1. ภาพรวมเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจฮ่องกงเติบโตอย่างแข็งแกร่งในไตรมาสแรกของปี 2568 ในอัตราร้อยละ 2.5 มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคการส่งออกสินค้า-บริการ และการลงทุน ในขณะที่อัตราการบริโภคภายในหดตัวเล็กน้อย โดยคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีในช่วงร้อยละ 2 – 3 และคาดว่าจะเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ในระหว่างปี 2569 – 2572
ตลาดแรงงานในฮ่องกงคงตัวโดยมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 และค่าจ้างมีแนวโน้วเติบโต ดัชนีราคาผู้บริโภคสำหรับเดือนพฤษภาคม 2568 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 (YoY) เป็นผลมาจากค่าเดินทาง (Inbound & Outbound) ที่เพิ่มขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวใน 5 เดือนแรกของปี 2568 จำนวน 20.15 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 12 โดยเป็นนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ร้อยละ 75
ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงขยายตัวสนับสนุนโดยการพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของบริษัทจีนที่จดทะเบียนในฮ่องกง (Deep Seek) รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของการระดมทุน IPO ที่เพิ่มจำนวนและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยใน 6 เดือนแรกของปี 2568 มีบริษัทระดมทุนผ่าน IPO ในฮ่องกงจำนวน 42 บริษัท มูลค่ารวม 1.35 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสูงที่สุดในโลก
ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปฮ่องกงมากที่สุดเป็นลำดับที่ 9 มูลค่า 12,964 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปี 2566 สินค้าส่งออกสำคัญที่ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่า 2,848 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 2.01) แผงวงจรไฟฟ้า 2,127.82 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.27) เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ 1,446 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 16.40) ข้าว (151.93 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.93)
2. ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจ
2.1 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP)
เศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาสแรกของปี 2568 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ขยายตัวร้อยละ 3.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.5 ในไตรมาสที่ผ่านมา ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญได้แก่ การเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าและบริการ การลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามอัตราการบริโภคภายในที่หดตัวและความไม่แน่นอนของการค้าระหว่างประเทศเป็นแรงกดดันเศรษฐกิจของฮ่องกง รัฐบาลฮ่องกงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในปี 2568 ในอัตราร้อยละ 2 – 3 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (GDP Per Capita) ของฮ่องกงในปี 2567 อยู่ที่ 54,080 ดอลล่าร์สหรัฐ
แหล่งข้อมูล: https://www.hkeconomy.gov.hk/en/situation/development/index.htm
2.2 อัตราเงินเฟ้อของราคาผู้บริโภค (CPI: Consumer Price Indices)
