ตามรายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) อุตสาหกรรมค้าปลีกอาหารของฟิลิปปินส์ (Philippine food retailing industry) คาดว่าจะเติบโตขึ้นร้อยละ 7 ในปีนี้ เนื่องจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ทั้งในเขตเมืองและชนบท สำนักงานบริการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงมะนิลา (USDA Foreign Agriculture Service in Manila) ระบุในบันทึกถึงผู้ส่งออกสหรัฐอเมริกาว่า ผู้ค้าปลีกกำลังขยายกิจการไปยังพื้นที่ชนบท พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มใหม่ๆ ผู้ค้าปลีกบางรายส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์นำเข้าเพื่อดึงดูดผู้บริโภค ขณะที่บางรายนำเสนอผลิตภัณฑ์ตราสินค้าของบริษัท เพื่อมอบความคุ้มค่าให้แก่ผู้บริโภคที่คำนึงถึงราคา
ห่วงโซ่ร้านค้าปลีกของซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และคลังสินค้าแบบสมาชิกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในเมืองหลักและพื้นที่ชนบท ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของยอดขายค้าปลีกอาหารให้เพิ่มมากขึ้น ภาคธุรกิจค้าปลีกอาหารยังเปิดโอกาสให้มีการส่งออกสินค้า เช่น น้ำผลไม้และน้ำผัก ถั่วเปลือกแข็ง เนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อไก่บางส่วน นม เนย เชดดาร์ มอซซาเรลลา ครีมชีส ไอศกรีม และน้ำนมถั่วเหลือง รวมถึงหมากฝรั่ง ลูกอม ช็อกโกแลต ซอสมะเขือเทศ ไส้กรอก ฮอตด็อก เนื้อสัตว์แปรรูปบรรจุกระป๋อง เนื้อสัตว์บด พาสต้า ซอสปรุงรส เครื่องปรุงรส ซอสมะเขือเทศ ลูกเกด ถั่วลันเตา ถั่วแดงเมล็ดใหญ่ กระเทียม หอมใหญ่ มันฝรั่ง เห็ด ธัญพืช ขนมปังและเบเกอรี่ ผลไม้แช่แข็ง ผักแช่แข็ง เครื่องดื่ม และอาหารสัตว์เลี้ยง
ร้านค้าปลีกยังจำหน่ายวัตถุดิบในปริมาณมากสำหรับภาคธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และผู้ให้บริการจัดเลี้ยง ซึ่งรวมถึง ผลิตภัณฑ์จากนม ซอสปรุงรส เครื่องปรุงรส และน้ำผลไม้ ตราสินค้าของสหรัฐอเมริกาที่วางจำหน่ายในคลังสินค้าแบบสมาชิก และซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นตราสินค้าที่ผู้บริโภครู้จักอย่างกว้างขวาง และมียอดจำหน่ายมากกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งทางการตลาดโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ห้างค้าปลีกรายใหญ่ยังคงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราสูง สำหรับการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ในกิจกรรมส่งเสริมการขาย ขณะที่สินค้าบางประเภทของสหรัฐอเมริกาและตราสินค้าที่ไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งจำหน่ายในพื้นที่ชนบทอาจประสบปัญหาในการจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีก
ขณะเดียวกัน USDA คาดว่า ยอดขายในภาคบริการอาหารจะเติบโตขึ้นร้อยละ 12 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการรับประทานของผู้บริโภค การจองสถานที่จัดกิจกรรม และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวที่เข้าพักในโรงแรม โดยอ้างอิงข้อมูลจากรัฐบาล พบว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคในร้านอาหารและโรงแรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ระหว่างปี 2566 ถึง 2567 เนื่องจากการท่องเที่ยวเฟื่องฟู ธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารและร้านคีออส (Kiosk) ยังคงขยายสาขาเพิ่มขึ้นในเมืองสำคัญและพื้นที่ชนบท เพื่อให้มียอดขายสูงกว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่โรงแรมและร้านอาหารหลายแห่งเน้นการใช้วัตถุดิบนำเข้าระดับพรีเมี่ยมในการจัดเตรียมอาหาร เครือร้านอาหารรวมถึงร้านอาหารบริการด่วน พิจารณาการนำเข้าวัตถุดิบโดยตรงเพื่อให้เกิดความมั่นคงในการจัดหาวัตถุดิบ เครือร้านอาหารในฟิลิปปินส์สั่งซื้อวัตถุดิบจำนวนมาก เช่น เนื้อน่องไก่ มอซซาเรลลา และส่วนผสมอื่นๆ ที่ใช้ในการประกอบอาหารทอด พิซซ่า และเบอร์เกอร์
