ตั้งแต่เดือนมิถุนายนของปี 2568 เป็นต้นมา ปริมาณผลไม้นำเข้าจากประเทศกลุ่มอาเซียนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทุเรียนจากไทยและเวียดนาม ทำให้ราคาจำหน่ายทุเรียนในตลาดจีนมีการลดลงอย่างเห็นได้ชัด หัวข้อเกี่ยวกับ "ราคาทุเรียนลดลง" ได้กลายเป็นประเด็นยอดนิยมทางอินเตอร์เน็ต
เมื่อเทียบกับราคาทุเรียนไทยในช่วงเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเมื่อเดือนเมษายนอยู่ที่ราคากิโลกรัมละประมาณ 120 หยวน ปัจจุบันสามารถซื้อได้ในราคาประมาณ 38 หยวนต่อกิโลกรัม ลดลงร้อยละ 70 ผู้ชื่นชอบทุเรียนในจีนจำนวนมากต่างพากันยินดีกับราคาที่จับต้องได้ง่าย
วันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ราคาจำหน่ายทุเรียนไทยบนแพลตฟอร์มขายสินค้าเกษตร (ผลไม้สด) ของจีน เช่น Dingdong Maicai JD และ Hema อยู่ที่ประมาณ 58 - 60 หยวนต่อกิโลกรัม
วันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ราคาทุเรียนเวียดนามสายพันธุ์ก้านยาว อยู่ที่ 40 - 50 หยวนต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุเรียนทุกชนิดจำหน่ายในราคานี้ ซึ่งราคาจำหน่ายทางตลาดแตกต่างกันตามแหล่งต้นกำเนิดการเพาะปลูก คุณภาพและเปอร์เซ็นต์เนื้อทุเรียน
ในตลาดจีนได้วิเคราะห์สาเหตุหลักที่ราคาทุเรียนลดลงในปีนี้ ได้แก่
ปริมาณการนำเข้าทุเรียนที่เพิ่มขึ้นในตลาดจีน
ประสิทธิภาพการขนส่งที่ดีขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการลดลง
นอกจากนี้ ผู้นำเข้าทุเรียนระบุว่าด้วยปริมาณผลผลิตล้นตลาดร่วมกับปริมาณทุเรียนเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ส่งให้ราคาทุเรียนปีนี้ลดลงในรอบหลายปี ราคานำเข้าทุเรียนเกรด A และ B ราคาลดลงกว่า 25 หยวนต่อกิโลกรัมเป็นครั้งแรก
ข้อมูลจากสำนักงานรถไฟแห่งชาติจีนระบุว่าหลังจากทุเรียนไทยออกสู่ตลาด การขนส่งผ่านทางรถไฟจีน-ลาวไปยังคุนหมิงได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2568 ปริมาณการขนส่งผลไม้เมืองร้อนสะสมอยู่ที่ 113,000 ตัน ในจำนวนนี้เป็นผลไม้ไทย 106,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งผลไม้ไทยที่ขนส่งส่วนใหญ่เป็นทุเรียน
นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ผลไม้ไทยที่นำเข้าสู่ตลาดจีนโดยผ่านด่าน โหย่วอี้กวน เขตกว่างซีจ้วง ซึ่งเป็นด่านนำเข้าทุเรียนผ่านทางบกที่ใหญ่ที่สุดของจีน ก็มีจำนวนมากกว่า 10,000 ตู้
ราคาขายส่งทุเรียนไทยในตลาดขายส่งสินค้าผลไม้อันดับต้นๆ ของจีน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2568) ดังนี้
ตลาดผลไม้เจียซิง เมืองเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นตลาดขายส่งผลไม้นำเข้าที่ใหญ่ที่สุดของภาคกลางจีน โดยมีทุเรียนเข้าทั้งหมด 144 ตู้ ประกอบด้วยหมอนทองไทย 71 ตู้ คุณภาพระดับ A6 ราคาขายส่งประมาณ 36 - 38 หยวนต่อกิโลกรัม หมอนทองทุเรียนเวียดนาม 61 ตู้ คุณภาพระดับ A6 ราคาขายส่งประมาณ 33 - 35 หยวนต่อกิโลกรัม และก้านยาวเวียดนาม 12 ตู้ คุณภาพระดับ A3 ราคาขายส่งประมาณ 21 - 23 หยวนต่อกิโลกรัม สถานการณ์ตลาดในปัจุบันมีปริมาณสินค้าลดลง จำนวนผู้ซื้อน้อยลง ทุเรียนตู้เก่าค้างสต็อก การขนส่งสินค้าโดยรวมชะลอตัว
ตลาดเจียงหนาน เมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นตลาดขายส่งผลไม้นำเข้าที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ของจีน โดยมีทุเรียนเข้าทั้งหมด 65 ตู้ และสามารถจำหน่ายได้ร้อยละ 90 ภายในวันเดียว ราคาทุเรียนคุณภาพระดับ A และ B มีความเสถียร หากทุเรียนที่สุกเกินจะจำหน่ายในราคาพิเศษ เช่น คุณภาพระดับ A6 อยู่ที่ 25 - 27 หยวนต่อกิโลกรัม สำหรับราคาจำหน่ายทั่วไป ดังนี้