หน่วยงาน Census and Statistics Department เปิดเผยข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของราคาผู้บริโภค สำหรับเดือนพฤษภาคม 2568 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 (YoY) ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2 (YoY) ในเดือนที่ผ่านมา โดยเป็นผลมาจากค่าเดินทาง (Inbound & Outbound) ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลฮ่องกงคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของราคาผู้บริโภคในช่วงที่เหลือของปีจะไม่เปลี่ยนแปลงมาก สินค้าที่มีการปรับราคาขึ้นในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๘ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ได้แก่ ไฟฟ้าแก็สและน้ำประปา (ร้อยละ ๑๙.๗) ค่าเช่าบ้าน (ร้อยละ ๒.๙) ค่าเดินทาง (ร้อยละ ๒.๒) ในขณะที่สินค้าที่มีการปรับราคาลดลง ได้แก่ เสื้อผ้าและรองเท้า (ร้อยละ ๕.๓) อาหารทั่วไป (ร้อยละ ๑.๔)
2.3 ตลาดแรงงานภายในฮ่องกง (Labour Market)
อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ๒๕๖๘ อยู่ที่ร้อยละ ๑.๔ ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ๒๕๖๘ เป็นการเพิ่มขึ้นในภาคก่อสร้าง ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ จำนวนแรงงาน (Labor Force) อยู่ที่ ๓,๘๐๐,๕๐๐ ราย และอัตราค่าจ้างเฉลี่ย (Average Wate Rate) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓.๕ ในเดือนมีนาคม ๒๕๖๘
2.4 การค้ากับต่างประเทศ (External Sector)
อัตราการส่งออกและนำเข้าของฮ่องกงในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ในอัตราร้อยละ 12.6 และร้อยละ 12.9 ตามลำดับ ขาดดุลการค้า 124.7 พันล้านดอลล่าร์ฮ่องกง คิดเป็นร้อยละ 5.8 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด
ในปี 2567 ฮ่องกงนำเข้าสินค้าจากไทยมากที่สุดเป็นลำดับที่ 9 มูลค่า 12,964 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปี 2566 และคิดเป็นร้อยละ 2 จากมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด
สถิติการนำเข้าของฮ่องกงจากต่างประเทศของฮ่องกง
หน่วย: ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
สินค้าหลักที่ฮ่องกงนำเข้ามากที่สุดได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 44.7) อุปกรณ์และเครื่องมือสื่อสาร (ร้อยละ 11.2) อุปกรณ์สำนักงาน (ร้อยละ 9.1) เป็นต้น
สินค้าส่งออกสำคัญที่ไทยส่งออกไปฮ่องกงในปี 2567 ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่า 2,848 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 2.01) แผงวงจรไฟฟ้า 2,127.82 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.27) เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ 1,446 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 16.40) ข้าว (151.93 ล้านดอลล่าร์ สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.93) เป็นต้น
2.5 จำนวนประชากรในฮ่องกง (Population)
ฮ่องกงมีประชากร ณ สิ้นปี 2567 จำนวน 7,534,200 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จากปีก่อนหน้า ปัจจุบันฮ่องกงเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยร้อยละ 22 ของประชากร (ประมาณ 1.64 ล้านราย) มีอายุมากกว่า 65 ปี และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็นหนึ่งในสามหรือประมาณ 2.75 ล้านราย ภายในปี 2589
2.6 จำนวนนักท่องเที่ยว (Visitor Arrivals)
หน่วยงาน Hong Kong Tourism Board (HKTB) รายงานจำนวนนักท่องเที่ยวใน 5 เดือนแรกของปี 2568 จำนวน 20.15 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 12 โดยเป็นนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ร้อยละ 75 ในขณะที่ประเทศที่เดินทางไปฮ่องกงเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าร้อยละ 25 ได้แก่ ออสเตรเลีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากไทยมีประมาณ 250,000 ราย ลดลงร้อยละ 2.2
2.7 การลงทุนในฮ่องกงและต่างประเทศ (Investment Flow : Inward & Outward FDI)
1) การลงทุนในฮ่องกง (Inward FDI) ฮ่องกงมีสถานะเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุน มีกฎหมายกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุนและจัดตั้งธุรกิจ ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจจากประเทศจีน (ร้อยละ 31.1) และ British Virgin Islands (ร้อยละ 30.5) ในขณะที่ธุรกิจที่ต่างชาติลงทุนในฮ่องกงมากที่สุดได้แก่ ธุรกิจนำเข้าส่งออก (ร้อยละ 46.2) ธุรกิจผลิต (ร้อยละ 30.8) ธุรกิจการเงินการธนาคาร (ร้อยละ 18.8) ธุรกิจบริการมืออาชีพ เช่น กฎหมายและการศึกษา (ร้อยละ 10.0)