ขณะเดียวกัน ร้านกาแฟและร้านค้าริมทางเป็นช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ มันฝรั่งทอด เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำผลไม้ และกาแฟคั่ว หรือสารสกัดกาแฟ โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมดื่มสุราและไวน์ในบาร์และร้านอาหารชั้นดี ขณะที่ผู้บริโภคอีกส่วนหนึ่งเลือกใช้บริการจัดส่งผ่านระบบออนไลน์เพื่อจัดกิจกรรมสังสรรค์ภายในที่พักอาศัย แอปพลิเคชันจัดส่งอาหารผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น Grab และ Food Panda ยังคงมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค และส่งเสริมยอดจำหน่ายสินค้าอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มธุรกิจร้านอาหารที่มีสาขากว่า 200 แห่งทั่วประเทศ เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการสั่งซื้อสินค้าในปริมาณมาก เช่น The Bistro Group, Moment Group of Restaurants, Jollibee Foods Corp., Max’s Group, Inc., Shakey’s International, Inc. และ Yum! Brands, Inc. ทั้งนี้ การเปิดดำเนินการของโรงแรมแห่งใหม่ อัตราการเข้าพักในห้องพักโรงแรมที่เพิ่มขึ้น และการจองสถานที่จัดกิจกรรมที่มีจำนวนมากขึ้น เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเพิ่มคำสั่งซื้อสินค้าเพื่อการส่งออกในปริมาณมาก สำหรับใช้ในธุรกิจบริการด้านอาหารและการจัดเลี้ยง ร้านอาหารและโรงแรมระดับพรีเมียมจะเน้นการใช้วัตถุดิบนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาในรายการอาหารของตน เช่น เนื้อริบอาย พอร์เตอร์เฮาส์ เทนเดอร์ลอยน์ เนื้อหมูคุโรบูตะ เป็ด ชีส และไวน์
ที่มา: หนังสือพิมพ์ Business World
บทวิเคราะห์/ ข้อคิดเห็น
• USDA คาดว่า อุตสาหกรรมค้าปลีกสินค้าอาหารของฟิลิปปินส์มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเติบโตในอัตราร้อยละ 7 ในปี 2568 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโต ได้แก่ การขยายตัวของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในทั้งเขตเมืองและชนบท การส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์นำเข้าโดยผู้ค้าปลีกรายใหญ่ และการปรับกลยุทธ์เพื่อนำเสนอสินค้าตราสินค้าของตนเองเพื่อรองรับผู้บริโภคที่คำนึงถึงความคุ้มค่า ตลอดจนการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคผ่านร้านค้ารูปแบบต่างๆ ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ คลังสินค้าแบบสมาชิก รวมถึงช่องทางออนไลน์ เช่น Grab และ Food Panda ซึ่งมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการอำนวยความสะดวกและกระตุ้นยอดจำหน่ายสินค้าอย่างต่อเนื่อง
• ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจากสหรัฐอเมริกามีศักยภาพในการขยายตลาดในฟิลิปปินส์ ทั้งในรูปแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคทั่วไป และในลักษณะสั่งซื้อปริมาณมากสำหรับภาคธุรกิจบริการอาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กลุ่มนมและชีส ไอศกรีม เครื่องปรุงรส เนื้อสัตว์แปรรูป ซอส พาสต้า ขนมขบเคี้ยว ผักและผลไม้แช่แข็ง รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยง ความต้องการในกลุ่มสินค้าดังกล่าวเป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคบริการอาหาร