fb
แคนาดาเตรียมยกเลิกนโยบายการค้าข้ามจังหวัด (Interprovincial trade)
โดย
petrad@ditp.go.th
ลงเมื่อ 22 กรกฎาคม 2568 14:00
16

แม้แคนาดาจะตั้งเป็นประเทศเดียวกัน แต่มีรูปแบบการปกครองที่ประกอบไปด้วย 10 รัฐ (Provinces) และ 3 ดินแดน (Territories) ซึ่งมีรัฐบาลเป็นของตนเองและมีอำนาจในการปกครองและบริหารแตกต่างกันไป รวมไปถึงนโยบายทางการค้า แม้ตามหลักรัฐธรรมนูญแคนาดาจะให้หลักประกันการค้าและการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการระหว่างรัฐได้อย่างเสรี (Interprovincial trade) แต่ก็ยังอาจมีอุปสรรคบางประการ เช่น  ข้อกำหนดทางเทคนิคหรือข้อจำกัดด้านกฎระเบียบที่แตกต่างกันในแต่ละรัฐ ทำให้การค้าภายในประเทศไม่เป็นเอกภาพอย่างแท้จริง ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลกลางแคนาดามีความพยายามที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้าระหว่างรัฐ (Interprovincial Trade Barriers) โดยเน้นที่ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละรัฐ ซึ่งตั้งแต่ปีค.ศ. 2017 รัฐบาลกลางได้ออกนโยบาย Canadian Free Trade Agreement (CFTA) เพื่อเป็นแนวทางสร้างระบบการค้าเสรีภายในประเทศ และดำเนินงานเรื่อยมาจนถึงเมื่อ 30 มิถุนายน 2568 จนมีการยกเลิกข้อยกเว้นทั้งหมด 53 รายการออกจาก CFTA โดยไม่มีข้อยกเว้นจากรัฐบาลกลางใดๆ เหลืออยู่ 

เท่าที่ผ่านมา ข้อจำกัดทางการค้าระหว่างรัฐภายในแคนาดาจะอยู่ในเชิงบริบทอุปสรรคที่ไม่ใช่ด้านภาษี (non‑tariff barriers) ซึ่งประกอบอยู่ในลักษณะของกฎหมาย มาตรฐานสินค้า ใบอนุญาต ระเบียบด้านแรงงาน เป็นต้น โดยตัวอย่าง non‑tariff barriers ที่พบได้และส่งผลกระทบต่อการค้าอย่างชัดเจน ได้แก่ นโยบายจัดซื้อภาครัฐ (Procurement) ที่รัฐบาลท้องถิ่นมักเลือกใช้โดยผู้ประกอบการในรัฐตนก่อน  ทำให้บริษัทต่างรัฐเข้าแข่งขันยาก รวมไปถึงระบบควบคุมโควต้าและการตลาดภายใน ส่งผลให้พืชผลข้ามรัฐถูกจำกัดและมีต้นทุนสูงขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีกรณีโครงสร้างภาษีท้องถิ่น เช่น GST,PST, HST ต่างไปตามรัฐ ทำให้บริษัทต้องปรับระบบบัญชีและการตั้งราคาตามรัฐต่างๆ รวมไปถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์และการติดฉลากที่แตกต่าง มีกฎเฉพาะของแต่ละรัฐ ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับบรรจุภัณฑ์เฉพาะรัฐ เป็นต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นโดยเกินความจำเป็น ฯลฯ

เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการค้าเสรีในแคนาดา รัฐบาลกลางแคนาดาได้มีการอนุมัติพระราชบัญญัติ “One Canadian Economy Act” หรือพระราชบัญญัติเศรษฐกิจแคนาดาเดียวเพิ่มเติมไปเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2568 โดยพ.ร.บ.นี้ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ 1) พระราชบัญญัติการค้าเสรีและการเคลื่อนย้ายแรงงานในแคนาดา และ 2) พระราชบัญญัติก่อสร้างแคนาดา (Building Canada Act)  ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการลดอุปสรรคการค้าภายในประเทศ และเร่งกระบวนการโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติ 

ขณะเดียวกัน ในส่วนระดับรัฐบาลท้องถิ่น จะเห็นได้ว่า รัฐต่างๆ เริ่มส่งเสริมมาตรการภายในรัฐเพื่อสนับสนุนนโยบายการค้าเสรีนี้เช่นกัน อาทิ การผ่านกฎหมาย mutual recognition ของสินค้า/บริการ/แรงงานจากรัฐโนวาสโกเชีย, รัฐมานิโทบา, รัฐออนทาริโอ, รัฐปริ้นเอ็ดเวิดไอส์แลนด์ รวมไปถึงการลงนาม MOU ระหว่างรัฐเพื่อยืนยันมาตรฐานร่วม เป็นต้น

ด้านนายมาร์ค คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีแคนาดา กล่าวเน้นชัดว่า การค้าภายในประเทศที่เป็นเสรีและไร้อุปสรรคระหว่างรัฐ ถือเป็นแนวทางเชิงรุกในการเสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจประเทศ และสามารถลดผลกระทบจากภัยคุกคามภายนอกอย่างภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจในแคนาดา ยังประเมินว่า การลดหรือยกเลิกอุปสรรคการค้าระหว่างรัฐ จะสามารถเพิ่ม GDP ได้ถึงร้อยละ 4-8  ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์ราว 2 แสนล้านดอลลาร์แคนาดาต่อปี และยังลดต้นทุนทางธุรกิจและผู้บริโภคภายในประเทศได้อีกทางหนึ่ง

วามเห็นสคต. จากเหตุสงครามการค้าระหว่างแคนาดากับสหรัฐฯ ส่งผลให้ธุรกิจและรัฐบาลแคนาดาหันมาให้ความสำคัญกับการค้าตลาดภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งการเปิดเสรีการค้าตามพ.ร.บ. One Canadian Economy Act นี้ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการสินค้า/บริการในประเทศและต่างชาติ สามารถเข้าถึงตลาดกำลังซื้อทั้งประเทศได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และสร้างโอกาสการค้าการลงทุน เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติในโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และบริการมากขึ้นตามกันไป


Share :
Instagram