ตามรายงานของที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ฮ่องกงรับการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติมากที่สุดเป็นลำดับที่ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์
2) การลงทุนในต่างประเทศ (Outward FDI)
จากข้อมูลล่าสุดที่รัฐบาลฮ่องกงเปิดเผย (ณ สิ้นปี 2566) ฮ่องกงมีการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศจำนวน 15,920 ล้านดอลล่าร์ฮ่องกง โดยเป็นการลงทุนที่ประเทศจีน (ร้อยละ 50) British Virgin Islands (ร้อยละ 29) และประเทศไทย (ร้อยละ 0.6)
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยว่านักธุรกิจฮ่องกงลงทุนโดยตรง (FDI) ในประเทศไทยในปี 2567 คิดเป็นร้อยละ 9 มากที่สุดเป็นลำดับ 3 รองจากสิงคโปร์ และญี่ปุ่น
3. นโยบายภาครัฐที่สำคัญ
ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง (Chief Executive John Lee) ให้ข้อมูลนโยบายสำคัญฮ่องกง 7 ด้าน ได้แก่
1) นโยบายหนึ่งประเทศสองระบบ “One Country, Two Systems”
ส่งเสริมด้านความมั่นคง ระบบกฎหมาย (Rule of Law) การบูรณาการนโยบายภาครัฐของฮ่องกงและจีน
ส่งเสริมความเห็นหนึ่งเดียวกันและความรักชาติผ่านภาษา วัฒนธรรม และการศึกษาแก่เยาวชน
การพัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกัน อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
จัดทำกลไกคุ้มครองข้อมูลส่วนตัว (Personal Data Privacy Ordinance)
2) การส่งเสริมสถานะศูนย์กลางการเงิน การขนส่งทางทะเล และการค้าระหว่างประเทศ
การพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงให้เป็นแหล่งระดมทุนนานาชาติ (IPO & Green Finance)
การเป็นศูนย์การค้าเงินหยวนที่ใหญ่ที่สุดนอกจีน (Offshore RMB)
การพัฒนาระบบบริหารจัดการท่าเรืออัจฉริยะ การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ข้อตกลงการค้าร่วมกับจีน (CEPA) จะช่วยส่งเสริมการประตูการค้าเข้า-ออกประเทศจีน การยกระดับความร่วมมือการค้ากับประเทศในโครงการ Belt & Road Initiative
3) ยกระดับการวิจัยและพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของตลาด
การให้ทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาในรูปแบบ (Matching Grant Scheme) ดึงดูดธุรกิจ Start-Up ผ่านโครงการหลากหลายของ Cyberport และ HK Science park
การสนับสนุนธุรกิจสมัยใหม่ เช่น พลังงานแห่งอนาคต ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีการแพทย์ เทคโนโลยีการเงิน เศรษฐกิจดิจิทัล และ Cross-border ecommerce
4) การดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพจากต่างประเทศ
โครงการ Top Talent Pass Scheme ดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้ทำงานในฮ่องกง
ส่งเสริมระบบการศึกษาที่หลากหลายที่สามารถตอบสนองต่อความรู้และทักษะทั้งในรูปแบบสายสามัญและอาชีวะ โดยเน้นพัฒนาองค์ความรู้ STEAM (Science, Technology, Engineering, Arts, Mathematics)
5) การส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลายผ่านวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว
การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนระหว่างวัฒนธรรมตะวันออก-ตะวันตก ผ่านโครงการหลากหลายเช่น พื้นที่ West Kowloon Cultural District งาน HK Fashion Design Weeks
การพัฒนาพื้นที่ Kai Tak เพื่อจัดการแข่งขันกีฬาและความบันเทิงระดับนานาชาติ
การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ครอบคลุมและสามารถกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงในฮ่องกง
6) การพัฒนาเมืองใหม่และเชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ GBA