ประเภท | ระดับคุณภาพ | น้ำหนัก | ราคา (หยวน) |
หมอนทองไทย | A คุณภาพทั่วไป | 18 - 19 กก. | 550 - 580 |
A คุณภาพปานกลาง | 18 - 19 กก. | 600 - 620 | |
A คุณภาพสูง | 18 - 19 กก. | 650 - 660 | |
A คุณภาพพรีเมียม | 18.5 - 19.5 กก. | 670 - 750 | |
B คุณภาพทั่วไป | 17 - 18 กก. | 470 - 480 | |
B คุณภาพปานกลาง | 17 - 18 กก. | 500 - 510 | |
B คุณภาพสูง | 17 - 18 กก. | 510 - 540 | |
B คุณภาพพรีเมียม | 18 กก. | 540 - 570 | |
หมอนทองเวียดนาม | A | 9 กก. | 280 - 300 |
A | 10 กก. | 320 - 330 | |
A | 18 - 18.5 กก. | 580 - 620 | |
ก้านยาวเวียดนาม | A3 | 9 กก. | 170 - 200 |
ทุเรียนหมอนทองไทยได้รับความนิยมมากในตลาดนี้ โดยเฉพาะเป็นทุเรียนคุณภาพระดับพรีเมียม สำหรับทุเรียนที่คุณภาพทั่วไปมีราคาจำหน่ายโดยแบ่งตามระดับคุณภาพอย่างชัดเจน
ความเห็นของ สคต. ณ เมืองหนานหนิง สคต.ได้ศึกษาข้อมูลทางตลาดและสอบถามข้อมูลจากผู้ประกอบการที่นำเข้าและจำหน่ายทุเรียน พบว่าตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ทุเรียนไทยที่นำเข้าสู่ตลาดจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาจำหน่ายทุเรียนในตลาดจีนมีการปรับราคาลดลง และเมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายน ตลาดมีทุเรียนมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น กับระบบการขนส่งและโลจิสติกส์มีความคล่องตัว ราคาจึงได้ปรับลง ในขณะเดียวกัน ผลไม้จีนจำนวนหลายชนิตก็เริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงทุเรียนเวียดนามก็ได้ทยอยเข้าสู่ตลาดจีนมากขึ้น ทำให้ราคาจำหน่ายทุเรียนปรับลดลงอีก หากเทียบกับตลาดของปีที่แล้ว ราคาทุเรียนไทยมีการปรับลงตามสถานการณ์ตลาด โดยที่ปัจจุบันราคาค่อนข้างคงที่และใกล้เคียงช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความนิยมของตลาดพบว่า ทุเรียนไทยที่มีคุณภาพสูงยังได้รับความนิยมที่ดีและมีราคาจำหน่ายที่คงที่ ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญในด้านคุณภาพและความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของทุเรียนไทย โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตามมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัยอย่างเคร่งครัดในทุกขั้นตอน แหล่งกำเนิดต้องผ่านมาตรฐานการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี โรงงานแปรรูปต้องผ่านมาตรฐานการรับรองคุณภาพการผลิตของผู้ผลิต และต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยไร้สารตกค้าง เพื่อสร้างความมั่นใจและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของทุเรียนไทยให้กับผู้บริโภคจีน โดยเฉพาะในสถานการณ์การแข่งขันของทุเรียนในตลาดจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการเปิดตลาดให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ทุเรียนไทยสามารถแข่งขันและรักษาตลาดได้อย่างยั่งยืน
--------------------------------------------------------------
แหล่งที่มา https://mp.weixin.qq.com/s/1TklhUhbBGbUNjzSr5Jr0Q
https://mp.weixin.qq.com/s/VBfqSmgZs8eS6pwbp7gHBA
https://mp.weixin.qq.com/s/fkbxzBOqlcrFLPwH4srkiA
https://mp.weixin.qq.com/s/G7Gm8VHJVjFyowba-brGyg
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง
วันที่ 9 กรกฎาคม 2568