ผู้สูงอายุยุคใหม่ : กำลังซื้อที่ไม่ควรมองข้าม
นักวิเคราะห์ในฮ่องกงส่งสัญญานเตือนร้านค้าที่ไม่ปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการของผู้สูงวัย อาจเสียโอกาสทางการตลาดที่มีมูลค่าสูงถึง 7 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกงภายในปี 2046
ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นสองเท่าจากปัจจุบัน โดยเศรษฐกิจผู้สูงอายุ (silver economy) อาจมีขนาดใหญ่กว่าการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขถึง 4-5 เท่า และผู้สูงอายุยุคใหม่มีศักยภาพการบริโภคสูงขึ้น แต่ยังขาดผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์
นาย Dicky Chow ตำแหน่ง Head of Healthcare and Social Innovation จาก Our Hong Kong Foundation ระบุว่า ความท้าทายคือการปลดล็อกศักยภาพของเศรษฐกิจผู้สูงอายุอย่างแท้จริง พร้อมเน้นว่า เพียงเพราะผู้สูงวัยมีกำลังซื้อ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะยอมจ่ายเงินโดยง่าย หากรู้สึกว่าผลิตภัณฑ์ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อพวกเขา
ในทำนองเดียวกัน ศาสตราจารย์ Xue Bai ตำหน่ง Director of the Research Centre for Gerontology and Family Studies จาก Hong Kong Polytechnic University กล่าวว่าผู้สูงวัยในฮ่องกงยุคใหม่นั้นมีวิถีชีวิตที่สุขภาพดีขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น การเลือกใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่ออกแบบมาให้ใช้งานง่าย เครื่องใช้ในครัวที่มีการออกแบบตามหลัก Ergonomic หรือเสื้อผ้าที่ผสมผสานระหว่างความสวยงามและความสบาย นอกจากนี้ ห้างสรรพสินค้ากว่า 60 แห่งในฮ่องกงยังปรับตัวตามแนวโน้มเพื่อรองรับความต้องการที่เปลี่ยนไปของกลุ่มผู้สูงวัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่รัฐบาลประกาศ 30 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสูงวัย รวมถึงร้านค้าและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเฉพาะ
แนวทางขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงวัย
๑. สิ่งที่ควรพัฒนา : ความต้องการของผู้สูงวัยในตลาดยังไม่ได้รับการตอบสนองถึง 70%
2. บทเรียนจากต่างประเทศ : ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น กำหนดช่วงเวลาช้อปปิ้งพิเศษสำหรับผู้สูงอายุเพื่อความสะดวก หรือ สิงคโปร์ ใช้แนวคิด Universal Design ในการออกแบบร้านค้าให้เหมาะกับทุกวัย
3. คำแนะนำสำหรับธุรกิจ : แนวทางสำหรับการพัฒนาธุรกิจที่มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุนั้น อาจเริ่มจากการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้มีความเหมาะสมและเอื้อต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน รวมถึงการจัดเวิร์กช็อปเพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป สำหรับกลุ่มเป้าหมายในช่วงวัยนี้ ควรมุ่งเน้นบริการด้านการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพและสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย ในส่วนของผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ธุรกิจสามารถผลักดันบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความสุขในวัยเกษียณ การพัฒนาเหล่านี้ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะกลุ่ม แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองวิถีชีวิตของผู้สูงวัยอย่างครอบคลุมและยั่งยืน
ความคิดเห็นของ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง
ตลาดผู้สูงอายุในฮ่องกงกำลังมีบทบาทสำคัญในฐานะแรงผลักดันทางเศรษฐกิจแห่งยุคสมัยใหม่ โดยสร้างความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อผลิตภัณฑ์และบริการเฉพาะทางที่สอดคล้องกับความหลากหลายของกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อในระดับสูง ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการไทยจึงควรนำเสนอการพัฒนาสินค้าและบริการผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้สูงวัย ทั้งนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสขยายตลาดและส่งเสริมศักยภาพทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
แหล่งข้อมูล: https://hongkongbusiness.hk/retail/exclusive/ignoring-seniors-could-cost-retailers-big