การพัฒนาพื้นที่ Northern Metropolis ทางตอนเหนือของฮ่องกงเพื่อเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดึงดูดการลงทุนที่มีมูลค่าสูง นวัตกรรม เพื่อสร้างพลวัตทางเศรษฐกิจและเชื่อมต่อกับเซิ่นเจิ้น
การยกระดับความร่วมมือและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับจีนผ่านโครงการ Greater Bay Area ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 14 ครอบคลุมด้านการค้า การลงทุน วิจัยและพัฒนา การแลกเปลี่ยนบุคลากรที่มีศักยภาพ บริการด้านการแพทย์
7) การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวฮ่องกง
การเพิ่มปริมาณบ้านรัฐบาลเพื่อลดปัญหาด้านที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะ Subdivided units
พัฒนามาตรฐานความปลอดภัยทั้งด้านอาคาร การเจรจากร การบังคับใช้กฎหาย
การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมและตอบสนองความต้องการของประชาชน
5. การเคลื่อนไหวของภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญในฮ่องกงในไตรมาสที่ 1 ปี 2568
5.1 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Property)
ตลาดอสังหาริมทรัพย์สำหรับอยู่อาศัยในฮ่องกงชะลอตัวเป็นผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น นโยบายการค้าของสหรัฐ และความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย โดยปริมาณการซื้อขายทั้งในตลาดแรก (Primary Market) และตลาดมือสอง (Secondary Market) ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า
ราคาห้องชุดโดยเฉลี่ยทั้งห้องขนาดเล็ก-กลางลดลงร้อยละ 2 โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 ในขณะที่อัตราค่าเช่าห้องขนาดเล็ก-กลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 และ 0.4 ตามลำดับ โดยมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 แสดงให้เห็นว่าความสามารถในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวฮ่องกงลดลง ทำให้มีความต้องการเช่ามากขึ้นเป็นแรงกดดันให้อัตราค่าเช่าปรับตัวสูงขึ้น
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่สำหรับอยู่อาศัย (Non-residential) มีทิศทางชะลอตัวเช่นกัน โดยราคาขายและค่าเช่าสำหรับพื้นที่สำนักงาน (Office Space) ลดลงร้อยละ 4 และร้อยละ 1 ตามลำดับ ในขณะที่ราคาขายและค่าเช่าสำหรับพื้นที่ค้าปลีก (Retail Space) ลดลงร้อยละ 1 และร้อยละ 2 ตามลำดับ
5.2 ธุรกิจการท่องเที่ยว (Tourism)
จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่ยังคงต่ำกว่าก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562
โรงแรมในฮ่องกงมีอัตราการเข้าพักร้อยละ 88 ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ร้อยละ 85 โดยค่าเฉลี่ยค่าที่พักต่อคืนอยู่ที่ 1,265 ดอลล่าร์ฮ่องกง ลดลงร้อยละ 11.6
รัฐบาลฮ่องกงดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด “Tourism is everywhere” และ “Asia’s World City” สนับสนุนเงินงบประมาณในการจัดกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวที่หลากหลายกว่า 240 Mega events ในปี 2567 เช่น การเชิญวงดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับโลก ธุรกิจ MICE ใช้จุดขายในฮ่องกงเพื่อดึงดูดเช่น ลูกหมีแพนด้า การแข่งขันม้า และการท่องเที่ยวเชิญอนุรักษ์ เรือสำราญ
5.3 ธุรกิจโลจิสติกส์
1) การขนส่งทางเรือขยายตัวเล็กน้อย โดยมีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เป็น 3.4 ล้าน TEUs แต่ด้านมูลค่าลดลงร้อยละ 3.9
2) การขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 3.2 มีจำนวน 1.2 ล้านตัน ในขณะที่มูลค่าการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2
5.4 ธุรกิจการเงิน (Fintech)