ซึ่งคาดว่าจะเติบโตถึงร้อยละ 12 อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน การจองสถานที่จัดกิจกรรม และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในโรงแรมและร้านอาหารระดับพรีเมียมที่มุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบนำเข้า เช่น เนื้อริบอาย พอร์เตอร์เฮาส์ เทนเดอร์ลอยน์ เนื้อหมูคุโรบูตะ เป็ด ชีส และไวน์ ทั้งนี้ ร้านอาหารประเภทแฟรนไชส์ที่มีสาขามากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ เช่น The Bistro Group, Moment Group, Jollibee Foods Corp., Max’s Group, Inc., Shakey’s International, Inc. และ Yum! Brands, Inc. ถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงในการสั่งซื้อสินค้าในลักษณะปริมาณมาก ขณะที่โรงแรมและร้านอาหารบางแห่งเริ่มพิจารณาการนำเข้าวัตถุดิบโดยตรง เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการจัดหา นอกจากนี้ ร้านกาแฟและร้านค้าริมทางยังเป็นช่องทางสำคัญสำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทเบเกอรี่ มันฝรั่งทอด เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำผลไม้ และกาแฟคั่วหรือสารสกัดกาแฟ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดในด้านค่าธรรมเนียมที่ผู้ค้าปลีกรายใหญ่เรียกเก็บสำหรับการนำสินค้าใหม่เข้าจำหน่าย หรือการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขาย รวมถึงความยากลำบากในการเจาะตลาดชนบทสำหรับผลิตภัณฑ์สหรัฐอเมริกาที่ไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อผู้ส่งออก ดังนั้น การกำหนดกลยุทธ์เชิงรุก การทำตลาดในระดับท้องถิ่น และการสร้างความรับรู้ในตราสินค้าจึงเป็นแนวทางที่จำเป็น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากสหรัฐอเมริกาในตลาดฟิลิปปินส์อย่างยั่งยืน
• จากแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกอาหารและภาคบริการอาหารในฟิลิปปินส์ เนื่องจากการขยายตัวของร้านค้าปลีกสมัยใหม่และการบริโภคในโรงแรม ร้านอาหาร และร้านแฟรนไชส์ที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางการตลาดที่สำคัญสำหรับผู้นำเข้าและผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารพร้อมรับประทาน ผลิตภัณฑ์แปรรูป ผลิตภัณฑ์แช่แข็ง ขนมขบเคี้ยว เครื่องปรุงรส วัตถุดิบสำหรับร้านอาหาร และเครื่องดื่มที่มีมูลค่าเพิ่ม การส่งออกสินค้าดังกล่าวควรมุ่งเน้นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การสร้างความแตกต่างด้านรสชาติ คุณภาพ และการรับรองมาตรฐานสากล รวมถึงการร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายในท้องถิ่นเพื่อเข้าถึงเครือข่ายร้านค้าปลีกและช่องทางจัดเลี้ยงในกลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการควรพิจารณาระบบการตั้งราคาให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภคทั้งระดับพรีเมียม และกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า คำนึงถึงราคา ตลอดจนใช้กลยุทธ์การสื่อสารตราสินค้าและการตลาดออนไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้และเจาะตลาดชนบทที่กำลังเติบโต ทั้งนี้ การติดตามนโยบายภาษีนำเข้า มาตรการกีดกันทางเทคนิค และข้อกำหนดด้านสุขอนามัยของฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิดจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายตลาดสินค้าอาหารไทยในภูมิภาคนี้อย่างยั่งยืน
---------------------------------------
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
กรกฎาคม 2568