายคลึงกันแก่เมืองใหญ่ ๆ ของเยอรมนี กองทัพเยอรมันจะต้องใช้ระบบดังกล่าวระหว่าง 50 - 100 ชุดยิง ในเวลานี้บริษัท Diehl กำลังพัฒนาระบบ Iris-T SLX ซึ่งเป็นระบบป้องกันการรุกรานทางอากาศระยะไกลที่อาจเข้ามาแทนที่ขีดความสามารถของระบบ Patriot ได้ไม่น้อยก็มาก แหล่งข่าวในอุตสาหกรรม ระบุว่า มีนักการเมืองให้ความสนใจระบบดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จนถึงขณะนี้ยุโรปยังไม่มีทางเลือกอื่นที่จะสามารถทดแทน Patriot ได้ นอกจากระบบ SAMP/T ของบริษัท Thales และ MBDA โดย Iris-T SLX มีพิสัยการบินที่ 85 กิโลเมตร ซึ่งต่ำกว่า Patriot เพียงเล็กน้อย Patriot มีพิสัยการบินสูงสุดที่ 100 กิโลเมตร ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมประเมินว่า การพัฒนาอาจใช้เวลาจนถึงปี 2028 เนื่องจาก Diehl ต้องพัฒนาจรวดใหม่ สำหรับระบบนี้ ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกล่าวว่า “SLX มีศักยภาพที่จะสามารถกลายเป็น Patriot Light” ได้ โดยบริษัท Diehl ต้องพึ่งพาบริษัท Hensoldt ผู้เชี่ยวชาญด้านเรดาร์ในการขยายการผลิตออกไป ไม่ว่าระบบ Iris-T SLM หรือระบบ Iris-T SLX ในอนาคตต่างก็ใช้เรดาร์ TRML-4D ของบริษัท Hensoldt โดยในปีนี้ บริษัท Hensoldt สามารถผลิตระบบเรดาร์ได้เพียง 15 เครื่องเท่านั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทสัญญาว่า จะขยายการผลิตอย่างรวดเร็วด้วยโรงงานเพิ่มเติม ตามข้อมูลจากแหล่งข่าวของบริษัทฯ กำลังการผลิตอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายใน 1 ปี วงการอุตสาหกรรม คาดการณ์ว่า ความต้องการระบบการป้องกันอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) จะสูงขึ้นอย่างมาก ในการสัมภาษณ์ครั้งล่าสุดกับ Handelsblatt นาย Armin Papperger ซีอีโอของบริษัท Rheinmetall ประเมินว่า ยุโรปต้องการ Skyranger เพิ่มอีก 1,000 เครื่อง ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยเยอรมนีเพียงประเทศเดียวจะสั่งซื้อ 200 - 300 คัน บริษัท Rheinmetall ได้เตรียมการเพิ่มกำลังการผลิตที่โรงงานในกรุงโรมและซูริกอย่างรวดเร็ว โดยบริษัท ประกาศว่า ภายในปี 2027 สามารถเพิ่มกำลังการผลิตต่อปีขึ้นเป็น 200 คัน ได้ นอกจากนี้ รถถังรุ่น Skyranger ได้รับการปรับปรุงเพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกเหนือจากปืนต่อต้านอากาศยานแล้ว รถถังคันนี้ยังจะติดตั้งขีปนาวุธ MBDA ที่มีพิสัยการยิงมากกว่า 2 กิโลเมตร เข้าไปอีกด้วย สำนักงานจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพเยอรมันมีแผนที่จะสรุปสัญญาที่เกี่ยวข้องร่วมกับ MBDA ในปีนี้ การอัปเกรดดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) รุ่นใหม่ที่ทรงพลังกว่าเดิมกำลังได้รับการพัฒนาภายหลังการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งโดรนดังกล่าวกลายเป็นภัยคุกคามอย่างหนัก โดยเฉพาะกับทหารและยานพาหนะใกล้แนวหน้าในการทำสงคราม
จาก Handelsblatt 4 กรกฎาคม 2568
[1] หมายถึงมิสไซล์นำวิถีใช้กับเป้าหมายบนพื้น มิสไซล์พิสัยไกล้เกือบทั้งหมดเป็นมิสไซล์ประเภทนี้ การที่เรียกเช่นนี้เนื่องจากมันมีปีกที่ทำให้มันร่อนอยู่ในอากาศได้