รายงาน The Hong Kong Fintech Ecosystem Report ล่าสุด เปิดเผยว่าฮ่องกงมีระบบสนับสนุนธุรกิจภาคการเงินที่ครบวงจร ทั้งด้านบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ นโยบายส่งเสริมของภาครัฐ โครงการบ่มเพาะ Incubator & Acceleratorsที่มีประสิทธิภาพ และโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยในเดือนกรกฎาคม 2567 มีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ Fintech ในฮ่องกงประมาณ 1,100 บริษัท โดยมีสถานะเป็นธุรกิจระดับ Unicorns กว่า 10 บริษัท เช่น Airwallex, Hashkey Group, WeLab เป็นต้น ธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม Wealth tech ระบบBlockchain ระบบการชำระเงิน และสินทรัพย์ดิจิทัล
7. ความคิดเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง
7.1 เศรษฐกิจฮ่องกงมีทิศทางฟื้นตัวเป็นลำดับในทุกภาคส่วน แม้ว่ากำลังซื้อภายในอาจจะยังไม่สูงเท่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 แต่นักธุรกิจและนักลงทุนยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจฮ่องกงในอนาคต นอกจากนี้ฮ่องกงยังคงมีบทบาทสำคัญในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษ GBA (Greater Bay Area) รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้โครงการ BRI (Belt and Road Initiative) ซึ่งฮ่องกงมีสถานะเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน เป็นจุดเชื่อมต่อ (Super Connector)
ที่สำคัญ เป็นหนึ่งในประตูเข้า-ออกของเศรษฐกิจจีนในภาพรวม
7.2 ด้วยโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้ออย่างต่อเนื่องของรัฐบาลฮ่องกง รวมทั้งการจัดกิจกรรม มหกรรมกีฬาและสันทนาการต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ทำให้เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยไปยังฮ่องกงโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ร้านอาหาร รวมทั้งบริการนวดและสปาไทย โดยในปีนี้สำนักงานฯ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทย (Instore Promotion) อย่างต่อเนื่องร่วมกับผู้นำเข้าและห้างสรรพสินค้าชั้นนำในฮ่องกง ซึ่งมีสาขากระจายครอบคลุมทุกพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย อาทิ AEON (12 สาขา) Big C (15 สาขา) City Super (6 สาขา) CITISTORE (2 สาขา) UNY (3 สาขา) APITA (1 สาขา) เป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ในการนำเสนอสินค้ากับผู้นำเข้าและห้างฯ เพื่อเปิดตลาดในฮ่องกง
7.3 สำนักงานฯ ยังเล็งเห็นโอกาสทางการค้าเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจไทยกลุ่มแฟชั่นและเครื่องประดับ โดยได้เข้าร่วมงาน CENTRESTAGE และจัด Thailand Fashion ต่อเนื่องทุกปี ได้รับความสนใจจากผู้นำเข้า นักธุรกิจ
นักออกแบบเสื้อผ้า รวมทั้งสื่อมวลชนเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ เช่น ภาพยนตร์ ซีรี่ย์ บริการตัดต่อ และคอนเทนต์สมัยใหม่ของไทยที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในงาน Hong Kong Filmart เป็นช่องทางสร้างการรับรู้ในวงกว้างต่อสินค้าและบริการของไทย สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8. แหล่งข้อมูลอ้างอิง
8.1 หน่วยงาน Hong Kong Tourism Board (HKTB)
(partnernet.hktb.com/en/research_statistics/latest_statistics/index.html)
8.2 รายงานเศรษฐกิจฮ่องกง Hong Kong First Quarter Economic Report 2025 (May 2025)
8.3 รายงาน The Hong Kong Fintech Ecosystem Report (March 2025)
8.4 หน่วยงาน Census and Statistics Department
(www.censtatd.gov.hk/en/press_release_detail.html?id=5598)
8.5 หน่วยงานเศรษฐกิจฮ่องกง
(www.hkeconomy.gov.hk/en/situation/development/index.htm)
8.6 รายงานนโยบายรัฐบาลปี 2567 (www.policyaddress.gov.hk/2024/en/index.html)
8.7 หน่วยงาน Trade and Industry Department
(www.tid.gov.hk/en/our_work/statistics/tradestat/imcom.html)
8.8 สำนักข่าว Hong Kong Business
(https://hongkongbusiness.hk/economy/news/economy-31-in-q1-2025)